ตำนานตลาดโรงเกลือ จากของบริจาคสู่ละเมิดลิขสิทธิ์
ในบรรดาตลาดสินค้าชายแดนคงไม่มีที่ใดใหญ่และมีมูลค่าการค้ามากเท่ากับตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
โดย...สวาท เกตุงาม
ในบรรดาตลาดสินค้าชายแดนคงไม่มีที่ใดใหญ่และมีมูลค่าการค้ามากเท่ากับตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน ตลาดโรงเกลือยังได้ชื่อว่าเป็นตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ใหญ่ที่สุดพ่วงมาอีกด้วย
สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก ยิ่งก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ตลาดโรงเกลือและ จ.สระแก้ว ต้องการทำให้ตลาดชายแดนแห่งนี้มีความเป็นสากล ซึ่งจะต้องปลอดจากสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์โดยสิ้นเชิง ทำให้หลายหน่วยงานทั้ง จ.สระแก้วและกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทุ่มกำลังเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในตลาดโรงเกลือแล้วหลายครั้ง
ล่าสุด วันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.สระแก้ว นำกำลังทหาร ตำรวจ ศุลกากร ฝ่ายปกครอง จังหวัดสระแก้ว กว่า 50 นาย เข้าตรวจผู้ประกอบการในตลาดโรงเกลือ โดยสุ่มตรวจบริเวณที่เคยขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่อาคารสีฟ้า ด้านทิศตะวันออกของตลาดโรงเกลือ ปรากฏว่าไม่พบสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรและเป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่บริเวณทางแยกเข้าบ้านกุดหิน ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ เป็นชุดกีฬาสโมสรฟุตบอลต่างประเทศและในประเทศไทยจำนวนกว่า 6,500 ชุด
ข้อมูลซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มาจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีอยู่กว่า 1,000 ราย ทราบว่าสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและรองเท้ามาจากประเทศจีน กระเป๋าจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนเครื่องสำอางมาจากประเทศจีนและเวียดนาม
ทั้งนี้ ผู้ค้ามีการจ่ายเงินทุกเดือนเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เดือนละ 1,500-3,000 บาท ซึ่งแยกต่างหากจากค่าเช่าห้อง ค่าเก็บขยะ รวมทั้งต้องจ่ายเงินที่เรียกว่าค่าน้ำชาอีกปีละ 3-4 หมื่นบาท มากว่า 10 ปี แต่เมื่อโดนหน่วยงานต่างๆ เข้าจับกุมดำเนินคดีอีก ก็เริ่มมีคำถามว่าเงินพวกเขาไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ดำเนินการ
จุดเริ่มต้นของตลาดโรงเกลือมาจากการลักลอบขายของบริจาคให้กับชาวกัมพูชาอพยพในลักษณะตลาดมืด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2518 ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลไทยจึงเปิดตลาดชายแดน ชื่อว่าตลาดโรงเกลือ ขายสินค้ามือสองจากกัมพูชา โดยเฉพาะเสื้อผ้า พ่อค้าจากต่างจังหวัดจึงหลั่งไหลเข้ามาซื้อเพื่อนำไปขายต่อ ตลาดโรงเกลือจึงเติบโตแบบก้าวกระโดด
ต่อมาในปี 2541 สงครามภายในกัมพูชายุติลงโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชาด้าน อ.อรัญประเทศ เติบโตแบบก้าวกระโดด สินค้ามือสองของตลาดโรงเกลือมีไม่พอขาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาจำหน่ายและเป็นปัญหายืดเยื้อจนถึงขณะนี้
การเข้มงวดปราบปราม ล้างภาพลักษณ์แง่ลบของตลาดโรงเกลือ จะทำได้จริงจังแค่ไหน ยังต้องติดตามต่อไป