Climate change ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้หลายประเทศ แรงกว่าโควิด-19
จากการศึกษาที่จำลองผลกระทบทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (sovereign credit ratings) ในปัจจุบัน พบว่า หากทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ จะส่งผลให้อัตราการชำระหนี้เพิ่มขึ้นใน 59 ประเทศภายในทศวรรษหน้า
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Management Science เมื่อวันจันทร์พบว่า ในหมู่ประเทศเช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา จะมีอัตราการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคะแนนความน่าเชื่อถือของประเทศดังกล่าวลดลง 2 ระดับภายใต้ระบบการจัดอันดับที่ปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ (climate-adjusted ratings system) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยในสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า RCP 8.5 หรือสถานการณ์ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้ 59 ประเทศ ถูกลดอันดับ ขณะที่เมื่อเทียบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีประเทศที่ถูกลดอันดับลง 48 ประเทศเท่านั้น
ต้นทุนหนี้ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแค่หนึ่งในองค์ประกอบความเสียหายทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านประกันภัยอย่าง Allianz ประเมินว่าสถานการณ์คลื่นความร้อนล่าสุดที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผลผลิตทั่วโลกลดลงอย่างน้อย 0.6% ในปีนี้
การศึกษาของ UEA/Cambridge ได้ฝึกฝนแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ด้วยระบบการจัดอันดับที่มีอยู่แล้วของ S&P Global จากนั้นจึงรวมเข้ากับแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อสร้างการจัดอันดับใหม่สำหรับสถานการณ์ทางภูมิอากาศต่าง ๆ
ภายใต้การประเมินด้วยแบบจำลองนี้ หากทั่วโลกสามารถดำเนินงานตามเป้าหมายที่ให้ไว้ในข้อตกลงปารีสได้ ว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ระดับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นๆจะไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้น มิหนำซ้ำยังสามารถจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวได้
ขณะเดียวกัน สำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อการปล่อยมลพิษแตะระดับสูงสุดในสิ้นศตวรรษนี้ จะส่งผลให้ต้นทุนการชำระหนี้ทั่วโลกสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็นแสนล้านดอลลาร์ในรูปค่าเงินในปัจจุบัน
ประเทศกำลังพัฒนาที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือต่ำ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ประเทศที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือสูงจะเผชิญเพียงแค่การถูกปรับลดอันดับเท่านั้น
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวจากการศึกษาดังกล่าวเกิดขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกซึ่งกำลังพยายามมองหาวิธีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกได้มากเพียงใด