posttoday

ไบเดนจะเล่นงานใครก่อน จีนหรือรัสเซีย?

10 มีนาคม 2564

ทั้งสองประเทศจับมือกันเหนียวแน่นขึ้นราวกับว่าเตรียมรับมือกับท่าทีแข็งกร้าวของสหรัฐ แต่ผู้นำสหรัฐเลือกที่จะเล่นงานใครแรงที่สุด?

แม้ว่าเราจะมีบทวิเคราะห์ตั้งแต่ก่อนโจ ไบเดนจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐแล้วว่าเขาจะมีท่าทีแข็งกร้าวกับจีน และอาจจะหนักมือกว่าทรัมป์เสียอีกเพราะทรัมป์มุ่งเล่นงานจีนในแง่มุมเศรษฐกิจแต่ไม่ค่อยเล่นงานในเรืองการเมือง (เพิ่งจะมาหนักมือเรื่องการเมืองเอาเมื่อตอนจะพ้นอำนาจไม่กี่สัปดาห์)

แต่ "ภัยคุกคาม" ของสหรัฐไม่ได้มีแค่จีน ในแง่การเมืองแล้วรัสเซียเป็นภัยที่รับมือได้ยากกว่าจีนเสียอีก อย่างน้อยดูเหมือนว่าจะจีนจะเอาใจใส่เรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากวก่า และพยายามเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าทางการเมือง

อีกอย่างก็คือ การทำ "ไอโอ" (Information operation) ของจีนยังอยู่ระดับ "มือสมัครเล่น" คนละชั้นกับรัสเซียซึ่งเป็นไอโอระดับเซียนที่สร้างความวุ่นวายทั้งในสหรัฐและยุโรปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (แต่ไม่ใช่กับแฮกเกอร์ซึ่งจีนเป็นระดับเซียนแล้ว) 

สงครามด้านการเมืองที่ชัดที่สุดของสหรัฐคือสงครามกับไอโอรัสเซีย เพียงแต่ว่าไบเดนจะลงมารบแบบจริงจังหรือเปล่าแค่นั้น

รัสเซียนั้นเป็นเจ้าแห่งปฏิบัติการปฏิเสธและหลอกลวง (Denial and deception) เป็นการทำให้คู่กรณี "เละ" จากภายในด้วยการปล่อยข่าวปลอมสร้างความแตกแยกในสังคมก่อน จากนั้นเลือกเป้าหมายที่จะสนับสนุนเพื่อใช้เป็นตัวสร้างความแตกแยก

เช่น กรณีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 ไอโอรัสเซียประสบความสำเร็จงดงามในการทำให้สังคมอเมริกันแตกจนประสานไม่ติดจนกระทั่งทุกวันนี้ และเลือกที่จะช่วยทรัมป์ (เพราะทรัมป์เองก็สนิทกับฝ่ายรัสเซีย) พร้อมกับปล่อยข่าวปลอมบั่นทอนฝ่ายเดนโมแครต/ฮิลลารี คลินตัน

ผลคือทรัมป์ชนะ แต่ไอโอรัสเซียไม่ได้หยุดแค่นั้น ยังปล่อยข่าวปลอมหรือข่าวจริงในเชิงปั่นหัวเพื่อทำให้คนอเมริกันทะเลาะกันเอง ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาสหรัฐอ่อนแอลงมาก เพราะรับมือกับปฏิบัติการข่าวปลอมของรัสเซียแทบไม่ได้

การปั่นของรัสเซียยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดจลาจลที่คองเกรสด้วย

หากไบเดนไม่อยากมีจุดจบแบบฮิลลารี คลินตันเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทิ้งจีนเอาไว้ก่อนแล้วหันมาจัดการรัสเซีย เพราะรัสเซียคือ "ศัตรูที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย"

เมื่อวันที่ 18 มกราคม อะเลกเซย์ นาวัลนืย นักการเมืองและนักกิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชันชาวรัสเซียที่ท้าทาย "ระบอบปูติน" ถูกจับคาเครื่องบินทันทีที่เขาเดินทางมาถึงบ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่เขาถูกวางยาพิษโดยมือมืดแล้วต้องไปรักษาตัวที่เยอรมนี

ชาติตะวันตกเชื่อว่าปูตินนั่นเองที่สั่งวางยานาวัลนืย และปูตินก็สนองตอบการตั้งข้อสงสัยด้วยการจับกุมเขาทันทีที่กลับรัสเซีย

ประเทศตะวันตกไม่พอใจอย่างมากและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนาวัลนืย หนึ่งในนั้นคือเจค ซัลลิแวน ว่าที่ที่ปรึกษาความมั่นคงของโจ ไบเดน ซึ่งยังไม่รับตำแหน่งแต่ก็ออกแอกชั่นด้วยการเรียกร้องให้รัสเซียปล่อยตัวนาวัลนืยในทันที ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ซึ่งในเวลานั้นยังบริการโดยคนของทรัมป์) กลับเงียบกริบ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐรัฐบาลทรัมป์วุ่นวายกับการโจมตีจีนอย่างหนักหน่วงในช่วงสัปดาห์สุดท้าย แต่งานแรกๆ ก่อนจะรับตำแหน่งของคนรัฐบาลไบเดนคือการท้าทายรัสเซีย

ก่อนหน้านี้เจค ซัลลิแวนกับแอนโทนี บลิงเคน ว่าที่รัฐมนตรีว่ากการกระทรวงการต่างประเทศถูกจับตาเรื่องนโยนบายจีนมากกว่า และซัลลิแวนมีแอกชั่นกับจีนมากกว่ารัสเซียตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ที่สำคัญคือที่ปรึกษาของไบเดนเป็น "สายจีน" ถึง 3 คนแสดงถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของเขาในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูที่นโยบายในระยะยาวมันแม่ทัพของไบเดนในด้านความมั่นคง-การต่างประเทศ มีเป้าหมายในการเพิ่มความเข้มข้นในการรับมือรัสเซียมากกว่า

ไบเดนเองก็เคยกล่าวระหว่างหาเสียงว่า "ผมจะเป็นประธานาธิบดีที่จะยืนหยัดร่วมกับพันธมิตรและเพื่อนของเราและคู่ตรงข้ามกับเราตระหนักให้ชัดเจนไปเลยว่า วันแห่งการอ่อนอข้อต่อเผด็จการสิ้นสุดลงแล้ว"

เผด็จการในที่นี้หมายถึงใครก็ได้ที่เป็นคู่กรณีของสหรัฐ ทั้งจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่านขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐและพันธมิตรมากกว่ากัน

เมื่อนำเอาพันธมิตรของสหรัฐเข้ามาพิจารณด้วยแล้ว รัสเซียน่าจะเป็นเป้าหมายที่ชัดกว่าใครทั้งหมด เพราะไอโอรัสเซียปล่อยข่าวปลอมปั่นยุโรปให้แตกแยกมาหลายปีแล้ว

แอนโทนี บลิงเคนเองก็เคยมีประสบการณ์ตรงช่วงที่เขาทำงานในรัฐบาลโอบามา ซึ่งช่วงนั้นรัสเซียผนวกเอาคาบสมุทรไครเมียจากยูเคนมาเป็นของตน ดังนั้นเขารู้ดีว่ารัสเซียคุกคามจริงจังกว่าจีนเสียอีกในแง่ของการเมืองและการก่อสงคราม

ปรากฎว่าแอกชั่นแรกของไบเดนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อกองทัพสหรัฐได้ทำการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่เชื่อว่าถูกยึดครองโดยกองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในซีเรียตะวันออก โดยเป็นการตอบโต้การโจมตีด้วยจรวดหลายครั้งต่อกองกำลังสหรัฐในอิรักเมื่อสิบวันก่อนหน้านี้

นี่ถือเป็นการปฏิบัติการทางทหารในเชิงรุกครั้งแรกของโจ ไบเดน ซึ่งเขาบอกว่าจุดประสงค์ของการโจมตี "เพื่อปกป้องและปกป้องบุคลากรของเราและพันธมิตรของเรา"

ในตอนแรกน้นมีกระแสคาดการณ์ว่าไบเดนคงจะเล่นงานอิหร่านเข้าให้แล้วและถึงขนาดกลัวกันว่าอาจจะจุดชนวนสงครามโลกครั้งใหม่ (ซึ่งเป็นความหลัวที่เกินกว่าเหตุเพราะเมื่อต้นปี 2020 ก็เคยเกิดกรณีทำนองนี้มาแล้วในสมัยทรัมป์และความกลัวเรื่องสงครามโลกก็เข้มข้นกว่านี้แต่ปรากฎว่าไม่มีอะไรหลังจากนั้น)

กูรูด้านตะวันออกกลางเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นการเตือนไปยังอิร่านมากกว่าที่จะแสดงท่าทีเอาจริงเอาจิงในทางสงคราม เป็นการเตือนว่าอิหร่านจะเป็นเหตุให้คนอเมริกันหรือพันธมิตรของอเมริกันมีอันเป็นไปไม่ได้ เพราะไบเดนจะไม่ยอมนิ่งเฉย มันจึงเป็นการแสดงท่าที "แรงมา แรงไป" เท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นการลั่นกลองรบ

ในขณะที่สหรัฐยังส่งเครื่องบินงระเบิด B-52 ไปป้วนเปี้ยนแถวตะวันออกกลางหลังจากนั้น แต่มันมีนัยไปถึงพันธมิตรในภูมิภาคมากกว่า ดังที่ในแถลงการณ์ของกองทัพสหรัฐระบุว่าการส่งเครื่องบิน B-52 ไปก็เพื่อ “ยับยั้งท่าทีก้าวร้าวและสร้างความมั่นใจให้กับหุ้นส่วนและพันธมิตรของความมุ่งมั่นของกองทัพสหรัฐต่อความมั่นคงในภูมิภาค”

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ "สร้างความมั่นใจให้กับหุ้นส่วนและพันธมิตร" เพราะไบเดนแสดงอาการแล้วว่าจะไม่ยุ่งกับตะวันออกกลางมากนัก

กลับมาที่รัสเซีย หลังจากแสดงแสนยานุภาพในตะวันออกกลางเพื่อบรรเทาความกังวลของพันธมิตรแล้ว รัสเซียก็เป็นเป้าหมายของแอกชั่นต่อไป

จากการรายงานของ New York Times ว่าสหรัฐกำลังวางแผนการตอบโต้ปฏิบัติการไอโอของรัสเซียที่รบกวนสหรัฐมานาน โดยเฉพาะการที่ไอโอรัสเซียแฮก SolarWinds ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ

แบรด สมิธ ประธานไมโครซอฟต์กล่าวว่านี่เป็น "การโจมตีที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา" และสหรัฐทราบว่ามันเกี่ยวข้องกับแฮกเกอร์รัสเซีย

New York Times รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปรากฏชื่ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมการเคลื่อนไหวที่สำคัญครั้งแรกเพื่อตอบโต้การรุกรานจากแฮกเกอร์ต่างชาติภายในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า (นับจากสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2021)

รัฐบาลไบเดนมีแผนปฏิบัติการลับที่จะเล่นงานเครือข่ายของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจจะออกคำสั่งผู้บริหารเพื่อให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางต่อต้านการแฮกของรัสเซีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งสัญญาณไปถึงวลาดิมีร์ ปูตินและหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย พร้อมๆ กันนั้นสหรัฐจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียด้วย

เป็นที่น่าสนใจว่าไบเดนเล่นงานไอโอรัสเซียแทบจะในทันที ทั้งๆ ที่ในเวลาเดียวกันนั้น มีรายงานว่าองค์กรในสหรัฐอย่างน้อย 30,000 แห่งรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นถูกแฮ็กในช่วงเดือนมกราคมและเปิดเผยเรื่องนี้เมื่อเดือนมีนาคม โดยเป็นฝีมือของขบวนการจารกรรมทางไซเบอร์ของจีน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยชี้ว่าการแฮกของจีนที่เกิดขึ้นมีความ "ก้าวร้าวผิดปกติ" แต่รัฐบาลไบเดนเลือกที่จะเล่นงานรัสเซียก่อนเล่นงานจีน

นี่หมายความว่าไบเดนคิดเล่นงานรัสเซียก่อนมาตั้งแต่แรกใช่หรือไม่?

คำตอบก็คือ "ใช่" แต่เป็นเพราะมันคือความจำเป็นเร่งด่วนในระยะสั้น รัสเซียเล่นก่อเรื่องรัวๆ ตั้งแต่กรณีจับกุมตัวนาวัลนืยที่ว่ากันตามมาตรฐานโลกตะวันตกก็สมควรแก่เหตุให้สหรัฐกับชาติตะวันตกทำการคว่ำบาตรรัสเซียได้อยู่แล้ว ไหนจะยังมีภัยคุกคามแบบขาประจำอย่างแฮกเกอร์ไอโอรัสเซียอีก

เทียบระหว่างแฮกเกอร์จีนกับรัสเซียแล้ว รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมากกว่าเพราะเคยทำให้การเมืองสหรัฐปั่นป่วนมาแล้วในช่วงเลือกตั้งปี 2016 จนถึงทุกวันนี้ก็ยังอาจกล่าวได้ว่าสังคมอเมริกันที่แตกแยกอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของไอโอรัสเซียที่ปล่อยข่าวปลอมสร้างความแตกแยกในสังคม

แต่จีนเป็นภัยคุกคามในระยะยาวกว่าและน่ากลัวกว่า เทียบกันแล้วรัสเซียเหมือนยุงรำคาญ แต่จีนคือผึ้งที่ต่อยให้เจ็บปวด

อย่างที่บอกไปว่าที่ปรึกษาของไบเดนที่เป็นสายจีนมีถึง 3 คนแสดงให้เห็นถึงความกังวลเรื่องจีนได้เป็นอย่างดี การที่เขายังไม่เล่นงานจีนหนักๆ เหมือนรัสเซียไม่ได้หมายความว่าจีนสำคัญน้อยกว่า แต่เพราะเฉพาะหน้าแล้วจีนยังไม่รบกวนสหรัฐชัดเจนเท่ารัสเซียต่างหาก

สิ่งที่สหรัฐกังวลเกี่ยวกับรัสเซียและจีน แน่นอนว่าย่อมรวมถึงกองทัพแฮกเกอร์และแสนยานุภาพทางทหาร รวมถึงอิทธิพลของทั้งสองชาติต่อประเทศเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่พอใจสหรัฐเป็นทุนเดิม

แต่สิ่งที่จีนมีและรัสเซียไม่มีและสหรัฐกลัวจีนที่สุดในเรื่องนี้คืออำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งไบเดนเองบอกว่า “เราจะเผชิญหน้ากับการละเมิดทางเศรษฐกิจของจีน” และบอกว่าจีนคือ “คู่แข่งที่ร้ายกาจที่สุด”

การที่ประธานาธิบดีสหรัฐบอกขนาดนี้คงชัดแล้วว่าเป้าหมายของเขาคือใคร ระหว่างรัสเซียกับจีน

ไบเดนตอบรับเรื่องนี้ด้วยการแต่งตั้งสายเหยี่ยวที่เชี่ยวชาญการรับมือกับจีนเป็นผู้แทนการค้าสหรัฐ นั่นคือ แคเทอรีน ไท (ดูบทความเรื่อง ยุคไบเดนสงครามการค้าจะยิ่งหนักเพราะคนๆ นี้)

ในด้านการเมืองเขามี วิลเลียม เบิร์นส์ ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งบอกว่าสีจิ้นผิงคือ “ศัตรูและเผด็จการที่น่าเกรงขาม”

เบิร์นส์บอกกับคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาว่า “จีนเริ่มที่จะแซงหน้าจนตามไม่ทัน จะเป็นกุญแจสำคัญในความมั่นคงแห่งชาติของเราในวันข้างหน้า” เขายังแสดงวิสัยทัศน์ว่าการรับมือกับจีน “จะต้องใช้กลยุทธ์ในระยะยาวที่ชัดเจนของทั้งสองพรรค โดยได้รับการสนับสนุนจากรื้อฟื้นและการทำให้การข่าวกรองในประเทศเรามีความมั่นคง”

ไบเดนยังมี "คนข้างกาย" ที่จะคอยดูแลสรุปข่าวกรองให้รายวัน คนๆ นี้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับจีนและมองว่าการตอบโต้การจารกรรมของจีนเป็น "ภารกิจที่สำคัญอันดับต้น"

เอวริล เฮนส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติที่ไบเดนแต่งตั้งขึ้น เคยบอกตั้งแต่ตอนที่เธอยังเป็นแค่ผู้รับได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งนี้ว่า เธอจะจับตาจีนอย่างแข็งขันต่อไป (แสดงถึงการสานต่อนโยบายของทรัมป์)

เธอบอกกับคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาว่าจะ “สนับสนุนความพยายามของสองพรรคในระยะยาวในการเอาชนะจีน - นำมาและแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเจตนาและศักยภาพของจีน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมาย ก้าวร้าวและบีบบังคับของปักกิ่งในทันที รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

สมาชิกที่ซักถามเฮนส์มาจากทั้งสองพรรคซึ่งล้วนแต่บอกว่าจีนคือ "ปฏิปักษ์" เรื่องนี้ตอกย้ำว่านักการเมืองสหรัฐที่แตกคอกัน สามัคคีกันเรื่องจีนอย่างกลมเกลียว พวกเขาถามเฮนส์ว่าเห็นจีนเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เฮนส์ตอบว่า "จีนเป็นฝ่ายตรงข้ามและเป็นปรปักษ์ในบางประเด็นและในประเด็นอื่นๆ เราพยายามร่วมมือกับพวกเขา"

ปรากฎว่าประเด็นที่สหรัฐพอจะร่วมมือกับจีนได้คือการแก้ปัญหาโลกร้อนเท่านั้น!

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by LINTAO ZHANG / POOL / AFP