posttoday

SpeakerBeam เครื่องช่วยฟังอัจฉริยะที่ขยายเฉพาะเสียงที่ต้องการ

07 พฤศจิกายน 2566

เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์สำคัญต่อผู้บกพร่องทางการได้ยิน ช่วยให้พวกเขาได้ยินเสียงรอบข้างและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ กระนั้นยังมีข้อจำกัดการใช้งานโดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีเสียงเซ็งแซ่ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการคิดค้น เครื่องช่วยฟังอัจฉริยะที่ขยายเสียงตามต้องการ

อาการหูตึง หรือ ความบกพร่องทางการได้ยิน คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปกับคนเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดการเสื่อมของประสาทหูตามช่วงวัย นำไปสู่การได้ยินเสียงผิดเพี้ยนหรือตกหล่นตามระดับความเสียหาย และเป็นอาการป่วยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

         ปัจจุบันผู้มีปัญหาทางการได้ยินขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สถิติล่าสุดผู้พิการทางการได้ยินในไทยมีมากกว่า 400,000 ราย ไม่รวมจำนวนผู้บกพร่องทางการได้ยินอื่นๆ สาเหตุมาจากการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุทำให้คนมีปัญหาทางการได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การคิดค้นอุปกรณ์ที่ช่วยรองรับอาการป่วยหลากหลายรูปแบบ

 

         หนึ่งในอุปกรณ์ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาคือ เครื่องช่วยฟัง ที่ได้รับการออกแบบมาให้สนับสนุนผู้มีปัญหาทางการได้ยินให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง

 

SpeakerBeam เครื่องช่วยฟังอัจฉริยะที่ขยายเฉพาะเสียงที่ต้องการ

 

เครื่องช่วยฟัง หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญของคนไม่ได้ยิน

 

         เครื่องช่วยฟัง คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งประกอบด้วยไมค์ เครื่องขยายเสียง และลำโพง มีคุณสมบัติหลักในการช่วยตรวจจับและขยายระดับเสียงจากรอบข้างให้สอดคล้องกับระดับการได้ยินของผู้ใช้งาน โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

         คุณสมบัติเด่นของเครื่องช่วยฟังคือ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถได้ยินเสียงรอบข้างชัดเจนขึ้น, เพิ่มความสมดุลในการรับฟังช่วยให้แยกแยะทิศทางของเสียงง่าย, ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถหันหน้าพูดคุยได้ตามปกติไม่ต้องหันข้างเพื่อให้ได้ยินชัดเจน รวมถึงยังช่วยลดความเครียดจากจดจ่อสนทนา จนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ตามปกติ

 

         ระดับการใช้งานของเครื่องช่วยฟังขึ้นกับระดับการได้ยินของผู้ใช้งาน ยิ่งระดับความเสียหายในการได้ยินมากกำลังขยายที่ใช้งานก็ยิ่งมากตาม เครื่องช่วยฟังแต่ละชิ้นโดยมากจึงได้รับการออกแบบหรือตั้งค่าให้เข้ากับผู้ใช้งานแต่ละคน ใกล้เคียงกับการใช้งานแว่นตาที่ไม่สามารถยืมของคนอื่นมาใช้ได้

 

         เครื่องช่วยฟังที่มีการใช้งานในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ หนึ่งคือแบบกล่องพร้อมหูฟังเป็นเครื่องช่วยฟังที่เราคุ้นตาหาซื้อง่ายประสิทธิภาพสูง, สองคือแบบทัดหลังหูซึ่งมีขนาดเล็กลงซึ่งงานง่ายและให้เสียงที่เป็นธรรมชาติขึ้น และสามแบบหูฟังใกล้เคียงกับหูฟังที่ใช้กันทั่วไปและมีฟังก์ชันการใช้งานมากมายแต่มีราคาสูงที่สุดเช่นกัน

 

         อย่างไรก็ตามการใช้งานเครื่องช่วยฟังเองยังคงมีข้อจำกัดในบางด้าน โดยเฉพาะในสภาพแวดที่มีเสียงดังเซ็งแซ่หรือคนพลุกพล่าน เครื่องช่วยฟังอาจทำงานมากเกินไปจนมีเสียงรบกวนจำนวนมาก บางครั้งอาจถึงขนาดทำให้ไม่สามารถพูดคุยสนทนาได้เลยทีเดียว

 

         แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปจากการมาถึงของเครื่องช่วยฟังอัจฉริยะที่ขยายเฉพาะเสียงที่ต้องการ

 

SpeakerBeam เครื่องช่วยฟังอัจฉริยะที่ขยายเฉพาะเสียงที่ต้องการ

 

SpeakerBeam หมดปัญหาการแยกแยะเสียงเครื่องช่วยฟัง

 

         ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก NTT Corporation แห่งญี่ปุ่น กับการพัฒนาเครื่องช่วยฟังชนิดใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้มีปัญหาทางการได้ยินที่ใช้งานเครื่องช่วยฟัง กับ SpeakerBeam เครื่องช่วยฟังที่สามารถแยกแยะและขยายเสียงของคู่สนทนาได้

 

         แนวคิดนี้เกิดจากความพยายามในการแก้ปัญหาเครื่องช่วยฟังรุ่นปัจจุบัน เมื่อต้องเจอสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางเสียงหรืออยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก อัตราการขยายเสียงจากสภาพแวดล้อมอาจทำให้เสียงของบทสนทนากลืนไปกับรอบข้าง ทำให้ผู้ใช้งานเข้าร่วมงานเลี้ยงหรือการรวมตัวทางสังคมได้ยาก

 

         ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีแนวคิดในการให้เครื่องช่วยฟังขยายเฉพาะเสียงของคู่สนทนา โดยเริ่มต้นจากทำการบันทึกเสียงของคู่สนทนาคนดังกล่าวเป็นเวลาขั้นต่ำ 10 วินาที เพื่อให้ตัวระบบสามารถทำการวิเคราะห์เนื้อและโทนเสียงของคู่สนทนา โดยยิ่งมีข้อมูลเสียงตัวอย่างเท่าไหร่ยิ่งสามารถแยกได้แม่นยำ

 

         เมื่อเครื่องช่วยฟังตรวจจับโทนเสียงชนิดเดียวกับที่บันทึกได้ ระบบจะทำการขยายเสียงเฉพาะโทนเสียงที่ได้รับการบันทึกไว้และตัดเสียงแทรกซ้อนจากสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถได้ยินเสียงของคู่สนทนาได้ชัดเจน และสามารถพูดคุยกับคู่สนทนาได้ตามปกติแม้อยู่ในสภาพที่มีมลภาวะทางเสียง

 

         จากการทดลองการใช้งานพบว่า SpeakerBeam สามารถจดจำเสียงของคู่สนทนา เพิ่มขีดความสามารถในการสนทนาต่อผู้มีปัญหาทางการได้ยินถึง 60% เมื่อเทียบกับเครื่องช่วยฟังทั่วไป ช่วยให้ผู้มีปัญหาทางการได้ยินสามารถสนทนาตามปกติ แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงเพลงดังก็ตาม

 

         อย่างไรก็ตามระบบของ SpeakerBeam นี้ยังต้องได้รับการแก้ไขพัฒนาอีกหลายด้าน ทั้งข้อจำกัดที่ต้องมีเสียงตัวอย่างของคู่สนทนาราว 10 วินาที จึงอาจไม่สามารถใช้งานกับคนที่เพิ่งคุยกันครั้งแรก, ขีดจำกัดการจดจำเสียงเพื่อนำมาประมวลผล หรือในกรณีที่มีโทนเสียงคล้ายกันระบบจะเกิดความสับสนหรือไม่ ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันต่อไป

 

         แต่ไม่ว่าอย่างไรในอนาคตนี่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยินอีกมาก

 

 

         จริงอยู่ระบบนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินเป็นอย่างมาก แต่เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้แนวทางอื่นได้เช่นกัน ในอนาคตระบบนี้อาจถูกนำไปพัฒนาเป็นลำโพงอัจฉริยะ หูฟังอัจฉริยะ  หรือแม้แต่เครื่องบันทึกเสียงต่างๆ ที่ช่วยตัดเสียงรบกวนจนสามารถสื่อสารนอกสถานที่ได้สะดวกขึ้นก็เป็นได้

 

         นี่จึงอาจเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีน่าสนใจที่ได้รับใช้งานในอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารยุคต่อไป

 

 

 

 

         ที่มา

 

         https://www.rama.mahidol.ac.th/hearing_aids_center/th/news/announcement/17jun2019-1522

 

         https://eent.co.th/articles/019/

 

         https://group.ntt/en/magazine/blog/speakerbeam/