posttoday

ย้อนรอยยึดอำนาจ ซูจีสกัดอิทธิพลกองทัพไม่สำเร็จ

01 กุมภาพันธ์ 2564

ก่อนที่จะถูกรัฐประหารในวันนี้ อองซานซูจีพยายามที่จะลดบทบาทของทหารในทางการเมืองมานานแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ

ออง ซาน ซูจีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกกดดันให้แสดงความคืบหน้าในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของความหวังในระบอบประชาธิปไตย

ซูจีเคยกล่าวไว้ว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลของเรา ความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเราจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"

ด้านโค นี ที่ปรึกษาของซูจีซึ่งเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการปฏิรูปเพื่อลดบทบาทของกองทัพก็ถูกยิงเสียชีวิตในเวลากลางวันแสกๆ ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2017

นอกจากนี้ที่ผ่านมาสมาชิกบางคนในพรรคของซูจีแสดงความปรารถนาที่จะแก้ไขมาตรา 436 ที่เอื้อให้กองทัพสามารถยับยั้งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กองทัพมองว่าตนเป็นสถาบันเดียวที่สามารถป้องกันการแตกสลายของประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำกับดูแลระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญ

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ออง ซาน ซูจีพยายามที่จะลดบทบาทของทหารในทางการเมืองโดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งถูกร่างโดยอดีตรัฐบาลทหาร โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซูจีเสนอนั้นจะส่งผลให้จำนวนสมาชิกสภาที่เป็นทหารลดลง

สุดท้ายข้อเสนอดังกล่าวของซูจีก็ถูกรัฐสภาเมียนมาปักตกไปได้เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนเสียงคัดค้าน

ทั้งนี้สมาชิกรัฐสภาเมียนมาประกอบด้วยทหารคิดเป็น 1 ใน 4 ของที่นั่งในสภาทั้งหมด และการเปลี่ยนแปลงกฎบัตรใดๆ จะต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า 3 ใน 4 หรือใช้คะแนนเสียง 75% ขึ้นไป ส่งผลให้กองทัพสามารถยับยั้งความพยายามของซูจีไปได้อย่างง่ายดาย

โดยมีสมาชิกสภาเพียง 404 คนจาก 633 คนเท่านั้นที่โหวตให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ถึง 75% และไม่เพียงพอต่อการอนุมัติข้อเสนอของซูจี

สมาชิกพรรค NLD ของซูจีระบุว่าพรรคของเขาได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่จำเป็นต้องทำเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

"เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าเราพยายามแล้ว" สมาชิกพรรคกล่าว

Photo by Phyo Hein Kyaw / AFP