posttoday

Happy Winter

29 ธันวาคม 2556

ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมักเข้ามาเยือนเราอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ทันไรคนจีนก็เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว

ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมักเข้ามาเยือนเราอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่ทันไรคนจีนก็เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะหลังจากช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อุณหภูมิในแต่ละท้องที่ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในช่วงที่อากาศหนาวเย็นเช่นนี้ วันนี้จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในช่วงฤดูหนาวมาฝากกัน

การได้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิราว 1620 องศาเซลเซียส ภายใต้สภาวะอากาศภายนอกที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ถือว่าสร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่ชาวจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศที่อุณหภูมิมักอยู่ในระดับติดลบนานแรมเดือน ทว่า อุณหภูมิห้องที่ว่านี้ไม่ควรสูงไปกว่านี้ เพราะอาจสร้างความรู้สึกอึดอัดและวิงเวียนศีรษะได้

นอกจากนี้ การปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะดังกล่าวเป็นเวลานาน มักเกิดอาการปากแห้ง ตาแห้ง ร่างกายขาดความสมดุล และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคต่างๆ ดังนั้น การเปิดหน้าต่างในช่วงที่อากาศไม่หนาวเย็นจัดมีส่วนช่วยให้อากาศในห้องถ่ายเทและช่วยกำจัดเชื้อโรคนานาชนิดที่อยู่ในห้องอีกด้วย ทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดมลภาวะทางอากาศในห้องซึ่งมีความรุนแรงกว่าฤดูอื่นมากถึง 10 เท่าทีเดียว

ผลการวิจัยทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุสำคัญของการป่วยเป็นโรคในช่วงฤดูหนาวคือ “ความเย็น” หลังจากที่ร่างกายได้รับไอเย็นแล้ว จะเข้าไปทำลายระบบความสมดุลของอุณหภูมิในร่างกาย ระบบการไหลเวียน ด้วยเหตุนี้ การดูแลสุขภาพให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ยิ่งอากาศหนาวเย็นมากเท่าใด โอกาสที่โรคเก่าจะกำเริบหรือทวีความรุนแรงก็มีมากขึ้นทุกขณะ

Happy Winter

 

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคตับ โรคกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ที่มีร่างกายอ่นแอและมักเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงการทำงานภายใต้สภาวะอากาศที่หนาวเย็น มิเช่นนั้น อาจทวีความรุนแรงของโรคดังกล่าวข้างต้น

การแพทย์แผนจีนชี้ให้เห็นว่า การบำรุงร่างกายด้วยยาจีน จะช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้แก่ร่างกายและเสริมสร้างการทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรค แต่ยังเป็นการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว อวัยวะที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากคือ ไต ดังนั้น การรับประทานอาหารในช่วงฤดูหนาว จึงควรเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อไตเป็นหลัก

การเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ถือเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิตภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเย็น เพราะนอกจากจะช่วยดับไอร้อนในร่างกายแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะประกอบนานากิจกรรมในช่วงที่อากาศหนาวเย็น การรับเอาคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานความร้อนในปริมาณที่เพียงพอ จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่อากาศหนาวเย็นผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ในจำนวนนี้ พลังงานความร้อนที่ได้จากโปรตีนควรอยู่ในระดับร้อยละ 1517 นอกเหนือจากด้านคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว อาหารประเภทนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคภัยที่เกิดจากความหนาวเย็นได้อีกด้วย

Happy Winter

 

ในส่วนของเนื้อสัตว์ที่เหมาะแก่การรับประทาน ได้แก่ เนื้อแพะ เนื้อสุนัข เนื้อเป็ด ตะพาบน้ำ กุ้ง นกพิราบ ปลิงทะเล เป็นต้น โดยเนื้อสัตว์แต่ละชนิดต่างมีคุณประโยชน์ที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เนื้อแพะที่นิยมรับประทานกันมาก เพราะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ถือเป็นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายชั้นเลิศ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไตอีกด้วย การรับประทานเนื้อแพะในช่วงฤดูหนาวจึงมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถต้านทานความหนาว และบำรุงร่างกายไปในขณะเดียวกัน เนื้อห่านซึ่งเหมาะสำหรับการรับประทานในทุกฤดูนั้น มีสรรพคุณในการป้องกันการไอและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อวัยวะภายในร่างกาย เนื้อเป็ดมีสรรพคุณในการดับไอร้อนในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ไม่ค่อยอยากอาหาร มีไข้ต่ำๆ ถือว่าเหมาะที่จะรับประทานเนื้อชนิดนี้มาก

การนำหัวไช้เท้ามาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารในช่วงฤดูหนาวสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวจีน ดังเห็นได้จากภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “ฤดูหนาวกินหัวไช้เท้า ฤดูร้อนกินขิง หมอไม่ต้องลงแรงจ่ายใบสั่งยา” ในเวลานี้ ชาวจีนก็เริ่มเข้าสู่ฤดูแห่งการรับประทานหัวไช้เท้าอีกครั้ง ทว่า ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทานผักชนิดดังกล่าวก็มีอยู่หลายประการ หากไม่ปฏิบัติตาม นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์จากการรับประทานแล้ว ยังส่งผลต่อคุณค่าทางอาหารของผักชนิดนี้อีกด้วย

ด้วยความที่อากาศในช่วงฤดูหนาวค่อนข้างแห้ง โดยเฉพาะผู้ที่มักใช้ชีวิตอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องทำความร้อนอยู่ตลอดเวลา จะรู้สึกว่าอากาศแห้งมาก หลายคนเป็นผู้ที่มีไอร้อนสะสมในร่างกายเป็นทุนเดิม การรับประทานหัวไช้เท้าที่มีสรรพคุณในการขับไอร้อนและขับพิษ จะช่วยบรรเทาไอร้อนในร่างกาย และก็เป็นปกติที่คนจีนมักนิยมรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายมากกว่าในฤดูอื่น ผักที่มักรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์เหล่านี้มีสรรพคุณในการช่วยดับไอร้อนในร่างกาย หัวไช้เท้าซึ่งมีฤทธิ์เย็นถือเป็นตัวเลือกที่ดี

เราจะสังเกตได้ว่ากิจกรรมในช่วงฤดูหนาวที่น้อยกว่าช่วงฤดูอื่น ทำให้การเผาผลาญอาหารในร่างกายน้อยลง การรับประทานหัวไช้เท้าที่อุดมไปด้วยวิตามิน มีส่วนช่วยกำจัดของเสียภายในร่างกาย กระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์เก่าทดแทนเซลล์ใหม่

ซุปเนื้อแพะหัวไช้เท้าถือเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงฤดูหนาว ทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร แม้ว่าเนื้อแพะจะมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่หากรับประทานในปริมาณมาก มักทำให้เกิดอาการร้อนใน ทว่า การรับประทานร่วมกับหัวไช้เท้าที่มีฤทธิ์เย็น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีอาการกระเพาะลำไส้ไม่ปกติ กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ล้วนไม่เหมาะที่จะรับประทานผักชนิดนี้ เพราะอาจสร้างความระคายต่ออวัยวะเหล่านี้ได้

ถึงแม้ว่าช่วงฤดูหนาวจะมีผักวางขายกันไม่หลากหลายชนิดนัก โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องพยายามเลือกรับประทานผักหลากหลายชนิด เพราะอาการจมูกแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้งที่เกิดขึ้นกับผู้คนทางเหนือมากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยมากมักเป็นผลจากการขาดวิตามิน ดังนั้น จึงควรเพิ่มสารอาหารชนิดนี้ให้แก่ร่างกาย เช่น วิตามิน บี 2 ที่พบได้ในเครื่องในสัตว์ ไข่ไก่ นม อาหารประเภทถั่ว ซึ่งมีสรรพคุณในการป้องกันอาการอักเสบของปาก วิตามิน A ที่อุดมในแครอต มันเทศ ซึ่งมีสรรพคุณในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย

ทั้งนี้ ยังมีมาตรฐานการรับประทานอาหารที่ว่า “3 ต่ำ” ที่พึงปฏิบัติกันในช่วงฤดูหนาวอันประกอบด้วยน้ำมันน้อย เกลือน้อย น้ำตาลน้อย

น้ำมันน้อยในที่นี้หมายถึง รับประทานอาหารประเภทอมน้ำมันน้อย เกลือน้อยหมายถึงการพยายามรับประทานอาหารให้มีรสจืด รับประทานพริกให้น้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายต่อกระเพาะอาหาร ส่วนน้ำตาลน้อยไม่ได้หมายความว่าไม่รับประทานเลย แต่ให้ควบคุมการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูงอย่างไอศกรีม ขนมปัง เนย เป็นต้น

สัดส่วนของอาหารหลักและอาหารรองที่รับประทานอาจแบ่งเป็น 4 ต่อ 6 ส่วน อาหารหลัก ได้แก่ ข้าว บะหมี่ เป็นต้น ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักนานาชนิดเป็นอาหารรอง อาหารทั้งสองประเภทนี้ควรรับประทานให้อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ หลายปีมานี้ ชาวจีนนิยมรับประทานอาหารที่เน้นธัญพืชเป็นหลัก เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง รับประทานง่าย ส่งผลดีต่อฟันและกล้ามเนื้อบนใบหน้า ทว่า ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางการสืบพันธุ์

เมนูอาหารในแต่ละมื้อควรมีทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว หลายคนมักรับประทานอาหารแข็งเพียงอย่างเดียวเพื่อประหยัดเวลา พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารและทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหารในร่างกาย แต่การรับประทานอาหารเหลวเพียงอย่างเดียวก็มิใช่แนวทางการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง นักโภชนาการแสดงทัศนะไว้ว่า คนอ้วนควรรับประทานอาหารเหลวก่อน จึงค่อยรับประทานอาหารแข็ง ส่วนคนผอมควรรับประทานอาหารแข็งก่อน แล้วจึงรับประทานอาหารเหลว

ทั้งนี้ รสชาติอาหารที่เหมาะและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในช่วงฤดูหนาวคือ รสขมและรสเผ็ด (ในระดับพอเหมาะ) กรรมวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะแก่การรับประทานในช่วงฤดูหนาวคือ การใช้ไฟเบา เช่น การตุ๋น การอุ่น การต้ม ปริมาณอาหารที่รับประทานต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะ เพราะหากรับประทานมากเกินไป จะเพิ่มภาระการทำงานของกระเพาะอาหาร แต่หากทานน้อยเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานของลำไส้

ในช่วงที่อากาศหนาวเย็น ผู้คนมักไม่ค่อยออกไปประกอบกิจกรรมนอกบ้าน เหงื่อก็จะน้อยลง ทว่า ร่างกายยังคงต้องการน้ำในปริมาณวันละ 2,0003,000 มิลลิลิตร การที่เรารู้สึกกลัวความหนาวมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณแร่ธาตุที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น ปริมาณแคลเซียมที่รับเข้าสู่ร่างกาย ย่อมส่งผลต่อการทำงานของระบบหลอดเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ดังนั้น การเพิ่มแคลเซียมให้แก่ร่างกาย จึงถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อต้านความหนาวเย็นได้อีกทางหนึ่ง อาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุชนิดนี้ ได้แก่ นม อาหารประเภทถั่ว สาหร่าย เป็นต้น

นอกจากการรับประทานอาหารที่สร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายแล้ว การรักษาความอบอุ่นให้แก่ส่วนต่างๆ ของร่างกายก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะศีรษะ ไหล่ และเท้า ไม่ปล่อยให้ไอเย็นเข้าแทรกซึมเข้าไปยังอวัยวะเหล่านี้ ชาวจีนเชื่อว่าการรักษาความสะอาดของเท้า ถุงเท้า และรองเท้าที่สวมใส่ถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ร่างกาย เราสามารถแช่เท้าในน้ำอุ่น นวดคลึงกระตุ้นจุดใต้ฝ่าเท้า เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกาย