Artemis หวนคืนสู่ดวงจันทร์ สู่สมรภูมิเทคโนโลยีอวกาศครั้งใหม่
โครงการอาร์ทีมิสถือเป็นโครงการด้านอวกาศขนาดใหญ่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก กับความพยายามในการพามนุษยชาติออกสู่อวกาศอีกครั้งของ NASA แต่บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมโครงการจึงสำคัญทั้งที่เราส่งคนไปบนดวงจันทร์ได้ตั้งแต่ปี 1969 วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
การเดินทางไปดวงจันทร์ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ อันที่จริงสำหรับหลายท่านอาจเป็นเรื่องที่เคยได้ยินมาแต่วัยเยาว์ ถึงไม่ได้เห็นเองกับตาแต่ย่อมรู้ว่าเป็นเรื่องที่เคยเกิดและประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ปี 1969 ในการส่งมนุษย์ไปเหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก
น่าเสียดายหลังการเยือนดวงจันทร์ของอะพอลโล 17 สหรัฐฯก็ร้างราการเยือนดวงจันทร์โดยสิ้นเชิง สองมหาอำนาจต่างลดความสนใจในโครงการอวกาศลง ทำให้ไม่มีการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกเลยเป็นเวลากว่า 50 ปี แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยโครงการอาร์ทีมีสของสหรัฐฯ และอีกหลายโครงการจากนานาประเทศกำลังตามมา
แต่คงต้องคลายข้อสงสัยเสียก่อนว่าเหตุใดการส่งไปมนุษย์ไปบนอวกาศจึงห่างหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไปนาน
การบุกเบิกอวกาศในยุคแรก และการร้างราของมนุษย์อวกาศ
เราทราบกันดีว่ายานอวกาศอะพอลโล 11 เคยพามนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ตั้งแต่ปี 1969 แต่นับจากนั้นการพามนุษย์มุ่งสู่ดวงจันทร์กลับหยุดชะงัก โครงการอวกาศถูกเปลี่ยนจากการส่งคนจริงไปเป็นการสร้างกล้องดูดาวและยานไร้คนขับเข้าสำรวจ อาจทำให้หลายท่านแปลกใจว่าเหตุใดเราจึงหยุดอยู่ก้าวนี้มานาน
คำตอบคือ งบประมาณด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ถือเป็นจุดตายสำคัญทำให้หลายโครงการต้องถูกระงับ
ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเกิดจากการแข่งขันของสองชาติมหาอำนาจ สหรัฐฯและโซเวียต จากความตึงเครียดในการเป็นคู่แข่งทั้งในด้านการเมือง การปกครอง หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้สองฝ่ายนำสรรพกำลังมาแข่งขัน และเทคโนโลยีอวกาศถือเป็นการแข่งขันสำคัญในยุคนั้น
เพื่อตอบโต้โซเวียตในการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกและมีมนุษย์อวกาศ ยูริ กาการิน เป็นชาติแรก ทำให้สหรัฐฯทุ่มงบประมาณ 26,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าเทียบมูลค่าปัจจุบันมากถึง 300,000 ล้านเหรียญ(11 ล้านล้านบาท) เพื่อแซงหน้าเทคโนโลยีของโซเวียต นำไปสู่โครงการอวกาศมากมาย และชัยชนะในการชิงตัดหน้าส่งมนุษย์ขึ้นดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ
ผลงานจากการทุ่มเทนั้นน่าพอใจจากชัยชนะในเทคโนโลยีอวกาศ แต่จากนั้นการพัฒนาทางด้านนี้กลับสะดุดและขาดช่วง เป็นผลจากการเข้าร่วมสงครามเวียดนามของสหรัฐฯรวมถึงภาวะเศรษฐกิจและปัญหานานัปการ โครงการอวกาศมากมายของสหรัฐจึงหยุดพักไปชั่วคราว
ชาติอื่นเองก็เช่นกันโซเวียตเริ่มประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาภายใน นำไปสู่ความล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ในขณะที่ประเทศอื่นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทำให้เทคโนโลยีอวกาศถูกลดความสนใจลงตามลำดับ
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยีอวกาศเริ่มได้รับความสนใจในภาคเอกชนและมีการผลักดันในเชิงธุรกิจ
โครงการอวกาศปัจจุบัน เมื่อการมุ่งสู่โลกกว้างไม่ต้องรอคำขอจากรัฐอีก
ในยุคแรกการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศจำเป็นต้องพึ่งพางบและการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้เจ้าของเทคโนโลยีอวกาศยุคแรกมีเพียงสหรัฐฯและโซเวียต ซึ่งทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐบาล แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อมีเอกชนจับแนวคิดนี้มาพัฒนา นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาล
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเป็นการเดินทางมอบประสบการณ์ให้แก่คนทั่วไปที่อยากเดินทางไปเยี่ยมชมท่องเที่ยวอวกาศ ส่งผลให้เกิดธุรกิจการขนส่งและนำเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยมีบริษัทที่เปิดให้บริการนี้อยู่หลายแห่ง เช่น Virgin Galactic, Blue Origin ฯลฯ
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้หนึ่งในก้าวสำคัญซึ่งได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในวงการคือ SpaceX บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ที่นอกจากจะมีการจัดทัวร์ท่องเที่ยวแล้ว ผู้ก่อตั้งและเจ้าของคนปัจจุบันอย่าง Elon musk ยังมีแผนจะพามนุษย์ไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร
นั่นทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศกลับมาได้รับความสนใจ เมื่อการส่งมนุษย์ไปบนอวกาศทำได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมหรือเป็นแค่ความฝัน ขอเพียงมีเงินสำหรับใช้เป็นค่าเดินทาง มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวกลับมากระตุ้นความสนใจแก่รัฐบาล จนทางสหรัฐฯมีการประกาศแผนนำมนุษย์กลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้งตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา
ส่วนนี้คาดว่านอกจากมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ทางสหรัฐฯเองก็ต้องการชื่อมหาอำนาจทางอวกาศกลับมาเช่นกัน
จากอะพอลโลสู่อาร์ทีมิส เมื่อการเดินทางสู่ดวงจันทร์เป็นเพียงก้าวแรก
โครงการที่ได้รับงบประมาณและการพัฒนาออกมาเป็นรูปร่างคือ อาร์ทีมิส เกิดจากการทุ่มเทงบประมาณมากถึง 93,000 ล้านเหรียญ(3.4 ล้านล้านบาท) ในการส่งจรวดขึ้นไปบนดวงจันทร์ โดยมีจุดหมายเพื่อการสำรวจให้แน่ใจในการเดินทางและใช้ชีวิตของมนุษย์บนสภาพแวดล้อมของดาวอื่น
โครงการอาร์ทีมิสจะใช้จรวดรุ่นใหม่ในการพายาน โอไรออน ออกสู่วงโคจร โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักสัมภาระได้มากถึง 95,000 กิโลกรัม และรองรับการท่องอวกาศเป็นเวลานาน โดยโครงการจะแบ่งออกเป็นสามช่วง ได้แก่ อาร์ทีมิส 1,2,3 เพื่อการสำรวจอวกาศและทดสอบการตั้งรกรากในดาวดวงอื่นของมนุษย์
อาร์ทีมิส 1 จะเป็นเที่ยวบินไร้คนขับซึ่งทำหน้าที่ทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่านักบินจะสามารถใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศและดาวดวงอื่นอย่างปลอดภัย
อาร์ทีมิส 2 จะทำการส่งมนุษย์ขึ้นไปพร้อมกับตัวยานโดยจะทำการโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อให้แน่ใจว่านักบินสามารถรองรับสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้
และอาร์ทีมิส 3 จะเป็นการพานักบินอวกาศ 4 คนกลับไปเยือนบนดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2025
หากทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเราจะสามารถส่งมนุษย์กลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยคราวนี้จะไม่ใช่แค่การแวะไปเยือนเพื่อปักธงและประทับรอยเท้า แต่จะเป็นการทดสอบการใช้ชีวิตบนดาวดวงอื่น เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตบนอีกดาวหนึ่งได้จริง
โดยเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการไปตั้งรกรากลงบนดาวเคราะห์อีกดวงอย่าง ดาวอังคาร
การเข้ามาของนานาประเทศ เมื่ออวกาศไม่ถูกผูกขาดโดยมหาอำนาจ
อันที่จริงโครงการอาร์ทีมิสไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของสหรัฐฯอย่างเดียว ประเทศอื่นต่างมีส่วนร่วมในโครงการ ทั้งประเทศในยุโรป, ญี่ปุ่น, แคนาดา จนถึงรัสเซีย เป็นโครงการความร่วมมือด้านอวกาศขนาดใหญ่จากนานาประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีโครงการของตัวเอง
องค์การสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น(JAXA) มีแผนในการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ โดยจะเป็นหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบพื้นผิวและสภาพดินของดวงจันทร์ อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีแผนในการส่งดาวเทียมสำรวจดาวอังคาร และส่งนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นไปบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 อีกด้วย
เช่นเดียวกับ องค์กรวิจัยอวกาศอินเดีย(ISRO) ที่วางแผนในการส่งยานขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ในชื่อ จันทรายาน 3 โดยจะทำการส่งยานลำนี้เคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์เพื่อการสำรวจ แม้จะเคยประสบความล้มเหลวกับจันทรายาน 2 ในปี 2019 แต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเขาถอดใจและยังคงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
มหาอำนาจเก่าอย่างรัสเซียกับโครงการอวกาศสำรวจดวงจันทร์ของพวกเขา Luna 25 มีเป้าหมายในการสำรวจพื้นที่แถบขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ซึ่งกำลังได้รับควาสนใจ แต่ปัจจุบันเริ่มมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นจากสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย จึงไม่แน่ใจว่าปัจจุบันโครงการอวกาศจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ในส่วนมหาอำนาจใหม่อย่างจีน ล่าสุดมีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปสร้างสถานีอวกาศเป็นผลสำเร็จในปี 2022 นอกจากนี้ยังมีแผนในการสำรวจอวกาศ โดยจะมีส่งนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ในปี 2030 รวมถึงทำการสำรวจดาวอังคารและดาวพฤหัส เพื่อผลักดันให้ประเทศจีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางอวกาศ
นี่คือสิ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ไม่ใช่แค่จากมหาอำนาจแต่ทุกประเทศล้วนเริ่มมองหาช่องทางในการบุกเบิกอวกาศ เพื่อมองหาช่องทางขยับขยายและเข้าถึงทรัพยากรชนิดใหม่ในดาวอื่น ซึ่งเราคงต้องรอชมว่าจากนี้โลกจะพัฒนาไปทิศทางไหน
ที่มา
https://www.moneybuffalo.in.th/business/blue-origin-vs-virgin-galactic
https://www.nasa.gov/specials/artemis-i/
https://www.springnews.co.th/news/825474
https://www.securitysystems.in.th/2022/01/japan-plan-to-visit-moon-within-this-decade/