posttoday

นครสวรรค์เริ่มแล้ว! ตรุษจีน 68 แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ กับขบวนมังกรทอง

22 มกราคม 2568

นครสวรรค์เริ่มแล้ว! ฉลองเทศกาลตรุษจีน 2568 พร้อมสืบสานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพกับขบวนมังกรทองสุดยิ่งใหญ่ตระการตา

การจัดเทศกาลตรุษจีน 2568 ในประเทศไทยถือโอกาสที่ดีในการต่อยอดประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเองถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดงานเทศกาลตรุษจีนที่ใหญ่ที่สุดนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 2568 ถือเป็นปีสำคัญของการเฉลิมฉลองวาระ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ที่มีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นกันมาอย่างยาวนาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้สนับสนุนการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน 68 ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเมืองรอง ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทางททท.ชูว่า ตรุษจีนปีนี้ ปากน้ำโพ จะจัดใหญ่กว่าที่เคย!

CR. ตรุษจีนนครสวรรค์ สืบสานงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ

ตรุษจีน 68 นครสวรรค์ เริ่มวันไหน?

ตรุษจีนนครสวรรค์ งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ จะจัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2568  ณ หาดทรายต้นแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปีนี้ มาในคอนเซ็ปต์  "สุขสนุก 12 วัน  นครสวรรค์ วันเดอร์แลนด์"  พร้อมมอบความสุขและความศรัทธา  ผ่าน  5 Wonder 

  1. Wonder Food: อิ่มอร่อยไปกับอาหารนานาชนิด ทั้งของคาว ของหวาน และอาหารพื้นเมือง ที่คัดสรรมาอย่างดี
  2. Wonder Faith: สักการะเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
  3. Wonder Five: สัมผัสวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวจีน 5 ชาติพันธุ์ ผ่านการแสดง ดนตรี และอาหาร
  4. Wonder Fun: สนุกสนานไปกับกิจกรรมบันเทิงมากมาย เช่น คอนเสิร์ต การแสดงแสงสีเสียง และเกมต่างๆ
  5. Wonder Festival: ตื่นตาตื่นใจไปกับขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่ยิ่งใหญ่ อลังการ และสวยงาม

นครสวรรค์เริ่มแล้ว! ตรุษจีน 68 แห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ กับขบวนมังกรทอง
 

ไฮไลท์ตรุษจีน 68 ประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ 

  • แห่กลางคืน (ชิวซา): สัมผัสความงดงามของขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ท่ามกลางแสงไฟยามค่ำคืน ในวันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2568
  • แห่กลางวัน (ชิวสี่): ชมขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่ยิ่งใหญ่ ตระการตา ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568

สืบสานประเพณีวิถีแห่งศรัทธา ยาวนานกว่า 109 ปี

งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ  เป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า 109 ปี  แสดงถึงความศรัทธาของชาวจังหวัดนครสวรรค์  ที่มีต่อเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ  ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง  โดยมีความเชื่อว่าท่านจะช่วยปกปักรักษา  และดลบันดาลให้เกิดความสุข  ความเจริญ  แก่ชาวเมือง

จุดเริ่มต้นของ ประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ มาจากการขอพรให้หายจากโรคระบาด (โรคห่า หรือ อหิวาตกโรค) เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง หมอแผนปัจจุบันยังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านจึงพึ่งพาหมอตามบ้านบ้าง ชินแสจีนบ้าง แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งโรคร้ายได้

ด้วยความหวาดกลัว ผู้คนต่างหันหน้าพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งในครานั้น เจ้าพ่อแควใหญ่ (เจ้าพ่อเทพารักษ์) ได้ประทับทรง จัดพิธีกรรมรักษาโรคภัย โดยเขียน "ยันต์กระดาษ" หรือที่เรียกกันว่า "ฮู้" ให้ชาวบ้านพกติดตัว หรือปิดไว้ที่หน้าบ้าน บ้างก็นำ "ฮู้" ไปเผาไฟ ทำน้ำมนต์แจกจ่ายให้ดื่มกิน  หรือประพรม

เชื่อกันว่าด้วยอานุภาพแห่งยันต์ศักดิ์สิทธิ์  ประกอบกับความร่วมมือของชาวบ้าน  โรคห่าจึงสงบลงในที่สุด และด้วยเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์เล่าขานปากต่อปาก ผู้คนต่างหลั่งไหลมากราบไหว้เจ้าพ่อแควใหญ่เพิ่มมากขึ้นทุกปี นำมาซึ่งการรวมตัวของชาวไทย จีนกวางตุ้ง จีนแคะ และจีนแต้จิ๋ว  ร่วมกันจัดขบวนแห่  โดยแต่ละเชื้อชาติต่างนำศิลปะประจำเผ่าพันธุ์ของตนเอง มาร่วมสร้างสีสันในขบวนแห่

CR. ตรุษจีนนครสวรรค์ สืบสานงานประเพณี แห่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ปากน้ำโพ

ความเป็นมาของตรุษจีนนครสวรรค์

ชุมชนชาวจีนปากน้ำโพ เป็นชุมชนที่มีชาวจีนโพ้นทะเลมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกับคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก่อน ด้วยวัฒนธรรมของคนจีนที่ติดตัวมา คนจีนที่ใช้แซ่เดียวกันหรือมาจากหมู่บ้านเดียวกัน อำเภอเดียวกัน หรือพูดภาษาจีนสำเนียงเดียวกัน ย่อมมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องพวกเดียวกัน ดังนั้น เมื่ออพยพมาอยู่ร่วมกัน จึงช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งมีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมตามแบบฉบับจีน ยังคงมีอยู่และสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

ปัจจุบันประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่จัดขึ้นในเทศกาลตรุษจีนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างมาก โดยมี “ขบวนแห่มังกรทอง” ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณประโยชน์อย่างมากแก่มวลมนุษย์ จึงถือได้ว่าเป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมายาวนาน เพื่อแสดงความกตัญญู

โดยมีการเชิดชูและนำเจ้าพ่อเจ้าแม่ในศาลเจ้าออกมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนต่าง ๆ ในตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งรูปแบบการจัดงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย การจัดขบวนแห่ก็ได้จัดให้มีขบวนแห่กลางคืน มีแสงสีที่สวยงามเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นงานประจำปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนหนึ่งของจีน เพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณสืบทอดกันมากกว่า 100 ปี