เหตุแห่งการ ‘แยกทาง’
ในยุคที่เศรษฐกิจจีนได้รับการพัฒนาอย่างมาก ทางเลือกในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมก็มีความหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การแต่งงาน
ในยุคที่เศรษฐกิจจีนได้รับการพัฒนาอย่างมาก ทางเลือกในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมก็มีความหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การแต่งงาน สามารถเลือกจัดงานอย่างอลังการงานสร้าง หรือแต่งแบบเรียบง่าย ขอแค่มีบัตรประชาชนกับทะเบียนบ้านก็สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่รักที่ถูกต้องตามกฎหมายได้แล้ว ทว่าเรื่องที่ยากกว่านั้นก็คือการประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่กันอย่างมีความสุขและยืนยาว ซึ่งหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับจุดนี้เท่าใดนัก เราจึงเห็นสถิติการหย่าร้างในหมู่ชาวจีนที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ
ก่อนอื่นลองไปดูตัวเลขเกี่ยวกับอายุของคู่รักที่หย่าร้างกันว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างของหนุ่มสาวชาวจีนที่มีอายุระหว่าง 2235 ปี เพิ่มขึ้นสูงขึ้นติดต่อกันทุกปี คนกลุ่มนี้ถือเป็นช่วงอายุที่มีหย่าร้างมากกว่าคนในวัยอื่น โดยเฉพาะคู่รักในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นเมืองที่มีความเจริญลำดับต้นๆ ของประเทศ พบว่ามีอัตราการหย่าร้างในหมู่คู่สมรสมากถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว ตามมาด้วยเมืองที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูอย่างเสิ่นเจิ้น จึงมีการตั้งคำถามว่า “การเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเจริญทางวัตถุ ส่งผลให้ผู้คนในเมืองเหล่านี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของคนรอบข้างหรือไม่” ซึ่งคำตอบก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่
คำโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ความสมัครสมานของครอบครัว ย่อมนำพาความรุ่งเรืองมาสู่คนในบ้าน” กำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคู่รักยุคนี้ ดังเห็นได้จากอัตราการหย่าร้างของหนุ่มสาวทั่วประเทศในปี ค.ศ. 2009 ที่มีมากกว่า 1.9 ล้านคู่ ซึ่งนับว่าสูงกว่าจำนวนคู่สมรสที่จดทะเบียนในปีเดียวกัน ซึ่งมีจำนวน 1.2 ล้านคู่ อันที่จริง นับแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา อัตราการหย่าร้างในหมู่คู่รักชาวจีนริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น และเห็นเด่นชัดมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนในการเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 7.65
ช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2011 มีอัตราการหย่าร้างทั่วประเทศจำนวน 4.65 แสนคู่ หรือเฉลี่ยแล้วในแต่ละวันมีครอบครัวที่ต้องพังทลายลงนับ 5,000 ครอบครัว ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสังคมที่เต็มไปด้วยการหย่าร้างที่มักเป็นภาพของสังคมตะวันตก มาในวันนี้เกิดขึ้นกับชนชาติที่ได้ชื่อว่ามีขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติความเป็นมายาวนานนับ 5,000 ปีเช่นกัน
ในบรรดาคดีฟ้องร้องเรื่องการหย่าร้าง พบว่าฝ่ายหญิงมักเป็นผู้ฟ้องมากกว่าฝ่ายชาย คิดเป็นร้อยละ 7080 ถือเป็นเรื่องที่ชวนคิดเกี่ยวกับผู้หญิงจีนยุคนี้ พ.ศ.นี้ ที่มีแนวคิดเรื่องการแต่งงานแตกต่างจากสาวจีนยุคโบราณ ผลการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของสาวจีนยุคใหม่ พบว่า การเติบโตในสังคมที่เจริญก้าวหน้าและเต็มไปด้วยอิสระทางความคิด ประกอบกับได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น มีศักยภาพเพียงพอที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตได้ตามความปรารถนา ส่งผลให้พวกเธอรู้จักรักตัวเองมากขึ้น คำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายพอมีเงินมักเปลี่ยนเป็นคนไม่ดี” แต่ในวันนี้ ผู้หญิงที่มีฐานะดี ก็มีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน เราจึงเห็นความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
ที่ผ่านมา แม้ชีวิตแต่งงานจะไร้ซึ่งความสุข แต่หญิงจีนก็ยังคงประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่กันไปจนตลอดรอดฝั่ง แต่สาวจีนยุคใหม่กลับไม่มีความคิดเช่นนั้น หากอยู่แล้วไม่มีความสุข อยู่คนเดียวยังดีกว่า อายุถือเป็นตัวกำหนดสภาพการหย่าร้าง เช่น หากอยู่ในวัยไม่เกิน 40 พวกเธอมักเป็นฝ่ายเลือกที่จะบอกเลิกก่อน แต่หากมีอายุ 40 ขึ้นไป โดยมากมักกลายเป็นผู้ที่ถูกบอกเลิก เพราะผู้ชายวัยนี้มักมีพฤติกรรมออกนอกลู่นอกทาง ดังนั้นหากพวกเธอเห็นท่าไม่ดี ก็รีบตัดสินใจหย่าร้างเสียแต่เนิ่นๆ ไม่รอจนเป็นฝ่ายถูกกระทำ
เป็นเรื่องน่าแปลกที่คนในสังคมจีนยุคนี้ยอมรับเรื่อง “การมีสัมพันธ์นอกสมรส” มากขึ้น โดยคิดว่าเป็นการผ่อนคลายทางอารมณ์ ขอเพียงพฤติกรรมดังกล่าวไม่ก้าวก่ายผลประโยชน์ของผู้อื่น ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับมุมมองเรื่องการนอกใจของชาวจีนในยุคที่ผ่านมาแล้ว ถือว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นที่รังเกียจและมักตกเป็นจำเลยสังคม สร้างความอับอายมาสู่วงศ์ตระกูล พวกเธอจึงเลือกที่จะอดทนมากกว่าแตกหักเฉกเช่นสาวจีนยุคนี้
แม้ว่าแนวคิดต่อเรื่องดังกล่าวของคนยุคใหม่จะมีความยืดหยุ่นกว่าคนยุคก่อน แต่อย่าลืมว่าการเปิดกว้างในเรื่องทำนองนี้ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจที่กัดกร่อนชีวิตคู่ และมักจบลงด้วยการหย่าร้างดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะเหตุผลของการหย่าร้างอันมีสาเหตุจากการนอกใจ จัดเป็นลำดับแรก ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดกับสังคมจีนเท่านั้น แต่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกสังคมที่เน้นความเจริญทางวัตถุมากกว่าความเจริญทางด้านจิตใจ
ข้อน่าสังเกตก็คือ “การหย่าร้างแบบหลอกๆ” กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พบเห็นมากขึ้นในสังคมจีน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยตามเมืองใหญ่ ที่ว่า “หลอก” หมายถึงสามีภรยาไม่ได้หย่ากันด้วยความขัดแย้ง แต่เป็นการหย่าเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ ยิ่งกฎเหล็กเกี่ยวกับการครอบครองบ้านหลังที่ 2 ที่รัฐบาลระบุไว้ว่า จะต้องชำระเงินงวดแรกจำนวนร้อยละ 60 ของราคาบ้าน และชำระอัตราเงินกู้ไม่ต่ำกว่าอัตราเงินกู้บ้านทั่วไปในระดับ 1.1 เท่า ทำให้การซื้อบ้านเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่หากทั้งคู่รักหย่าร้างกัน ฝ่ายที่ไม่ได้ซื้อบ้าน สามารถได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนเงินร้อยละ 30 ของการชำระเงินครั้งแรกในฐานะที่เป็นบ้านหลังแรก สำหรับครอบครัวที่ต้องอยู่กันอย่างแออัดในบ้านเล็กๆ และคิดจะมีบ้านใหม่สักหลัง การหย่าร้างถือเป็นช่องทางที่ทำได้ง่ายกว่าการหาเงินก้อนมาซื้อบ้านหรือการต้องไปกู้หนี้ยืมสินผู้อื่น ดูเหมือนว่าการหย่าร้างในลักษณะดังกล่าวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลประการใดที่ทำให้ชีวิตคู่ปิดฉากด้วยการแยกทาง ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ และถ้าอัตราการหย่าร้างยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สังคมจีนก็จะเต็มไปด้วยเยาวชนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาจากผลการกระทำดังกล่าว ด้วยเหตุนี้คู่รักทั้งหลายจึงควรฉุกคิดสักนิดก่อนตัดสินใจ