รับมือปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายด้วยความร่วมมือรัฐ-เอกชน
โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
ด้วยสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภาคพื้นทวีปของอาเซียน ประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน และอุตสาหกรรม ประกอบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านส่งผลให้เกิดการข้ามแดนของแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยสถิติจากกรมการจัดหางานเมื่อเดือนเมษายน 2562 ระบุว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ได้รับอนุญาตทำงานมีจำนวนทั้งสิ้น 3,091,453 คน เป็นแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวนถึง 2,834,964 คน ขณะที่จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายมีการประเมินจากหลายหน่วยงานว่ามีจำนวนสูงถึงประมาณ 1 ล้านคน
แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายได้สร้างผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ กล่าวคือ แรงงานเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ช่วยเข้ามาเติมเต็มในงานบางประเภทที่คนไทยไม่นิยมทำ หรือที่เรียกว่างาน 3D (dirty, difficult, and dangerous) เช่น แรงงานในภาคการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และงานก่อสร้าง ขณะเดียวกัน การไหลทะลักเข้ามาของแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายก็ส่งผลกระทบในทางลบทั้งในมิติความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม และสาธารณสุข เป็นต้น
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายด้วยมาตรการสกัดกั้นหรือกวาดล้างโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยงานวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายโดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ดังนี้
เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเท็จจริงต่อภาครัฐ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาในการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และควรระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างชัดเจนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในทุกมิติ
กำหนดอุปสงค์และอุปทานของแรงงานข้ามชาติร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในแต่ละรายอุตสาหกรรมเพื่อประเมินความต้องการแรงงานข้ามชาติ และจัดทำเป็นฐานข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ อาทิ การกำหนดอัตราภาษี ค่าธรรมเนียม รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ด้านกำลังคนของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุค Disruptive technology ได้อย่างทันท่วงที
กำหนดอัตราค่าจ้างร่วมกัน ในลักษณะไตรภาคีประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และแรงงาน โดยควรประเมินจากค่าครองชีพและความสามารถของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่มาเป็นเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบททางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป โดยการกำหนดค่าจ้างตามบริบทพื้นที่ยังเป็นการป้องกันมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าลักลอบเข้ามาทำงานในเขตพื้นที่ชั้นในได้
การมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลแรงงานข้ามชาติ ที่ผ่านมาภาครัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ดูแลแรงงานข้ามชาติ ทั้ง ๆ ที่ผลจากการทำงานของแรงงานตกอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลัก จึงควรสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลแรงงานข้ามชาติ ทั้งในด้านของสิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งนอกเหนือจากการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 หรือหากไม่เข้าประกันสังคมผู้ประกอบการสามารถซื้อประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุให้แรงงานข้ามชาติได้เช่นกัน
ร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือซึ่งอาจก่อให้เกิดอุปสรรคหรือความเสียหายในการทำงานได้ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติควบคู่กันไป เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติสู่สังคม แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้นมาจากหลายประเทศซึ่งมีวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการสร้างความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของแรงงานต่างชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคมบนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และยังนำไปสู่ความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนอีกด้วย
การแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของไทยและประชาคมอาเซียนร่วมกันได้อย่างยั่งยืน