posttoday

พบดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ในอำพันอายุ 100 ล้านปี

26 ธันวาคม 2563

นักวิจัยสหรัฐพบดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ในเศษอำพันอายุราว 100 ปีในเมียนมา

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนและกรมวิจัยทางการเกษตร กระทรวงเกษตรของสหรัฐ เปิดเผยการพบพืชดอกสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า Valviloculus pleristaminis  ที่เคยเบ่งบานในยุคครีเทเชียสตอนกลาง หรือราว 100 ล้านปีถูกฝังอยู่ในเศษอำพันหรือยางไม้ของต้นไม้ในเมียนมา

ทีมนักวิจัยระบุว่า แม้ดอกไม้ดังกล่าวจะมีขนาดเล็กจิ๋วเพียง 2 มิลลิเมตร แต่กลับมีเกสรตัวผู้เรียงกันอย่างสวยงามถึง 50 ชิ้น โดยจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับอบเชย และยังเกี่ยวข้องกับต้น blackheart sassafras ในออสเตรเลีย

แม้ว่าปัจจุบันเมียนมาและออสเตรเลียจะอยู่ห่างกันราว 6,450 กิโลเมตรโดยมีทะเลขวางกั้น แต่ในช่วงเวลาที่ดอกไม้นี้ถูกฝังอยู่ในอำพัน ทั้งเมียนมาและออสเตรเลียต่างก็ตั้งอยู่บนมหาทวีปกอนด์วานา ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นคนละทวีป

การค้นพบครั้งนี้เป็นข้อมูลใหม่สำหรับนักโบราณคดีที่ศึกษาการแยกตัวของมหาทวีปกอนด์วานา ว่าแผ่นดินอาจแยกตัวช้ากว่าในช่วงเวลาที่เคยตั้งทฤษฎีไว้ว่าอยู่ในช่วง 200-500 ล้านปีก่อน

การค้นพบครั้งนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการวิจัยด้านพฤกษศาสตร์เทกซัส

ภาพ : Oregon State University

พบดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ในอำพันอายุ 100 ล้านปี

พบดอกไม้สายพันธุ์ใหม่ในอำพันอายุ 100 ล้านปี