posttoday

'เทควันโด' ความหวังของประเทศที่ไม่มีโอกาสชิงเหรียญอื่น

26 กรกฎาคม 2564

สื่อนอกมอง เทควันโดเป็นกีฬาที่สร้างโอกาสให้แก่ประเทศต่างๆ รวมถึงพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงหรือพื้นที่กว้างขวาง

บทความจาก The New York Times ระบุว่าในบรรดาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งหมด เทควันโดอาจเป็นความหวังในการคว้าเหรียญของหลายประเทศ และเป็นกีฬาที่สร้างโอกาสให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศห่างไกล

เทควันโดอาจไม่ใช่กีฬาที่เป็นที่นิยมของทั่วโลกอย่างยิมนาสติกหรือมวย แต่มันได้รับความนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกีฬาที่เข้าถึงง่ายไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพงหรือพื้นที่กว้างขวาง

อิสซากา อิเด (Issaka Ide) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไนเจอร์และหัวหน้าสหพันธ์เทควันโดแห่งชาติกล่าวว่า "สำหรับประเทศยากจนอย่างไนเจอร์ เทควันโดเป็นกีฬาที่ดีที่สุด เพราะมันง่ายต่อการฝึกฝนโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากนัก"

กีฬาชนิดนี้ได้เริ่มเข้าสู่ค่ายผู้ลี้ภัยในปี 2015 จนกระทั่งทุกวันนี้นักกีฬาเทควันโดกำลังได้รับการฝึกฝนในค่ายผู้ลี้ภัยในหลายพื้นที่ทั้งในจอร์แดน ตุรกี รวันดา และจิบูตี รวมถึงใน Azraq ค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในจอร์แดนก็ยังเข้าถึงกีฬาชนิดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

เทควันโดเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จของเกลาหลีใต้ ก่อนเคป๊อป ซีรี่ส์เกาหลี และข้าวผัดกิมจิเสียอีก โดยในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารเกาหลีใต้สอนเทควันโดให้กับชาวตะวันตก

ชัค นอร์ริส (Chuck Norris) ดาราแอ็คชั่นชาวอเมริกันซึ่งเคยประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศในเกาหลีใต้ก็เคยเข้าร่วมการแข่งขันเทควันโดด้วยเช่นกัน จนปัจจุบันกีฬาชนิดนี้ถูกเผยแพร่ไปแล้วกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

ความหวังคว้าเหรียญโอลิมปิก

เทควันโดเป็นกีฬาสาธิตในโอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่กรุงโซล และได้รับสถานะอย่างเป็นทางการเป็นกีฬาเหรียญในอีก 12 ปีต่อมา ซึ่งกีฬาชนิดนี้สร้างโอกาสในการคว้าเหรียญในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกให้แก่หลายประเทศ

ไอวอรี่โคสต์และจอร์แดนคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรกด้วยกีฬาเทควันโด เช่นเดียวกับไต้หวัน ไนเจอร์ เวียดนาม และกาบอง ซึ่งได้โอกาสคว้าเหรียญเงินครั้งแรก ด้านอัฟกานิสถานซึ่งครองเหรียญทองแดงจากโอลิมปิก 2 เหรียญก็มาจากเทควันโดทั้งสิ้น

ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียวครั้งนี้มีนักกีฬาจาก 61 ประเทศ และทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก 3 คนลงแข่งขันในกีฬาเทควันโด นอกจากนี้ผู้ถือธงจำนวนมากในการแข่งขันครั้งนี้เป็นนักกีฬาเทควันโด นับเป็นการตอกย้ำความสำคัญของกีฬาดังกล่าวต่อประเทศกีฬาขนาดเล็ก

นัสเซอร์ มาจาลี (Nasser Majali) เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกจอร์แดนกล่าวว่าชุดเทควันโดในประเทศขายได้ถึง 50,000 ชุดนับเป็นความสำเร็จของกีฬาเทควันโดในประเทศ

อูลุกเบก ราชิตอฟ (Ulugbek Rashitov) วัย 19 ปีจากอุซเบกิสถานคว้าเหรียญทองเทควันโดประเภทชาย รุ่น 68 กิโลกรัม หลังจากที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของอุซเบกิสถานได้พัฒนาสาชาวิชาเทควันโด

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคนหนึ่งเผยว่า "อุซเบกิสถานไม่เคยมีแชมป์โอลิมปิกในกีฬานี้ ความสำเร็จครั้งนี้เหมือนกับความฝัน"

ด้านนักกีฬาจากไต้หวันซึ่งลงแข่งขันภายใต้ชื่อ Chinese Taipei ก็ได้คว้าเหรียญทองแดงประเภทหญิง รุ่น 57 กิโลกรัมไปได้เช่นกัน หลังจากที่ไต้หวันได้รับเหรียญทองแดงครั้งแรกในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์

"เรามีความก้าวหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน" จางเส่าซี (Chang Shao-hsi) หัวหน้าฝ่ายกีฬาของไต้หวันกล่าว

ทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก 3 คนที่ลงแข่งขันในกีฬาเทควันโด หนึ่งในนั้นคือ คิเมีย อาลิซาเดห์ (Kimia Alizadeh) นักกีฬาลี้ภัยจากอิหร่านซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่คว้าเหรียญให้แก่อิหร่านบ้านเกิดของเธอในปี 2016

แต่คราวนี้เธอลงแข่งขันในฐานะผู้ลี้ภัย โดยเธอลี้ภัยออกจากอิหร่านเมื่อปีที่แล้วจากการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศเรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิง และการลงแข่งขันในโอลิมปิกครั้งนี้เธอสามารถเอาชนะนักกีฬาจากอิหร่านซึ่งมีโค้ชคนเดียวกับอดีตโค้ชของเธอ และยังโค่นนักเทควันโดเหรียญทอง 2 สมัยจากอังกฤษ และนักกีฬาตัวเต็งจากจีนอีกด้วย

โช จอง-วอน (Choue Chungwon) ประธานสหพันธ์เทควันโดสากลจากเกาหลีกล่าวว่าหลายประเทศมีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกเพราะกีฬาเทควันโด

รวมถึงประเทศไทย

The New York Times ยังได้กล่าวถึงประเทศไทยในการคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโดในการแข่งขันครั้งนี้ โดย "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดประเภทหญิง รุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัม ซึ่งคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์โอลิมปิกเทควันโดของไทย หลังจากที่คว้าเหรียญทองแดงที่ริโอในปี 2016

บทความดังกล่าวมองว่าเทควันโดนับเป็นโอกาสของประเทศที่ไม่ค่อยได้คว้าเหรียญจากการแข่งขันรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

Photo by Javier SORIANO / AFP