กว่าจะสำนึกก็สายเกินไป บาดแผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม
การปฏิวัติวัฒนธรรมและคำว่ายุวชนแดงถูกพูดถึงกันมากขึ้นในวงเสวนาการเมืองบ้านเรา แต่เหตุการณ์นี้มีความซับซ้อนมาก
การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เป็นช่วงเวลา 10 ปีที่บ้าคลั่งไร้เหตุที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เป็นช่วงเวลาที่คนถูกเข่นฆ่าถูกบีบบังคับถูกประจานในนามของการเมือง ความคิดเก่าๆ วัฒนธรรมเก่าๆ ถูกทำลายย่อยยับในนามของอุดมการณ์ใหม่ จะให้พรรณนาความฉิบหายย่อยยับของการปฏิวัติวัฒนธรรมคงไม่พอแค่บทความเดียว แม้ว่าผู้เขียนจะเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วก็ตาม
การปฏิวัติวัฒนธรรมมีกระบวนการต่อสู้ช่วงชิงที่ยาวนานและซับซ้อนในทางการเมือง แต่ในสนามชีวิตจริงการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองไม่ซับซ้อนไปกว่าการลากตัวคนที่พวกคนหนุ่มสาวมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์สังคมนิยมมากดหัวประจาน ลากมาทุบตี บังคับให้สารภาพความผิดทั้งๆ ที่ไม่ผิด ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้งแต่นับไม่ถ้วน หากเหยื่อไม่ช้ำตายไปเองก็ต้องฆ่าตัวตาย
เช่น อู๋หานผู้เขียนบทละครเรื่อง "ปลดไห่รุ่ยจากตำแหน่ง" ที่ถูกใส่ไคล้ว่าเขียนละครเรื่องนี้เสียดสีเหมาเจ๋อตง จนอู๋หานถูกจับขังถูกซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่ากระทั่งต้องฆ่าตัวตาย บ้างก็ว่าช้ำจนตายไปเอง ใครที่ติดตามประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้คงทราบกรณีนี้กันดี
ยุคนั้นนักคิดนักเขียนพระสงฆ์องค์เจ้าถูกกลั่นแกล้งทำร้ายเป็นเรื่องธรรมดา จีนต้องสูญเสียปัญญาชนและทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอยากไม่อาจฟื้นคืนได้ เพียงเพราะถูกตราหน้าว่าเป็นเศษซากสังคมเก่า
อย่าว่าแต่นักวิชาการหรือคนเขียนบทละครเลย แม้แต่ประธานาธิบดีของประเทศ คือ หลิวซ่าวฉี ยังถูกฝ่ายเหมาเจ๋อตงใส่ร้ายถูกพวกยุวชนลากตัวจากทำเนียบมาประจานทุบตีนานนับปี จนตายอย่างทรมาน ศพถูกขนไปเผาทิ้งแบบลวกๆ (ดูบทความเรื่อง กี่เพ้าแห่งความตาย ความบ้าคลั่งของยุวชนแดง)
ที่ปวดร้าวที่สุดคือ ยุวชนเหล่านั้นถูกอุดมการณ์ล้างสมองให้สอดแนมพ่อแม่ครูบาอาจารย์ว่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติหรือไม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อดีตพลพรรคหงเว่ยปิง (ยุวชนแดง) ที่เคยก่อเหตุในช่วงนั้นเริ่มทะยอยออกมาขอโทษวีรเวรวีรกรรมของตัวเอง โดยเฉพาะพวกเด็กๆ ในยุคนั้นที่ตั้งศาลเตี้ยลากตัวครูบาอาจารย์มาประจานทุบตี แต่คำขอโทษของคนเหล่านี้มักจะสายไป เพราะเหยื่อมักจะตายไปตั้งแต่ช่วงโกลหลแล้ว
เมื่อ 6 ปีก่อนมีกรณีหนึ่งที่โด่งดังมากทั้งในจีนและต่างประเทศ เป็นเรื่องราวของอดีตยุวชนแดงที่ชื่อ จางหงปิง ตอนนี้อายุได้ 66 ปี
เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมคืบคลานมาถึงบ้านเกิดคืออำเภอกู้เจิ้น มณฑลอันฮุย จางหงปิงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นพวกยุวชนทำลายของเก่าเผาหนังสือ จึงอยากมีส่วนร่วมกับการปฏิวัติบ้างถึงกับเปลี่ยนชื่อจาก เถี่ยฟู เป็น หงปิง หรือ ทหารแดง พ่อแม่ก็เห็นดีด้วย ครอบครัวจางกระตือรือร้นมาก พี่สาวของเขาถึงขนาดเดินทางไปปักกิ่งเพื่อจะพบประธานเหมา แต่พอกลับมาบ้านก็ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบตายไปอายุแค่ 16 ปี นี่เป็นศพแรกของครอบครัวนี้
จางหงปิงไม่สนใจนักเขายังกระตือรือร้นกับการทำลาย 4 เก่า วิพากษ์ผู้หลักผู้ใหญ่ กระทั่งพ่อตัวเองก็ยังไม่เว้น พ่อของเขาถูกพวกยุวชนโจมตีว่าเป็นพวกศัตรูการปฏิวัติ (ทั้งๆ ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสามีภรรยา) ถูกจับตัวมาวิพากษ์ต่อหน้าธารกำนัล (ภาษาจีนเรียกว่า พีโต้ว ต้าฮุ่ย) ถึง 18 ครั้ง แต่ลูกชายกลับศรัทธาในประธานเหมาจนหูหนวกตาบอด ร่วมเขียนหนังสือตัวใหญ่ติดผนังวิจารณ์พ่อตัวเอง แต่พ่อก็ได้แต่อ่านคำต่อว่าไม่ได้เแค้นเคืองอะไรลูกคนนี้
ขณะที่แม่ของเขายืนเคียงข้างสามีคอยปกป้องเขาทั้งยังท้าทายพวกที่จับตัวเขามาประจาน หลังเสร็จสิ้นการโจมตีแล้วแม่เดินคล้องแขนพ่อไม่แยแสใคร จางหงปิงบอกว่าชั่วชีวิต ยังไม่เคยเห็นพ่อกับแม่ใกล้ชิดกันขนาดนี้มาก่อน
ก่อนการปฏิวัติครอบครับจางอบอุ่นเรียบง่าย หลังพายุร้ายเข้าถล่ม บ้านนี้กลายเป็นนรก นรกที่แท้จริงก่อตัวขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1970 คงเป็นเพราะแม่ของเขาสุดจะทนที่ต้องผ่านความฉิบหายวายป่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรม ต้องเสียพ่อที่ถูกโจมตีเป็นพวกเจ้าที่ดินจนตาย เสียลูกสาวเพราะคลั่งประธานเหมา สามีถูกโจมตีทั้งๆ ที่ป็นสมาชิกพรรค ลูกชายกลายเป็นพวกหัวรุนแรง
ค่ำวันนั้นพ่อแม่ลูกทุ่มเถียงกันเรื่องการปฏิวัติ แล้วแม่ของเขาก็โพล่งขึ้นมาว่า ประธานเหมาควรหยุดทำตัวเป็นเจ้าลัทธิให้คนบูชาซะที และควรจะหยุดใส่ร้ายและรื้อฟื้นคุณงามความดีของหลิวซ่าวฉี ทั้งยังฉีกรูปประธานเหมาเผาทิ้งอีก
ลูกชายได้ยินแม่ตำหนิประธานเหมาก็แค้นจนแทบบ้า หน้ามืดตามัวไม่คิดว่าแม่เป็นแม่อีก แต่เป็นปีศาจร้ายศัตรูทางชนชั้น ถึงขั้นด่าทอเป็นสุนัขแล้วขู่จะทำร้ายแม่ตัวเองถ้าไม่ยอมกลับคำพูด แต่แม่ไม่ยอม ส่วนพ่อแทนที่จะเข้าข้างเมียเพราะตัวเองก็ถูกทำร้ายเพราะการปฏิวัติเหมือนกัน กลับพลอยเห็นดีเห็นงามกับลูกชาย ช่วยกันไปฟ้องเจ้าหน้าที่ให้มาจัดการแม่กับเมียตัวเอง
ครั้นทหารมาถึงก็จัดการซ้อมแม่ของเขาจับมัดเสียแน่นจนกระดูกลั่น แล้วนำตัวไปขัง ศาลตัดสินให้ประหารชีวิตข้อหาโจมตีประธานเหมา แล้วประหารด้วยการยิงเป้าในเดือนเมษายนปีนั้น
แทนที่จางหงปิงจะโล่งใจที่ได้กำจัดศัตรูทางชนชั้น นับแต่นั้นเขากลับทุกข์ทรมานแสนสาหัสเฝ้าโทษตัวเองว่าเป็นลูกอกตัญญูเป็นเหตุให้แม่ต้องตาย หลายครั้งที่เขาฝันถึงแม่ ก็จะคุกเข่าขอโทษทั้งน้ำตา แต่แม่ไม่เคยเอ่ยปากพูดกับเขาเลย
ต่อมา จางหงปิงไปร้องขอให้ทางการกลับคำพิพากษาเพื่อให้แม้พ้นมลทิน ซึ่งก็สำเร็จเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ถูกทำร้ายในช่วงนั้น ผิดก็แต่ชีวิตของแม่เขาไม่อาจเรียกคืนมาได้อีก
ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรมมีคนถูกทำร้ายถึง 36 ล้านคน ยอดตายยังไม่แน่ชัดแต่คาดว่าประมาณ 1.5 - 2 ล้านคน แต่หนึ่งในเหยื่อที่รอดชีวิตมาได้ เป็นคนช่วยสยบความบ้าคลั่ง และนำจีนเข้าสู่ยุคใหม่ คือ เติ้งเสี่ยวผิง นั่นเอง
บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน
White House photo by Byron Schumaker / Public Domain