posttoday

มนต์ขลัง 'สักยันต์ไทย' ต่างชาติแนะนำต้องทำเมื่อมาเที่ยวไทย

17 กุมภาพันธ์ 2564

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังนิยมสักยันต์ไทย จนเป็นหนึ่งกิจกรรมห้ามพลาดเมื่อมาเยือนประเทศไทย

นับตั้งแต่นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ โชว์รอยสักยันต์ห้าแถวบริเวณไหล่ด้านซ้ายที่สักจากไทยเมื่อ 18 ปีที่แล้ว การสักยันต์ของไทยก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกมุมโลก จนถึงปัจจุบันนี้กระแส “ยันต์ไทย” ก็ยังไม่เสื่อมคลายในกลุ่มชาวต่างชาติ จนถึงขั้นมีเอเจนซี่พานักท่องเที่ยวต่างชาติไปสักยันต์กับสำนักดังๆ เลยทีเดียว

อย่างเช่น อีวา ซู เบ็ค ยูทูบเบอร์ด้านการเดินทางท่องเที่ยวชาวโปแลนด์ที่มีผู้ติดตามกว่า 897,000 คน ที่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องการสักยันต์ของไทย จนเธอตัดสินใจเปิดประสบการณ์การสักยันต์ด้วยตัวเองด้วยความหวังว่าจะช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้นและสามารถรับมือกับความกดดันในการเป็นยูทูบเบอร์ของเธอ รวมทั้งช่วยปกป้องตัวเธอด้วย

อีวา ซู เบ็คติดต่อเอเจนซี่ให้พาเธอไปยังสำนักสักยันต์อาจารย์เหน่งย่านอ่อนนุช เธอเผยว่าระหว่างที่สวดมนตร์ก่อนเริ่มสักยันต์เธอรู้สึกเหมือนตัวลอยๆ ขึ้นมาจากพื้น และยังเล่าว่าแต่ละสำนักจะมีกฎที่ควรปฏิบัติและข้อห้ามที่ผู้สักยันต์ต้องทำตามแตกต่างกันไป

ข้อห้ามของสำนักนี้ระบุว่า ห้ามด่าทอหรือพูดจาหยาบคายกับพ่อแม่หรือผู้มีพระคุณ ห้ามใช้ยาเสพติด ห้ามผิดเมียคนอื่น ต้องเดินกลับมาไหว้ครูประจำปี ห้ามกินสัตว์เลื้อยคลาน สุนัข อาหารในงานศพ หรือของเหลือจากคนอื่น (ยกเว้นจากคนในครอบครัว) ห้ามให้คนอื่นเหยียบศีรษะ เป็นต้น

อีวา ซู เบ็ค เผยว่า เธอเชื่อว่าอำนาจของยันต์จะอยู่กับตัวคนสัก ทั้งในหัวใจ ในจิตวิญญาณ เพราะการสักยันต์ก็เหมือนกับการลงนามในสัญญากับจักรวาล และสำหรับตัวเธอหลังจากสักยันต์แล้วเหมือนเป็นการปฏิญาณตัวว่าจะคิดดี พูดดี ทำดี

ใต้คลิปของเธอมีสมาชิกยูทูบคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Andy Smith คอมเม้นต์ว่า “ผมสักยันต์ที่เชียงใหม่ ผมอธิบายได้แค่ว่าอานุภาพของยันต์เหมือนการโอบกอดที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อน ผมรู้สึกกว่ายันต์ช่วยและปกป้องผม”

นอกจาก อีวา ซู เบ็ค แล้ว ล่าสุดเว็บไซต์ท่องเที่ยว Luxury Travel Magazine ยังแนะนำให้การสักยันต์กับอาจารย์เหน่งเป็น 1 ใน 8 กิจกรรมที่ห้ามพลาดเมื่อเดินทางมาเยือนประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจการสักยันต์ของไทยอีกหลายคน อาทิ แดนและเคซีย์ ซีมาสโก สองสามีภรรยา เจ้าของบล็อกการท่องเที่ยว A Cruising Couple ที่เขียนอธิบายที่มาที่ไป ขั้นตอนต่างๆ และรีวิวการสักยันต์ไว้อย่างละเอียดยิบ

สำนักสักยันต์อาจารย์เหน่ง หนึ่งในสำนักที่โด่งดังในแวดวงชาวต่างชาติ โดยช่วงสถานการณ์ปกติลูกค้าที่มาสักยันต์กับอาจารย์เป็นชาวต่างชาติถึง 90% ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวอเมริกันและยุโรป หรือคิดคร่าวๆ ก็ตกปีละหลายพันคนเลยทีเดียว ขณะที่อีก 10% เป็นลูกค้าชาวไทยและจีน

โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์เหน่งซึ่งอาจารย์เผยว่าลูกค้าชาวต่างชาติส่วนมากมาจากการรีวิวบอกเล่าปากต่อปาก เนื่องจากมีสื่อต่างชาติหลายสำนักรวมถึงบล็อกเกอร์และเซเลบดาราชื่อดังจากต่างประเทศหลายคนมาสักกับอาจารย์และนำไปบอกต่อ อาทิ เจสซี แบรดฟอร์ดไรอัน ฟิลลิปเป้นิตยสารฟอร์บส์, ลอสแอนเจลิสไทมส์สำนักข่าวอัลจาซีรา และสำนักข่าวเอเอฟพี เป็นต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าการสักยันต์ต้องมาคู่กับคาถาและความเชื่อ ซึ่งชาวต่างชาติหลายคนอาจไม่เข้าใจจึงต้องมีวิธีพูดและอธิบายถึงความหมายที่มาที่ไป พร้อมเลือกยันต์ให้ตรงกับความชอบและความต้องการของลูกค้า ว่าอยากแก้ปัญหาอะไร อยากส่งเสริมในด้านไหน ซึ่งอาจารย์เหน่งเล่าว่าลูกค้าต่างชาติก็มักโอเคกับลายที่เลือกให้เพราะพวกเขาชื่นชอบยันต์ของไทยทั้งหมดอยู่แล้ว

โดยลายสักยันต์ยอดนิยมคือยันต์เก้ายอด หรือนวหรคุณ ซึ่งแปลว่าพระพุทธคุณทั้ง 9 มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย จิตใจเข้มแข็ง และเลข 9 ยังพ้องเสียงกับคำว่าก้าว หรือก้าวหน้าอีกด้วย

อาจารย์เหน่งเผยว่าโดยส่วนใหญ่แล้วลูกค้าชาวต่างชาติที่ได้มาสักยันต์มักชื่นชอบและติดใจจนต้องมาสักเพิ่มเป็นครั้งต่อๆ ไป และชาวต่างชาติบางคนจองคิวข้ามปีเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งของลูกค้าที่ได้สักยันต์ไปแล้วก็เชื่อว่าช่วยให้ชีวิตดีขึ้น มีกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง คุ้มครองยามเกิดอุบัติเหตุ หรือช่วยให้เจรจาธุรกิจสำเร็จลุล่วงด้วยดี

แม้ว่าการสักยันต์จะมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติเฉพาะแต่ลูกค้าชาวต่างชาติก็เต็มใจที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ก็มักจะถามถึงเหตุผลที่มาที่ไปซึ่งก็ต้องมีวิธีการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ

ด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติอาจารย์เหน่งและสำนักสักยันต์ไทยส่วนหนึ่งต้องเตรียมความพร้อมด้วยการมีล่ามแปลภาษา ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมและกระจายรายได้ด้วย

แม้ว่าชาวต่างชาติส่วนหนึ่งอาจมองเป็นเรื่องแฟชั่น แต่ก็มีหลายคนที่หลงใหลและเชื่อว่าเป็นมากกว่าความสวยงามและแฟชั่น พวกเขามองว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มจิตใจ อย่างไรก็ดีการสักยันต์ลงบนร่างกายก็ต้องคำนึงถึงความสวยงามเหมาะสม รับกับส่วนต่างๆ บนร่างกายเช่นกัน ซึ่งอาจารย์ก็จะดีไซน์ให้ด้วย อย่างเช่นการสักบนหัวไหล่ก็จะเป็นลายลักษณะกลม หรือบริเวณคอก็เป็นสามเหลี่ยม เป็นต้น

แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้าชาวต่างชาติหายไป 100% พวกเขาไม่สามารถเดินทางมาสักกับอาจารย์เหน่งได้แต่ก็ยังคงส่งข้อความมาหาอยู่เสมอว่าคิดถึงและอยากจะกลับมาสักมากๆ ขณะที่บรรดาล่ามก็ต้องหันไปทำอาชีพอื่นแทน

อาจารย์เหน่งทิ้งท้ายว่ายันต์นั้นมีคุณค่าทางจิตใจ เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ช่วยสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปในทางที่ดี ชาวต่างชาติจำนวนมากข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพราะพวกเขาชื่นชอบและเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของไทย เพราะฉะนั้นชาวไทยต้องไม่อาย ไม่มองว่าเป็นเรื่องงมงาย ต้องมั่นใจและเชื่อมั่นในวัฒนธรรมของเรา ร่วมกันส่งเสริมพัฒนาเพื่อสร้างรายได้สู่ประเทศไทย