posttoday

นักวิทยาศาสตร์มึน มลพิษทางอากาศมีส่วนลดความรุนแรงภาวะโลกร้อน

04 พฤศจิกายน 2566

แม้มลพิษทางอากาศ จะเป็นปัจจัยที่คร่าชีวิตผู้คนหลายล้านรายในแต่ละปี แต่การกำจัดมลพิษทางอากาศให้หมดสิ้นกลับกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีนและการศึกษาด้านสุขภาพแสดงให้เห็นว่า มลพิษส่วนใหญ่เกิดจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการกำจัดมลพิษต้องลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงถึง 90% จึงจะปลอดภัยต่อชีวิตประชากร ขณะเดียวกันซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลง เพราะช่วยสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ออกไปจากโลก 

นับตั้งแต่ปี 2014 อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของประเทศจีนเพิ่มขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส จากการลดการปล่อยมลพิษที่ช่วยสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ออกไปจากโลก ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนครั้งรุนแรง โดยเมืองหนึ่งในเขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจนแตะ 52.2 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคม ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศที่ 50.3 องศาเซลเซียสเมื่อปี 2015

ทางการจีน ประกาศนโยบายระดับชาติเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศตั้งแต่ปี 2013 ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงประมาณ 87% หรือ 2.7 ล้านเมตริกตันในปี 2021 ขณะที่ช่วงปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของจีนเกิดขึ้นในปี 2006 ที่เกือบ 26 ล้านเมตริกตัน

มลพิษทางอากาศที่ลดลงมาพร้อมกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วง 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2014 อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของจีนอยู่ที่ 10.34 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นมากกว่า 0.7 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปี 2001-2010  

Patricia Quinn นักเคมีด้านบรรยากาศจาก NOAA กล่าวว่า นี่เป็นสถานการณ์ซึ่งมีความขัดแย้งกันจนหาคำตอบไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยแต่ละอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน เราต้องการทำให้อากาศมีความบริสุทธิ์ แต่การทำแบบนั้น กลับทำให้โลกของเราร้อนขึ้น

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการกำจัดมลพิษทางอากาศ อาจมีผลกระทบต่ออุณหภูมิในเมืองอุตสาหกรรมบางแห่งของจีน ซึ่งส่งผลร้ายกว่าภาวะโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่าพื้นที่อื่นที่มีมลพิษสูง เช่น อินเดียและตะวันออกกลาง จะเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับจีน หากประเทศเหล่านี้กำจัดมลพิษออกจากอากาศ

ในรายงานปี 2021 IPCC ระบุความเชื่อมโยงระหว่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์และภาวะโลกร้อนไว้ว่า หากชั้นบรรยากาศไม่มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์  อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.6 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศยังไม่มีข้อเสนอแนะว่าควรยุติสงครามต่อต้านมลพิษหรือไม่ ขณะที่องค์การอนามัยโลกกล่าวว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 7 ล้านคนต่อปี และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ยากจน

อย่างไรก็ตาม พวกเขาระบุว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน โดยต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง เพราะถือเป็นแนวทางที่ดูมีความเป็นไปได้มากที่สุดในระยะสั้น