เปิดแผนสงครามไร้ขีดจำกัด เมื่อจีนพบจุดอ่อนของสหรัฐ
เบื้องหลังที่ทำให้ที่ปรึกษาของทรัมป์เขียนหนังสือยุทธศาสตร์ร้อยปีของจีน เขาเอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน นั่นคือ สงครามไร้ขีดจำกัด (Unrestricted Warfare) โดยกรกิจ ดิษฐาน
แผนการ 100 ปีของจีนที่จะเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐ ตอนที่ 2 เบื้องหลังที่ทำให้ที่ปรึกษาเรื่องจีนของทรัมป์เขียนหนังสือยุทธศาสตร์ร้อยปีของจีน เขาเอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน นั่นคือ สงครามไร้ขีดจำกัด (Unrestricted Warfare) โดยกรกิจ ดิษฐาน
สงครามไร้ขีดจำกัด เขียนโดยเฉียวเหลียง พลตรีในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนและนักทฤษฎีทางการ กับหวางเซียงซุ่ย ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหัง อดีตพันเอกในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 1999 มีเนื้อหาว่าด้วยวิธีการที่ประเทศหนึ่งๆ จะโค่นประเทศมหาอำนาจลง แม้จะไม่เอ่ยว่าประเทศไหนจะโค่นใคร แต่ที่สหรัฐตีความไปเรียบร้อยแล้วว่าหมายถึงจีนจะโค่นสหรัฐ และหนังสือเล่มนี้คือพิมพ์เขียว
มีรายงานจากแหล่งที่ไม่ยืนยันระบุว่า กองทัพเรือสหรัฐได้ขออนุญาตผู้เขียนแปลหนังสือส่วนหนึ่ง และเผยแพร่ทาง FBIS ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มของ CIA
หน้าปกหนังสือฉบับแปล โดย The Institute of World Politics
หัวใจสำคัญของการรบแบบไร้ขีดจำกัดแบบสุดๆ คือการหาวิธีเอาชนะศัตรูที่มีศักยภาพสูงกว่ามาก ในขณะที่เรามีข้อจำกัดเรื่องความแข็งแกร่ง (เช่นจีนซึ่งมีแสนยานุภาพด้อยกว่าสหรัฐมากในแง่เทคโนโลยี) ดังนั้นการรบแบบใช้อาวุธหรือสงครามในรูปแบบจึงไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป หนังสือเล่มนี้เสนอแนวทางที่หลากหลาย ทั้งการโจมตีด้วยองค์กรระหว่างประเทศ การโจมตีด้วยสงครามเศรษฐกิจ การโจมตีออนไลน์ และการก่อการร้าย
โดยเฉพาะการก่อการร้าย หนังสือเล่มนี้พยากรณ์ไว้อย่างแม่นยำตั้งแต่ปี 1999 ว่า สหรัฐจะเผชิญกับการโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นการโจมตีที่ต้นทุนต่ำแต่ผลลัพธ์สูง เช่น การโจมตีสหรัฐส่งผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หนังสือบอกว่า "ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีของแฮ็กเกอร์ การระเบิดครั้งใหญ่ที่ World Trade Centre หรือการโจมตีด้วยระเบิดโดยบินลาเดน การโจมตีทั้งหมดเหล่านี้จะเกินกว่าที่ศักยภาพทางทหารของสหรัฐจะรับไหว"
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนะนำให้นักเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ได้อ่าน แต่กลับกลายเป็นว่าพวกสายเหยี่ยวในสหรัฐเห็นว่าตำรานี้เป็นพิมพ์เขียวของจีนที่จะใช้ทำลายสหรัฐ และยังเชื่อว่าจีนยินดีที่สหรัฐถูกโจมตี และยังอาจเป็นวิธีการที่จีนชี้โพรงให้กระรอก บอกจุดอ่อนของสหรัฐให้ศัตรูได้โจมตี เช่น The Institute of World Politics (สถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงในวอชิงตัน) ที่อ้างว่า ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน เอาแต่ชมภาพของเครื่องบินที่พุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความชื่นชมยินดี
เฉียวเหลียง พลตรีในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ภาพจากกระทรวงกลาโหมจีน
เราจะเห็นได้ว่า วิธีคิดของสายเหยี่ยวในวอชิงตัน ตั้งแต่ไมเคิล พิลส์บิวรีจนถึงคนในสถาบัน The Institute of World Politics มองจีนว่ามีพฤติกรรม "ชั่วร้าย" ขณะที่เราเองยังยืนยันไม่ได้ว่าข้อมูลพวกนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่เมื่อออกจากปากคนเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นการป้อนข้อมูลชั้นเลิศเข้าเพื่อสร้างความหวาดกลัวต่อจีนในหมู่ชาวอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสรุปโดย FBIS ระบุว่า ช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกมานั้น คือช่วงที่เกิดสงครามในโคโซโว และสหรัฐทิ้งระเบิดลงผิดจุดลงใส่สถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ซึ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐอย่างรุนแรง บวกกับการเผชิญหน้าในประเด็นไต้หวัน ทำให้ช่วงนี้มีหนังสือเกี่ยวกับการทำสงครามออกมาวางจำหน่ายในจีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงหนังสือเรื่องสงครามไร้ขีดจำกัดด้วย ดังนั้นเราจะเห็นว่าท่าทีเชิงบู๊ของจีนมีที่มาที่ไป
เนื้อหาโดยสรุปของหนังสือสงครามไร้ขีดจำกัด ที่เผยแพร่โดย FBIS ชี้ถึงจุดอ่อนของสหรัฐต่อการรบนอกแบบ แม้ว่าสหรัฐจะมีแสนยานุภาพด้านเทคโนโลยีอย่างมหาศาล แต่กลับรับมือการรบแบบกองโจรไม่ได้ เช่น ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก สหรัฐอวดศักดาด้วยการใช้อาสวุธที่ผสานเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร แต่แล้วในสมรภูมิที่โซมาลีกลับพ่ายแพ้ยับเยิน ภาพของทหารอเมริกันถูกลากไปตามท้องถนนในเมืองโมกาดิชชู บั่นทอนกำลังใจของคนอเมริกันอย่างยิ่ง การรบนอกแบบลักษณะนี้เองที่จีนเรียกว่า "สงครามไร้ขีดจำกัด"
หวางเซียงซุ่ย ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเป่ยหัง ภาพจากกระทรวงกลาโหมจีน
"สงครามไร้ขีดจำกัด หมายถึงวิธีการใดๆ ที่พร้อมสำหรับใช้ ข้อมูลที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง สนามรบมีอยู่ทุกหนทุกแห่งและเทคโนโลยีหนึ่งๆ อาจจะนำมามารวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้ และเส้นแบ่งของสงครามและที่ไม่ใช่สงครามและระหว่างทหารและ กองกำลังที่ไม่ใช่ทหาร ได้ถูกลบออกไปอย่างเป็นระบบ" (หน้า 6-7)
หนังสือยกตัวอย่างการรบที่อยู่นอกเหนือการแข่งการสร้างอาวุธ เช่น การรบที่โซมาลีที่พวกกองโจรโลวเทคสามารถก่อกวนกองทัพไฮเทคของสหรัฐได้ "กองทัพไฮเทคประสบความยากลำบากในการรบกับสงครามนอกระบบ และศัตรูที่รบในสงครามโลว์เทค" (หน้า 17 - 18)
ผู้เขียนชี้ว่า การแข่งขันด้านอาวุธทำให้สหภาพโซเวียตล้มละลาย เพราะการเป็นมหาอำนาจจะต้องใช้ทุนรอนมหาศาล ทำให้สภาพโซเวียตล่มสลายโดยที่สหรัฐไม่ต้องเปลืองกระสุนเลยสักนัดเดียว แต่สหรัฐก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน อาวุธรุ่นใหม่ๆ ยิ่งใช้งบประมาณในการพัฒนามากขึ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 bomber เครื่องละ 1,300 ล้านดอลลาร์ ทำให้ 1 เครื่องมีราคามากกว่าทองคำน้ำหนักเท่ากับเครื่องบินรุ่นนี้ถึง 3 เท่า
แนวคิดนี้สามารถเตือนสติจีนได้อย่างดี เพราะแสนยานุภาพของจีนยังห่างชั้นกับสหรัฐมาก แต่การระบบไร้ขีดจำกัด ไม่จำเป็นต้องแข่งกันสั่งสมอาวุธอีก ประเด็นก็คือ สหรัฐยังไม่ทันรบกับจีน แต่ต้องมารบกับกลุ่มก่อการร้ายเสียก่อน
กองกำลังติดอาวุธในโซมาลี ภาพโดย CT Snow from Hsinchu, Taiwan
อเมริกันอาจจะเก่งในเรื่องอาวุธแนวใหม่ แต่อาวุธแนวใหม่ไม่เหมือนกับแนวคิดใหม่เรื่องอาวุธ แนวคิดใหม่เรื่องอาวุธ (New weapons concepts) คือการใช้วิธีการอะไรก็ได้ในการทำสงคราม สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติก็อาจใช้เป็นอาวุธทำลายมนุษยชาติได้เช่นกัน ด้วยแนวคิดนี้ ไม่มีอะไรในโลกที่จะใช้เป็นอาวุธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น "การจงใจให้ตลาดหุ้นพังพินาศ การโจมตีด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ การทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศศัตรูเกิดความผิดปกติ หรือการปล่อยข่าวลือในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับผู้นำของประเทศศัตรู ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดใหม่เรื่องอาวุธได้ทั้งสิ้น" (หน้า 21 - 22)
"วิธีคิดแบบใหม่นี้ ทำให้อาวุธถูกดึงเข้าสู่ชีวิตประจำวันของพลเรือน แนวคิดใหม่เรื่องอาวุธทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารยังจินตนาการไม่ออก ทั้งทหารและพลเรือนต่างรู้สึกหวาดหวั่นที่เห็นวัตถุในชีวิตประจำวันของพวกเขากลายเป็นอาวุธที่สามารถนำมาโจมตีและสังหาร" (หน้า 21 - 22)
ข้อความนี้เหมือนจะเป็นการทำนายสงครามก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐหลังจากนั้นอีก 3 ปี แทนที่สหรัฐจะทึ่งกับการพยากรณ์นี้ กลับมองว่าจีนชี้โพรงให้ผู้ก่อการร้ายพบวิธีการเจาะจุดอ่อนของสหรัฐ ดังที่ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ชื่อหนังสือไว้ว่า "สงครามไร้ขีดจำกัด แผนการใหญ่ของจีนที่จะทำลายอเมริกา" (Unrestricted Warfare: China’s master plan to destroy America)
โมเดลเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงของจีน Photo by WANG ZHAO / AFP
บางคน เช่นโทนี คอร์น อดีตนักการทูตของสหรัฐและขณะนี้ประจำยู่ที่ Hoover Institution มองว่าจีนใช้วิธีรบโดยไม่รบ นั่นคือนโยบายการผงาดโดยสันติ (Peaceful Rise) เป็นฉากหน้า ส่วนเบื้องหลังคือการใช้สงครามไร้ขีดจำกัดจัดการกับศัตรู
หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองที่แหลมคมหลายเรื่อง แต่เราจะต้องไม่ลืมว่านับแต่ปี 1999 ถึงปี 2019 โลกได้เปลี่ยนไปมากมาย เช่น การรบนอกแบบถูกจัดการได้ง่ายขึ้นมากด้วยเทคโนโลยีโดรน ทว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เราเพิ่งจะเห็นโดรนโลว์คอสต์จากอิหร่านหยุดยั้งกำลังการผลิตน้ำมันถึง 5% ของโลกไปต่อหน้าต่อตา นั่นแสดงว่าสิ่งที่หนังสือวิเคราะห์ได้เมื่อ 20 ปีก่อนก็ยังเป็นจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนายเหตุการณ์ 9/11 และการรบของกลุ่มก่อการร้าย และการที่สหรัฐจะเริ่มมองเห็นจุดอ่อนของตัวเอง และใช้แท็คติกจากหนังสือเล่มนี้หันมาเล่นงานจีน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)