posttoday

ทำไมแบรนด์แฟชั่นหรูถึงต้องรีบขอโทษจีนกรณีฮ่องกง

14 สิงหาคม 2562

ชาวเน็ตจีนทรงพลังกดดันจนแบรนด์หรูต้องรีบขอโทษที่บอกว่าฮ่องกงไม่ใช่ของจีน

เรื่องราวเกี่ยวกับฮ่องกงกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับจีน หลังจากการประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 3 กระทั่งตอนนี้ลุกลามไปถึงบรรดาแบรนด์สินค้าหรูจากต่างชาติ หากแบรนด์ไหนมีท่าทีไม่เคารพความเป็นจีนเดียว ก็จะถูกพลังโซเชียลมีเดียของจีนร่วมใจกันแบน หนำซ้ำคนดังหลายคนยังประกาศไม่ร่วมงานด้วย จนทางแบรนด์ต้องชี้แจงเป็นการด่วน

ระลอกนี้เจ้าแรกที่ขอโทษชาวจีนก็คือ Versace แบรนด์แฟชั่นหรูจากอิตาลีที่ผลิตเสื้อยืดสกรีนรายชื่อเมืองต่างๆ กำกับด้วยชื่อประเทศ เช่น มิลาน-อิตาลี นิวยอร์ก-สหรัฐ รวมทั้งระบุว่าปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้อยู่ในประเทศจีน แต่กลับลิสต์ให้ฮ่องกงและมาเก๊าซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเป็นทั้งเมืองและประเทศแทนที่จะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ภาพเสื้อเจ้าปัญหาที่ถูกแชร์ว่อนอินเทอร์เน็ตสร้างความไม่พอใจให้ชาวจีนอย่างมากเพราะมองว่าแบรนด์ดังไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของจีน

ทำไมแบรนด์แฟชั่นหรูถึงต้องรีบขอโทษจีนกรณีฮ่องกง

ต่อมา Versace ออกแถลงการณ์ขอโทษเป็นภาษาจีนในเว่ยปั๋ว โดยแจ้งว่าได้เก็บสินค้าที่มีปัญหาออกจากชั้นวางสินค้าและทำลายเรียบร้อยแล้ว และย้ำว่าทางแบรนด์เคารพอำนาจอธิปไตยและดินแดนของจีนอย่างสูง แต่ถึงอย่างนั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากต้องการให้ Versace ขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นด้วย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค

ด้าน ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของ Versace ขอโทษผ่านอินสตาแกรมว่า “ฉันไม่เคยคิดจะหมิ่นอำนาจอธิปไตยของจีน นี่คือเหตุผลที่ฉันต้องขอโทษด้วยตัวเองต่อความผิดพลาดและความไม่สบายใจต่างๆ ที่เกิดจากเสื้อตัวปัญหา”

ขณะที่นักแสดงชื่อดัง หยางมี่ ซึ่งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ชาวจีนคนแรกของแบรนด์หรูจากอิตาลี ขอฉีกสัญญาและยุติการร่วมงานกับ Versace เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลว่าแบรนด์เป็นปฏิปักษ์กับนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลจีน

ทำไมแบรนด์แฟชั่นหรูถึงต้องรีบขอโทษจีนกรณีฮ่องกง

จากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงแบรนด์ดังอื่นๆ ก็ตบเท้าขอโทษเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Coach ของสหรัฐที่ชี้แจงว่า “Coach เคารพและสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและความเป็นจีนเดียวของจีน โดยได้ยุติการขายสินค้าตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้วหลังจากทราบความผิดพลาด” Givenchy ของฝรั่งเศส ระบุในเว่ยปั๋วว่า “ไม่ว่าจะเกิดความผิดพลาดใดๆ เราจะแก้ไขและหามาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน Givenchy เคารพอำนาจอธิปไตยของจีนมาโดยตลอด และจะยึดมั่นในหลักจีนเดียวตลอดไป” ทั้งสองแบรนด์นี้ถูกกระแสแบนจากการสกรีนเสื้อเช่นเดียวกับ Versace

ทำไมแบรนด์แฟชั่นหรูถึงต้องรีบขอโทษจีนกรณีฮ่องกง หลิวเหวิน

หลังภาพเสื้อยืดของ Coach ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ หลิว เหวิน นางแบบชื่อดังชาวจีน ประกาศยุติการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์สัญชาติสหรัฐทันที พร้อมระบุว่า “ขอโทษทุกคนในที่นี้ด้วยที่ความไม่ระมัดระวังในการเลือกร่วมงานกับแบรนด์ดังของฉันทำให้ทุกคนไม่สบายใจ ฉันรักบ้านเกิดของฉันและจะปกป้องอำนาจอธิปไตยของจีนจนถึงที่สุด” ขณะที่ แจ็กสัน อี้ นักร้องดังจากบอยแบนด์ TFBoys ยุติการร่วมงานกับ Givenchy เช่นกัน

Swarovski แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติออสเตรเลีย เป็นรายล่าสุดที่ขอโทษที่เว็บไซต์ของทางแบรนด์ระบุว่าฮ่องกงเป็นอีกประเทศหนึ่งต่างหากจากจีน ในคำชี้แจงเผยว่า “เราเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ทำให้ชาวจีนเสียความรู้สึก Swarovski ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและยินดีจะร่วมกับชาวจีนสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม”
เจียงชูอิ่ง แบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Swarovski ก็เดินตามรอยคนดังในจีนคนอื่นๆ ด้วยการยุติสัญญาเพื่อรักษานโยบายจีนเดียวของประเทศรวมทั้ง เลย์ อดีตสมาชิกบอยแบนด์เกาหลี EXO และเริ่นเจียหลุน หนุ่มหล่อที่รับบทตี๋เหรินเจี๋ยในซีรีส์เรื่อง ตี๋เหรินเจี๋ย นักสืบราชวงศ์ถัง

 

เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่บรรดานักแสดงและคนดังชาวจีนตบเท้าแสดงจุดยืนทางการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่ง สำหรับคนดังแล้ว นอกเหนือจากความรักชาติ การเลือกจุดยืนทางการเมืองอาจหมายถึงความรุ่งเรืองหรือจุดจบของอาชีพของพวกเขา คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลจีนอาจต้องจ่ายค่าตอบแทนอย่างหนัก เช่น เดนิส โฮ นักร้องชาวฮ่องกง ที่สนับสนุนการแยกตัวของฮ่องกงและดาไล ลามะ ผู้นำทางศาสนาของชาวทิเบต ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปแสดงในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งถูกสปอนเซอร์ถอนตัวเนื่องจากถูกลุ่มคนรักชาติกดดันอีกต่อหนึ่ง จึงเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งที่คนดังที่ก่อนหน้านี้จะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองพร้อมใจกันออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้

อย่างไรก็ดี หลังจากแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่พากันตบเท้าขออภัยแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนยังเดินหน้าค้นหาว่ายังมีเว็บไซต์ของแบรนด์ใดบ้างที่ยังระบุว่าฮ่องกง ไต้หัน หรือมาเก๊าเป็นประเทศอยู่บ้าง ทำให้ในเวลาต่อมา Calvin Klein แบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกัน Asics ผู้ผลิตรองเท้ากีฬาของญี่ปุ่น และ Fresh แบรนด์สกินแคร์หรู ต้องรีบออกมาขอโทษและชี้แจงจุดยืนของบริษัทเช่นกัน

เหตุใดแบรนด์ใหญ่ๆ เหล่านี้ต้องให้ความสำคัญกับแรงกดดันจากชาวโซเชียลของจีน

ผู้บริโภคชาวจีนซื้อสินค้าหรูเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดทั่วโลก และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐ หากไม่รีบแก้ไขสถานการณ์ สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านี้จะต้องสูญเสียตลาดจีนซึ่งมีผู้บริโภคมหาศาลที่สุดในโลกและมีกำลังซื้อสูงที่สุดไป รวมทั้งหากปล่อยให้เซเลบริตีหรือแบรนด์แอมบาสเดอร์ชาวจีนหลุดมือไป แบรนด์เหล่านี้จะสูญเสียช่องทางที่จะเชื่อมไปยังผู้บริโภคในโลกออนไลน์ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง ลิซ ฟลอรา จากบริษัทวิจัยด้านการตลาดดิจิทัล L2 เปรียบเทียบการเสียแบรนด์แอมบาสเดอร์สัญชาติจีนว่าเป็น “จูบแห่งความตาย” สำหรับการมีตัวตนในโลกโซเชียลของแบรนด์เลยทีเดียว