ดาวพฤหัสบดีและดาวเสารืในปี 2555
ดาวพฤหัสบดี
ดาวพฤหัสบดี
โดย..วรเชษฐ์ บุญปลอด
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วทำให้ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว สามารถใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย 4 ดวง
ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 11.86 ปี มันจึงขยับเข้าสู่กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกปีละกลุ่ม โดยประมาณ การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวพฤหัสบดีทำให้เมฆในบรรยากาศมีลักษณะเป็นริ้วสว่างกับคล้ำสลับกัน จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือพายุขนาดยักษ์ พัดวนทวนเข็มนาฬิกา มีทรงรี ขนาดประมาณ 12,000 x 20,000 กิโลเมตร (ใหญ่กว่าโลกที่มีขนาด 12,756 กิโลเมตร) นอกจากจุดแดงใหญ่ ยังอาจเห็นพายุในรูปของจุดขาวและจุดมืด
เดือน ม.ค. ถึงปลายเดือน เม.ย. 2555 เป็นช่วงที่สามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีได้ในเวลาหัวค่ำ ดาวพฤหัสบดีทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ในปลายเดือน ม.ค. เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีอยู่เหนือศีรษะขณะดวงอาทิตย์ตกและตกลับขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน
สัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. ดาวพฤหัสบดียังอยู่ในกลุ่มดาวปลา ใกล้รอยต่อระหว่างกลุ่มดาวปลากับกลุ่มดาวแกะ จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ กลางเดือน มี.ค. จะเห็นดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์อยู่เคียงกัน สูงเหนือท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ปลายเดือน เม.ย. ดาวพฤหัสบดีหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ โดยอยู่ร่วมทิศกันในวันที่ 13 พ.ค.
ต้นเดือน มิ.ย. ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด อยู่ในกลุ่มดาววัว ห่างไปทางขวามือของกระจุกดาวลูกไก่ ต้นเดือน ก.ค. ดาวอัลเดบารัน ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และกระจุกดาวลูกไก่ เรียงกันเกือบเป็นเส้นตรง วันที่ 15 ก.ค. มองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่เคียงข้างดาวพฤหัสบดี ปลายเดือนดาวพฤหัสบดีเคลื่อนไปอยู่ทางซ้ายมือของดาวอัลเดบารัน
ต้นเดือน ก.ย. ดาวพฤหัสบดีทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จึงเห็นดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน แล้วไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด วันที่ 1 ธ.ค. 2555 ดาวพฤหัสบดีจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี จากนั้นอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 3 ธ.ค. เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีสว่างที่สุด หลังจากนั้นเราจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มมืดในเวลาหัวค่ำ
ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้วมากกว่า 60 ดวง ดวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 ดวง สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต
ดาวเสาร์
ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ ดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว จึงมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้นเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี มีวงแหวนสว่างล้อมรอบในระนาบศูนย์สูตรของดาวเสาร์ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสามารถแบ่งวงแหวนดาวเสาร์ออกได้เป็น 3 วง ได้แก่ วงแหวนเอ (A) บี (B) และซี (C) เรียงลำดับจากวงนอกสุดถึงวงในสุด เมื่อสังเกตจากโลก ขอบวงแหวนจะหันเข้าหาโลกทุกๆ 1516 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 ปัจจุบันดาวเสาร์กำลังหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ วงแหวนดาวเสาร์จึงมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นในแนวเหนือใต้ โดยจะกว้างที่สุดในปี 2560
เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วของดาวเสาร์สั้นกว่าในแนวศูนย์สูตรราวร้อยละ 10 นับว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีความแป้นมากที่สุด บรรยากาศของดาวเสาร์ถูกแบ่งเป็นแถบและเขตต่างๆ แบบเดียวกับดาวพฤหัสบดี บางครั้งเกิดแถบเมฆสีขาวขึ้น เรียกว่าจุดขาวใหญ่ (Great White Spot) ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2553
ปีนี้ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงต้นปี วันที่ 16 เม.ย. 2555 ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดาวเสาร์ตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มมืดในเวลาหัวค่ำ ปลายเดือน ก.ย. ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 25 ต.ค.
เมื่อถึงต้นเดือน พ.ย. น่าจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ขณะนั้นดาวเสาร์อยู่ห่างทางซ้ายมือของดาวสไปกา (Spica) หรือดาวรวงข้าว ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นตลอดช่วงที่เหลือของปี ดาวเสาร์มีดาวบริวารที่ค้นพบแล้วมากกว่า 60 ดวง ไททันเป็นดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่และสว่างที่สุดของดาวเสาร์
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (18–25 ธ.ค.)
ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาพลบค่ำก่อนท้องฟ้ามืด ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูทางทิศตะวันตก สัปดาห์นี้จะย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเล ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏสูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออก อยู่บริเวณแนวรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวแกะกับกลุ่มดาวปลา ดาวพฤหัสบดีขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะในเวลาราว 2 ทุ่ม แล้วคล้อยต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 2 ครึ่ง
ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ราวเที่ยงคืน ดาวอังคารจะขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกด้วยมุมเงย 10 องศา จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ใกล้ดาวสไปกาหรือดาวรวงข้าว เริ่มเห็นได้ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ตี 3 จากนั้นเมื่อใกล้สว่าง ดาวเสาร์จะทำมุมสูงเหนือขอบฟ้าประมาณ 45 องศา
ดาวพุธปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด โดยอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สัปดาห์นี้ดาวพุธจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด หากท้องฟ้าเปิดและไม่มีสิ่งใดบดบังขอบฟ้าในทิศที่ดาวพุธอยู่ จะเป็นช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดี
วันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ขั้วโลกใต้เบนเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด เรียกว่าเหมายันหรือทักษิณายัน (Winter Solstice) เกิดขึ้นเนื่องจากแกนหมุนของโลกทำมุมเอียงจากแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้สังเกตเห็นดวงอาทิตย์เบนไปทางทิศใต้มากที่สุด เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นมันจะเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อดวงอาทิตย์ตกมันจะเบนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สภาวะเช่นนี้ทำให้ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ขณะที่ซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน
สัปดาห์นี้จะเข้าสู่ครึ่งหลังของข้างแรม ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค. จากนั้นกลายเป็นเสี้ยว เช้ามืดวันอังคารที่ 20 ธ.ค. ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์และดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาว ห่าง 8 และ 2 องศา ตามลำดับ วันศุกร์ที่ 23 ธ.ค. จันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวพุธและดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่อง ห่าง 3 และ 5 องศา ตามลำดับ จากนั้นจันทร์ดับในวันอาทิตย์ที่ 25 ธ.ค.