posttoday

นักวิทย์ญี่ปุ่นผุดแขนกลไซบอร์กแบบสวมใส่ได้

28 มิถุนายน 2566

หากส่วนประกอบของไซบอร์กมีให้ใช้อย่างเสรีเหมือนจักรยานให้เช่าข้างถนน โลกของเราจะดูเป็นอย่างไร? ทีมของ Masahiko Inami แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวได้พยายามหาคำตอบดังกล่าวด้วยการสร้างแขนกลที่สามารถถอดและสวมใส่ได้ เพื่อปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ของผู้ใช้งาน

ทีมงานของ Inami กำลังพัฒนาชุดของเทคโนโลยีที่มีรากฐานมาจากแนวคิด "jizai" ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายถึงความเป็นอิสระและสามารถทำได้อย่างใจต้องการ

โดยจุดมุ่งหมายของการสร้างก็เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักดนตรีกับเครื่องดนตรี เสมือนให้เครื่องดนตรีกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

นักวิทย์ญี่ปุ่นผุดแขนกลไซบอร์กแบบสวมใส่ได้

Inami ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและเรื่องสั้นกึ่งสยองขวัญโดยนักประพันธ์ Yasunari Kawabata ที่เนื้องเรื่องระบุถึงชายคนหนึ่งที่ยืมแขนหญิงสาวและใช้เวลาไปกับมันทั้งคืน

"สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่ใช่คู่แข่งของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรากระทำในสิ่งที่ต้องการ เหมือนกับจักรยาน นอกจากจะช่วยสนับสนุนเราแล้ว สิ่งประดิษฐ์นี้ยังสามารถปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ได้" Inami กล่าว

นักวิทย์ญี่ปุ่นผุดแขนกลไซบอร์กแบบสวมใส่ได้

วิดีโอโปรโมต "Jizai Arms" แสดงให้เห็นถึงนักเต้นบัลเลต์สองคนที่กำลังแสดงโดยมีแขนกลยื่นออกมาจากหลังและลำตัว มนุษย์และเครื่องจักรเคลื่อนไหวประสานกัน ก่อนจะสวมกอดกันในที่สุด

Inami กล่าวว่า "ผู้ที่ใช้แขนกลจะเกิดความรู้สึกผูกพันกับมันเมื่อผ่านไปสักระยะ และเมื่อถอดออกอาจเกิดความรู้สึกไม่ชินและรู้สึกเศร้าไปบ้าง นี่คือจุดที่ทำให้แขนกลไซบอร์กแตกต่างไปจากเครื่องมือชนิดอื่น ๆ"

นักวิทย์ญี่ปุ่นผุดแขนกลไซบอร์กแบบสวมใส่ได้

นอกเหนือจากการเปลี่ยนจินตนาการของนักเขียนนิยายให้กลายเป็นจริง Inami ระบุว่า แขนกลไซบอร์กยังสามารถช่วยเหลือในภารกิจค้นหาและกู้ภัย 

“ในอนาคต เราอาจเห็นปีกงอกออกมาจากหลังคน หรือมีโดรนยึดติดไว้ บางทีอาจเกิดกีฬาชนิดใหม่ที่ต้องใช้แขนถึง 6 แขน ไม่ก็เกิดการแข่งขันว่ายน้ำในรูปแบบใหม่” Inami กล่าวปิดท้าย

นักวิทย์ญี่ปุ่นผุดแขนกลไซบอร์กแบบสวมใส่ได้