posttoday

มองสถานการณ์เต่าทะเลจากเมียนมาถึงไทย

06 มกราคม 2562

เรื่อง : พริบพันดาว

เรื่อง : พริบพันดาว

ภาพ : เอเอฟพี 


ภาพเจ้าหน้าที่อนุรักษ์กำลังยืนดูเต่าตนุ หรือเต่าทะเลเขียวที่กำลังหันหัวกลับสู่ทะเลหลังจากขึ้นมาวางไข่บนชายหาดธามีห์ลา ไข่เหล่านี้จะฟักตัวในอีก 50-60 วันต่อมา

อันตรายที่คุกคามชีวิตแรกเกิดของเหล่าเต่าในเมียนมา ถ้าปูทะเลไม่มาจัดการเสียก่อน เหล่าเต่าน้อยเหล่านี้ก็จะเบียดเสียดตะกายแย่งกันจากหาดเพื่อกลับสู่ทะเล ยังมีนักตกปลา ชาวประมงชายฝั่งที่ลักลอบลากอวนอย่างผิดกฎหมายที่จับเต่าทะเลเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นภัยคุกคาม รวมถึงการระเบิดปลา และการขุดลอกทรายอย่างผิดกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งอันตรายร้ายแรง และส่งผลให้เกิดมลพิษทางทะเล ในขณะที่ถิ่นอยู่อาศัยก็ถูกทำลายจากภาวะโลกร้อน

มองสถานการณ์เต่าทะเลจากเมียนมาถึงไทย

แนวชายฝั่งเมียนมาซึ่งมีระยะทางกว่า 2,831 กม. เลียบทะเลอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงเมียนมาระบุว่ามีสถานที่สำหรับเต่าทะเลวางไข่ตามธรรมชาติอยู่ 51 แห่งในรัฐยะไข่ เขตอิรวดี และตะนาวศรี และมีเต่าทะเลอยู่ถึง 5 สายพันธุ์ คือ เต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน จากทั้งหมดที่มีอยู่ทั้งโลก 7 สายพันธุ์ รวมถึงเหยี่ยวทะเลที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย

สำหรับเต่าตนุก็อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน เต่าทะเลพวกนี้เมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวมากกว่า 1 เมตร และหนักประมาณ 150-300 กิโลกรัม พวกมันวางไข่ราว 100 ใบ ลงในหลุมที่ขุดด้วยครีบขาคู่หลัง ก่อนใช้ทรายกลบรัง และกลับลงน้ำ เต่าที่ฟักออกจากไข่ทุก 1,000 ตัว มีเพียงแค่ 2 ตัว ที่อยู่รอดจนโตเต็มวัย

ย้อนกลับไปในปี 2549 กรมประมงเมียนมาได้จัดตั้งโครงการปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อจัดการและอนุรักษ์เต่าทะเล ดำเนินการเพื่ออนุรักษ์เต่าทะเลในปี 2529 และได้ห้ามการบริโภคเนื้อและไข่เต่าในปี 2536 หลังจากนั้นความพยายามเพื่อการอนุรักษ์ก็ได้มีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเมียนมาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่กับศูนย์พัฒนาการประมงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2540

มองสถานการณ์เต่าทะเลจากเมียนมาถึงไทย

สำหรับสถานการณ์เต่าทะเลในประเทศไทย ปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีการล่าเต่า หรือเก็บไข่เต่ากินเป็นอาหารเหมือนในสมัยก่อน การหายไปของเต่าทะเลทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากการล่าโดยตรง แต่มีมหันตภัยในรูปแบบแพขยะทะเล

เต่าทะเลจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ โดยมีผลครอบคลุมไปถึงไข่ ซาก ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ นอกจากนี้ ยังถูกจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์พืชป่า และสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

ประเทศไทยพบเต่าทะเล 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน เช่นเดียวกับเมียนมา ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ดำเนินการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเต่าทะเล แม้ว่าจะพบการแพร่กระจายของเต่าทะเลในประเทศไทยจำนวน 5 ชนิด แต่พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า ซึ่งพบวางไข่เฉพาะชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ของฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

มองสถานการณ์เต่าทะเลจากเมียนมาถึงไทย

ส่วนเต่าตนุ และเต่ากระ มักพบวางไข่บนชายหาดของเกาะต่างๆ ทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญมีเหลือเพียง 10 แห่ง โดยมีแหล่งวางไข่ใหญ่ที่สุดที่บริเวณหมู่เกาะคราม รองลงมาเป็นหมู่เกาะสิมิลัน เต่าทะเลวางไข่ทุกๆ 1-3 ปี ในแต่ละฤดูกาลเต่าทะเลสามารถขึ้นวางไข่มากถึง 10 ครั้ง ทุกๆ 12 วัน โดยวางไข่เฉลี่ย 100 ฟอง/ครั้ง

ขยะทะเลนับเป็นสาเหตุของการเกยตื้นซึ่งมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลที่กลืนขยะและเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหารมีร้อยละ 2-3 แต่หากนับจำนวนของการเกยตื้นที่มีขยะทะเลเกี่ยวพันภายนอก โดยเฉพาะขยะจำพวกอวน ซึ่งพบมากในเต่าทะเลจะมีเปอร์เซ็นต์การเกยตื้นจากสาเหตุขยะสูงถึง 20-40%

ทั้งนี้ เป็นเพราะการแจ้งข่าวสารการเกยตื้นที่สะดวกและความตระหนักในการรับรู้ของชุมชนชายฝั่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถช่วยชีวิตเต่าทะเลได้มากขึ้น ที่สำคัญ ตอนนี้ประเทศไทยมีศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงบ่อพักฟื้น และรถช่วยชีวิต

รวมถึงมีการจัดทำคู่มือปฏิบัติการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น และหลักสูตรฝึกอบรมการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ให้กับเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์โดยรวมของเต่าทะเลดีขึ้น