posttoday

ไขข้อข้องใจทำไมลงคะแนนให้พรรคเผด็จการ

26 มีนาคม 2562

วิเคราะห์ทฤษฎี Voting for Autocracy เมื่อประชาธิปไตยไว้ใจอำนาจนิยม

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ปรากฎการณ์การเทคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนถึงพลังเงียบที่ไม่ได้แสดงออกผ่านโลกโซเชียล และยังแสดงให้เห็นว่ายังมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนมากไว้ใจพรรคการเมืองที่มาจากสายทหารและเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาไว้ใจ "เผด็จการในคราบนักการเมือง" แทนที่จะคิดต่อต้านอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เคยเกิดกับเม็กซิโก ในยุคที่พรรคปฏิวัติสถาบัน หรือ Institutional Revolutionary Party (PRI) ครองอำนาจยาวนานถึง 71 ปี ระหว่างปี 1929 - 2000

ในช่วงเวลา 71 ปีภายใต้การนำของ PRI เม็กซิโกอยู่ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม มีผู้นำเผด็จการสายทหารที่ลงมาเล่นการเมือง แม้จะมีลักษณะแบบเผด็จการ แต่พรรคนี้กลับได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จนชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า การเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่ได้จัดขึ้นพอเป็นพิธี แต่ผลที่ออกมาสะท้อนความต้องการของประชาชน ที่อยากให้ผู้นำเผด็จการซ่อนรูปนักการเมือง ได้บริการปกครองประเทศต่อไป

คำถามก็คือทำไมชาวเม็กซิโกจึงทนเลือกพรรคแบบนี้อยู่ได้นานถึง 7 ทศวรรษ และประสบการณ์ของเม็กซิโกจะช่วยชี้ทางบางอย่างให้กับประเทศไทยได้หรือไม่?

ไขข้อข้องใจทำไมลงคะแนนให้พรรคเผด็จการ การประชุมสภาเม็กซิกันปี 1917

พรรค PRI มีต้นกำเนิดเกี่ยวพันกับทหารโดยตรง ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนักปฏิวัติ หลังการปฏิวัติเม็กซิกันสิ้นสุดลงในปี 1920 โดยมีการตั้งพรรคในปี 1929 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหาร หรือนักเคลื่อนไหวสายบู๊ในขบวนปฏิวัติมาก่อน หลังจากนั้นพรรคนี้มีการเปลี่ยนชื่อ 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ในปี 1946 เปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน และเป็นช่วงเวลาที่เม็กซิโกรุ่งเรืองที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็น "ความมหัศจรรย์ของเม็กซิโก" (Mexican Miracle) เศรษฐกิจเติบโต เงินเฟ้อต่ำ และประเทศร่ำรวยจากการขายน้ำมัน แม้ว่ารัฐบาล PRI จะมีปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง และมีความเป็นอำนาจนิยมสูง แต่เพราะเศรษฐกิจที่ดีสุดขีด ทำให้ประชาชนยอมให้พรรคนี้มีอำนาจต่อไป

การที่พรรค PRI มีอำนาจอยู่ได้นานถึง 71 ปี ไม่ใช่เพราะใช้กระบอกปืนจี้หัวประชาชน แต่เพราะสิ่งที่เรียกว่า electoral autocracies หรืออำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง เป็นทฤษฎีที่ถูกเสนอขึ้นมาโดยเบอาทริซ มากาโลนี ผู้เขียนหนังสือ Voting for Autocracy: Hegemonic Party Survival and its Demise in Mexico (โหวตเพื่ออำนาจนิยม: การเอาตัวรอดและความล่มสลายของพรรคการเมืองผูกขาดในเม็กซิโก)

มากาโลนี ชี้ว่า รัฐบาลอำนาจนิยมเผชิญกับความลักลั่น 2 ประการ คือ อย่างแรกต้องบั่นทอนฝ่ายค้านไม่ให้เป็นเสี้ยนหนาม อย่างที่สอง จะต้องยึดกุมความภักดีของมวลชนเอาไว้ นอกจากนี้ยังต้องสลายความต่าง เกลี่ยผลประโยชน์ในกลุ่มแกนนำพรรคเพื่อรักษาอำนาจไว้อย่างมั่นคง

ไขข้อข้องใจทำไมลงคะแนนให้พรรคเผด็จการ ปลูตาร์โก้ เอลิอัส กัลเยส ประธานาธิบดีคนที่ 40 และผู้ก่อตั้งพรรค PRI

วิธีการดึงเสียงสนับสนุนจากประชาชน คือการทำให้ประชาชนได้ตระหนักว่า หากพรรครัฐบาลดอำนาจนิยมไม่ได้รับเลือกตั้งให้บริหารประเทศต่อไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเช่นไร ซึ่งโชคดีที่พรรค PRI สามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจได้ยาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ประชาชนเลือกพรรคนี้โดยไม่เทใจให้พรรคฝ่ายค้าน แม้แต่บางช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนก็ยังภักดีโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจว่าวิกฤตเกิดขึ้นเพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

มากาโลนี สัมภาษณ์ชาวนาเม็กซิกันเมื่อปี 1994 ซึ่งเขาบอกว่า "ทำไมผมถึงโหวตให้พรรค PRI เพราะมีแต่พรรคนี้เท่านั้นที่ชนะได้ แล้วผมจะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านทำไมถ้าไม่มีทางชนะ?"

อีกสาเหตุหนึ่งคือ ในเวลานั้นพรรครัฐบาลสัญญาจะให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อย หรือ "บัตรคนจน" ดังนั้นคนที่มีรายได้น้อยจึงปักอยู่กับพรรค PRI ส่วนที่ไม่ใช่คนจน ยังถูกผูกดันด้วยมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินของภาครัฐ ทำให้พวกเขาลังเลที่จะเลือกพรรคอื่น และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ electoral autocracies หรืออำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง สามารถดำรงอยู่ได้