posttoday

ร้านอาหารไทย บุกไต้หวันก่อนไปจีน

04 มกราคม 2560

“ไต้หวัน” นับเป็นอีกตลาดส่งออกที่น่าสนใจในเวลานี้ เห็นได้จากในช่วง 9 เดือนของปี 2559 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้อยู่

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

“ไต้หวัน” นับเป็นอีกตลาดส่งออกที่น่าสนใจในเวลานี้ เห็นได้จากในช่วง 9 เดือนของปี 2559 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้อยู่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร แม้จะมีจำนวนประชากรเพียงแค่ 23 ล้านคน แต่ชาวไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงถึง 2.01 หมื่นเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนใช้จ่ายในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มมากถึง 22% ของรายได้ทั้งหมด และมักนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านจนเป็นวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่จะขยายตลาดไป

นันท์นที วิบูลชุติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ประเทศไต้หวัน กล่าวว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจไต้หวันจะค่อนข้างชะลอตัว แต่ธุรกิจร้านอาหารยังคงมีความคึกคักอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงวัยทำงานที่มีบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ชาวไต้หวันยังนิยมบริโภคอาหารไทยไม่น้อย ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะร้านอาหารไทยในไต้หวันส่วนใหญ่เป็นหนึ่งในแหล่งที่ชาวไต้หวันนิยมนัดเลี้ยงและสังสรรค์ระหว่างญาติมิตร รวมทั้งยังเป็นแหล่งในการเจรจาธุรกิจด้วย ปัจจุบันร้านอาหารไทยในไต้หวันมีอยู่ราว 1,200 แห่ง และ 2 ใน 3 ของร้านอาหารไทยในไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ

นันท์นที ให้ข้อมูลเชิงลึกอีกว่า การใช้จ่ายในร้านอาหารและเครื่องดื่มในกรุงไทเป ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงและเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากที่สุด โดยข้อมูลจากศูนย์ติดตามการใช้บัตรเครดิตล่าสุด ระบุว่า มีการใช้บริการบัตรเครดิตในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 7.44 ล้านรายการ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,833 เหรียญไต้หวัน/คน ขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มผู้ชายจะเน้นใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเดินทางมากกว่า

“ไต้หวัน เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มร้านอาหารที่จะเข้าไปลงทุน เพราะยังเปิดกว้าง และร้านอาหารไทยก็เป็นตัวเลือกของร้านอาหารต่างชาติอันดับต้นๆ ในไต้หวัน โดยเฉพาะ
ผู้บริโภคในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะจับจ่ายในร้านอาหารที่มีความแปลกใหม่” นันท์นที กล่าว

สำหรับกลยุทธ์การขยายตลาดในไต้หวันนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทยที่สนใจ ควรจะต้องเน้น 3 ประการ ได้แก่ 1.การสร้างจุดเด่นที่แตกต่างจากผู้อื่นให้ได้ เช่น การมีมาตรฐานรับรองคุณภาพ มีการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความพิเศษ มีรูปแบบการตกแต่งร้านที่แปลกใหม่ และการเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกได้ เช่น เลือกรสชาติหรือเครื่องปรุงได้ตัวเอง

2.ความสะดวก หมายถึง ประหยัดเวลา พกพาสะดวก รับประทานได้ทุกเวลา ปริมาณพอเหมาะ มีการออกแบบภาชนะหรือแพ็กเกจที่ทันสมัยและโดดเด่น และ 3.สุขอนามัยของอาหาร หมายถึง อาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ สอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับตามที่รัฐบาลกำหนด

นอกจากนี้ การที่การท่องเที่ยวไต้หวัน เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและผู้บริโภคมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เชนร้านอาหารชื่อดังและโรงแรมระดับห้าดาวหลายแห่งเล็งเห็นศักยภาพของตลาดไต้หวัน จึงเริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยระดับห้าดาวที่สนใจจะขยายธุรกิจมายังไต้หวัน ด้วยการสร้างความร่วมมือกับโรงแรมห้าดาวเหล่านี้เพื่อกลายมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจต่อไป

ขณะที่แนวโน้มการบริโภคในตลาดไต้หวันจะเห็นว่า คนไต้หวันให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น และนิยมใช้วัตถุดิบที่ให้แคลอรีต่ำ รวมทั้งบริโภคอาหารที่รสชาติไม่จัด ซึ่งไต้หวันเองก็มีห่วงโซ่อุปทานของกลุ่มอาหารอินทรีย์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ร้านอาหารที่เน้นการขายอาหารเพื่อสุขภาพเป็นแนวทางการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการไทย และเนื่องจากรัฐบาลไต้หวันเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นในธุรกิจร้านอาหารได้ 100% ผู้ประกอบไทยจึงมีทางเลือกในการเข้าสู่ตลาดได้ทั้งในแบบลงทุนโดยตรงหรือแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรท้องถิ่น

ที่สำคัญตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาเที่ยวไต้หวันเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นแหล่งประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปากที่มีศักยภาพ เนื่องจากคนจีนจะรับอิทธิพลจากไต้หวันได้ง่าย เพราะมองว่า คนไต้หวันเป็นกลุ่มคนจีนระดับบน ทำให้ร้านอาหารหรือแฟรนไชส์ชื่อดังในไต้หวันมักจะเป็นที่รู้จักในจีนด้วย

ดังนั้น ความสำเร็จจากการประกอบธุรกิจในไต้หวันจะส่งผลให้การเข้าสู่ตลาดจีนทำได้ง่ายขึ้นด้วย