วิจัยเผย ปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรอาจเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2040
ขยะพลาสติกในมหาสมุทรของโลกเพิ่มขึ้นอย่าง "เป็นประวัติการณ์" ตั้งแต่ปี 2005 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าภายในปี 2040 หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
จากผลการวิจัยที่ได้รับการตรวจสอบโดยสถาบัน 5 Gyres องค์กรในสหรัฐอเมริกาที่รณรงค์เพื่อลดมลภาวะจากพลาสติกเผยว่า ปี 2019 ในมหาสมุทรมีอนุภาคจากพลาสติกประมาณ 171 ล้านล้านชิ้นล่องลอยอยู่ ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นอีก 2.6 เท่า ภายในปี 2040 หากยังไม่มีการนำนโยบายทางกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาใช้
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวทำการสำรวจขยะพลาสติกในระดับพื้นผิวน้ำจากสถานีมหาสมุทร 11,777 แห่ง จาก 6 มหาสมุทรหลักตั้งแต่ปี 1979 ถึง 2019
Marcus Eriksen ผู้ร่วมก่อตั้ง 5 Gyres กล่าวว่า "การเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณของไมโครพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก ถือเป็นแนวโน้มที่น่าตกใจในรอบสหัสวรรษ เราต้องการสนธิสัญญาสากลที่มีผลทางกฎหมายอย่างเข้มงวดว่าด้วยการจัดการมลพิษพลาสติกซึ่งจะช่วยหยุดปัญหาที่ต้นเหตุ"
ไมโครพลาสติกถือเป็นภัยอันตรายต่อมหาสมุทร เพราะไม่เพียงแค่ปนเปื้อนในน้ำเท่านั้น แต่ยังทำลายระบบอวัยวะภายในของสัตว์ทะเล ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร
อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติได้เริ่มเจรจาข้อตกลงเพื่อจัดการกับมลพิษพลาสติกในอุรุกวัยในเดือนพฤศจิกายน โดยมีเป้าหมายที่จะร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายในสิ้นปีหน้า ขณะที่ กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซชี้ว่าหากไม่มีสนธิสัญญาระดับโลกที่มีผลทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ปริมาณพลาสติกอาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าในอีก 10-15 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็นสามเท่าภายในปี 2050