posttoday

หุ้นอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อินโดคึกคัก จากข่าวลือเรื่อง Temu เข้าซื้อกิจการ

09 ตุลาคม 2567

หุ้น Bukalapak อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียพุ่ง จากรายงานของสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการของบริษัท TEMU ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีน ที่หวังแก้เกมการถูกแบนจากทางการอินโดนีเซีย

มีการทำธุรกรรมครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นบริษัทอีคอมเมิร์ซ Bukalapak.com (BUKA) ในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ในวันพุธ ท่ามกลางการคาดเดาว่าบริษัทอาจถูกซื้อกิจการโดย Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เพื่อแก้เกมที่ยังไม่สามารถเข้าไปจดทะเบียนทำธุรกิจในอินโดนีเซียได้

สื่อด้านหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย ระบุว่าพบว่าหุ้น Bukalapak จำนวน 9.83 พันล้านหุ้นซื้อขายกันที่ 120 รูเปียห์ต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.17 ล้านล้านรูเปียห์ (77 ล้านเหรียญสหรัฐ) นอกจากนี้ ยังมีการทำธุรกรรมหุ้นอีก 3.61 พันล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 250 รูเปียห์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 904.16 พันล้านรูเปียห์ (58 ล้านดอลลาร์) โดยรวมแล้ว การทำธุรกรรมหุ้นของ BUKA มีมูลค่าถึง 2.08 ล้านล้านรูเปียห์ (135 ล้านดอลลาร์)

ทำให้หุ้น BUKA มีราคาอยู่ที่ 150 รูเปียห์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.04 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลา 11.00 น. ตามเวลาจาการ์ตาในวันพุธ

เพื่อตอบสนองต่อข่าวลือการเข้าซื้อกิจการ ผู้บริหารของ Bukalapak กล่าวในจดหมายถึงตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ว่า "บริษัทไม่ทราบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับแผนการเข้าซื้อกิจการของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu"

 “บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้รับรายละเอียดที่ตรวจสอบแล้วเกี่ยวกับแผนการซื้อกิจการ”

 

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียยืนยันคำสั่งแบนแพลตฟอร์ม Temu อีคอมเมิร์ซน้องใหม่มาแรงของจีน ซึ่งทำให้การทำธุรกรรมโดยตรงระหว่างผู้ผลิตชาวจีนและผู้บริโภคทั่วโลกสะดวกมากขึ้น โดยอ้างถึงความกังวลว่าอาจเป็นอันตรายต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่น  และละเมิดระเบียบข้อบังคับด้านการค้า

นายบูดี อารี เซเทียดี รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารอินโดนีเซีย ย้ำว่า การขายตรงจากโรงงานถึงลูกค้าของ Temu เป็นการละเมิดข้อบังคับด้านการค้าของอินโดนีเซียที่จะต้องมีตัวกลางในการค้าขาย พร้อมกับย้ำด้วยว่า การอนุญาตให้ Temu ทำการค้าในอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้

ขณะเดียวกัน Temu ซึ่งเป็นของ PDD Holdings เจอกับความล้มเหลวในการจดทะเบียนในหลายประเทศ เนื่องจากข้อขัดแย้งด้านเครื่องหมายการค้า และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น