posttoday

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

05 พฤษภาคม 2563

เมืองไทยนั้นเจริญมาได้เพราะขายข้าวมาก่อน แต่ผ่านมาเป็นร้อยปีนับแต่เปิดตลาดข้าวไปสู่ชาวโลก ชีวิตชาวนาก็ยังไม่เจริญสักที

ผู้เขียนคิดมาเสมอว่า เมืองไทยเราจริงจังกับการเป็นผู้ส่งออกข้าวติดอันดับโลก แต่ไม่สนใจที่จะทำให้ชาวนารวยที่สุดในโลก พอตกอันดับชาติส่งออกก็ทุนรนทุราย แต่กับเรื่องปัญหาชาวนาไม่ค่อยใส่ใจนัก

เมืองไทยนั้นเจริญมาได้เพราะขายข้าวมาก่อน แต่ผ่านมาเป็นร้อยปีนับแต่เปิดตลาดข้าวไปสู่ชาวโลก ชีวิตชาวนาก็ยังไม่เจริญสักที

ความบิดเบี้ยวที่ว่านี้เกิดจากอะไร?

ผู้เขียนลองพลิกงานวิจัยจากต่างประเทศดู พอจะเห็นคำตอบรางๆ แม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่ทำให้มองเห็นมุมมองจากการศึกษาปัญหาโดยคนต่างชาติได้ จึงขอสรุปคร่าวๆ ดังนี้

1. แต่ก่อนคนไทยปลูกข้าวเอง สีเองกินเอง ไม่ค่อยมีหนี้ จนกล่าวกันว่าใครซื้อข้าวกินถือว่าขี้เกียจและเป็นพวกที่อยากทำให้ราคาข้าวต่ำ กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 เปิดตลาดส่งออกข้าว มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวด้วยการลดภาษีที่ดินซึ่งไทยต่ำที่สุดในเอเชีย สภาพดินฟ้าก็เอื้อกับการปลูกข้าวอย่างมาก แต่ผลผลิตต่ำอย่างเหลือเชื่อ เพราะการจัดการชลประทานและที่ดินไม่ดี แถมระบบค้าขายยังให้เอกชนนำ รัฐบาลแทบไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

2. เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนพม่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด มีสภาพดินฟ้าเหมือนไทย แต่ระบบชลประทานดีกว่ามาก (เพราะอังกฤษสร้างให้) ทำให้ผลผลิตสูงแซงไทย ส่วนไทยมีการเสนอโครงการชลประทานใหญ่ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ล้มไปเกือบหมด เหลือแค่โครงการเล็กๆ ทุกวันนี้ข้าวไทยไม่ได้แข่งกับพม่า แต่ยังต้องแข่งกับเวียดนามแบบหายใจรดต้นคอกัน เพราะเรายังไม่ทันเรื่องเพิ่มผลผลิต และชลประทานไม่ครอบคลุม (ปัญหาเดิมๆ)

3. ประมาณปีพ.ศ. 2460 กว่าๆ ชาวนาผูกติดกับโรงสีของคนจีนกับฝรั่งแบบเต็มตัว จีนในไทยส่งออกข้าวไปเอเชียบูรพา มาลายา สิงคโปร์ ฝรั่งส่งออกข้าวไปยุโรปกับอเมริกา "คนไทยปลูกอย่างเดียว" ตอนหลังโรงสีเป็นของคนเชื้อสายจีน 90% ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น สมัยนั้นรัฐบาลพยายามจะแทรกแซงการผูกขาดของโรงสี แต่ทำได้นิดหน่อย เช่นตั้งสหกรณ์ ซึ่งหลักการดีแต่ผลสัมฤทธิ์จิ๊บจ๊อย และทุกวันนี้ก็ยังอีหรอบเดิม

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

4. หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพ.ศ. 2475 เพราะกลัวการผูกขาดคณะราษฎรจึงตั้งบริษัทข้าวไทย ได้โรงสีข้าวของคนจีน 10 โรงใหญ่มาจัดการ ซึ่งได้ผลพอควร แต่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยถูกบังคับให้ขายข้าวราคาถูกมากให้อังกฤษผู้ชนะสงคราม (โทษฐานร่วมมือกับญี่ปุ่น) ทั้งๆ ที่ตอนนั้นความต้องการข้าวในตลาดโลกสูงมาก แต่ไทยขายแล้วเข้าเนื้อ แถมรัฐบาลยังผูกขาดการค้าข้าวเพื่อเอาไปประเคนให้อังกฤษ 1.5 ล้านตัน ชาวนากับคนกินตายหยังเขียด ดีที่มีตลาดมืดมาช่วยไว้

5. รัฐบาลเลิกผูกขาดการส่งออกข้าวอย่างเด็ดขาดในปีพ.ศ. 2498 แต่กลับเก็บค่าพรีเมี่ยมค้าข้าวจากผู้ส่งออก ซึ่งมีปัญหาฉ้อราษฏร์บังหลวงอย่างเลวร้าย แถมยังทำให้ราคาข้าวต่ำสำหรับผู้บริโภค เพราะข้าวราคาถูกมีความสำคัญต่ออำนาจทางการเมือง สุดท้ายพวกพ่อค้าก็ไปกดราคาเอาจากชาวนา เพื่อที่จะเจียดเงินมาจ่ายพรีเมี่ยมให้รัฐ ต่อมานับแต่ช่วงพ.ศ. 2520 เป็นต้นมาประเทศที่เราเคยขายข้าวให้เริ่มพัฒนาการเกษตร ทำให้การส่งออกลดลง ไทยจึงเลิกพรีเมี่ยม แต่ชาวนาก็ยังแย่เหมือนเดิมเพราะ "พ่อค้าคนกลาง"

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

6. นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 คนกลางเริ่มมีบทบทาทซื้อข้าวจากชาวนาไปขายโรงสี บางครั้งข้าวราคาดีโรงสีจะไปซื้อกับชาวนาเอง แต่เวลาส่งมาบางกอกเพื่อไปขายเมืองนอก ต้องผ่านคนกลางอยู่ดี นักวิชาการฝรั่งบอกว่าปัญหาเกษตรกรรมไทยคือระบบที่ผูกติดกับคนกลาง และคนกลางไม่ใช่แค่ซื้อผลผลิต แต่ยังปล่อยกู้ กว้านซื้อทีดินมาปล่อยเช่าทำนา ประสานงานนำเข้าส่งออก ฯลฯ

7. ส่วนชาวนาไม่มีความรู้เรื่องกลไกราคากับตลาดและขาดกระแสเงินสด จึงต้องพึ่งคนกลาง ยิ่งชาวนาต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ไม่มีอะไรจำนองต้องผูกผลผลิตเป็นค่าใช้หนี้ให้คนกลาง ผลผลิตที่ขายก็ขายในฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเมื่อราคาต่ำก็คนกลางก็ยิ้มอีก แต่ชาวนาขมขื่น เวียนเป็นวงจรอุบาทว์ ในปีพ.ศ. 2481 ที่ปรึกษากระทรวงการคลังประเมินว่า 50% ของราคาข้าวส่งออกเป็นต้นทุนเกี่ยวกับพ่อค้าคนกลาง โรงสี และนายหน้าส่งออก แต่คนที่ได้ส่วนแบ่งมากที่สุดคือคนกลาง ทุกวันนี้ก็ยัง ....เหมือนเดิม

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

8. แต่จะไปโทษคนกลางก็ไม่ได้ เขาตั้งเงินกู้มีดอกเบี้ยสูงเพราะความเสี่ยงที่จะปล่อยเงินให้ชาวนามันสูง โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่มีสินทรัพย์จำนองแล้ว มีแต่ตัวกับแรงทำนาในที่ของคนอื่น คนกลางก็เลยถูกมองเป็นผู้ร้ายไป ทั้งๆ ที่ทำตามระบบตลาด (ที่รัฐสนับสนุน) และต้องแบกรับความเสี่ยงแทนชาวนา โดยเฉพาะต้นทุน อีกเรื่องคือการให้การศึกษากับชาวนาเรื่องธุรกิจ อันนี้จำเป็นมาก เพราะไทยส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลก คนกลางกับโรงสีฟันกำไรกันสนุก แต่ชาวนาไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลย

จนกล่าวได้ว่ารัฐปล่อยให้การส่งออกเป็นตัวชี้นำนโยบายข้าว ไม่ใช่ความอยู่ดีกินดีของชาวนา

9. การเริ่มขายปลีกข้าวด้วยตนเองเป็นการริเริ่มที่ดี แต่ขาดการรวมพลังสร้างอำนาจต่อรอง ส่วนคนเมืองที่จะช่วยก็ไม่รู้จะฮิตๆ เลิกๆ หรือเปล่า และโครงสร้างใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เกรงว่าจะเจอตอจากผู้มีอิทธิพลในตลาด รัฐบาลจึงต้องเป็นที่พึ่งอย่างยิ่งให้ชาวนา แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีช่วยชาวนาเสียที

บทความโดยกรกิจ ดิษฐาน

ทำไมชาวนาไทยถึงยากจนข้ามศตวรรษ?

หนังสืออ่านประกอบ

  • Economic Change in Thailand, 1850-1970 โดย James C. Ingram
  • A history of rice policies in Thailand โดย Ammar Siamwalla
  • From Competition to Constraint: The International Rice : Trade in the Nineteenth and Twentieth Centuries โดย A. J. H. Latham
  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ.2484 - โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สมภพ มานะรังสรรค์ บรรณาธิการ
  • สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ. 2423-2473 โดย เดวิด บรูซ จอห์นสตัน ผู้แต่ง, พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม บรรณาธิการแปล