posttoday

ชวนรู้จัก "คณะผู้เลือกตั้ง" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

13 ตุลาคม 2567

ชวนรู้จัก "คณะผู้เลือกตั้ง" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่าง “คามาลา แฮร์ริส” ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน

รู้หรือไม่ว่า การเลือกตั้ง “ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา” แต่ละครั้ง ผู้คว้าชัยจนได้ตำแหน่งไปครองไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนทั่วประเทศโดยตรง แต่ผ่านระบบที่เรียกว่า "คณะผู้เลือกตั้ง" (Electoral College) ซึ่งระบบนี้จะจัดสรรคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ 50 รัฐและเขตโคลัมเบีย โดยพิจารณาจากจำนวนประชากรเป็นหลัก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 นี้ระหว่าง “คามาลา แฮร์ริส” รองประธานาธิบดีผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน มีดังต่อไปนี้

ชวนรู้จัก \"คณะผู้เลือกตั้ง\" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College)  คืออะไร?

เมื่อประชาชนชาวอเมริกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี สิ่งที่พวกเขาเห็นบนบัตรเลือกตั้งคือชื่อของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเท่านั้น แต่เบื้องหลังการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีระบบที่ซับซ้อนกว่าที่ปรากฏ

แท้จริงแล้ว ประชาชนกำลังลงคะแนนเสียงเลือก "บัญชีรายชื่อ" หรือที่เรียกว่า  “คณะผู้เลือกตั้ง” ซึ่งจะทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกเลือกประธานาธิบดีให้ในนามของรัฐนั้นๆ โดยคณะผู้เลือกตั้งมักเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพรรคการเมือง ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในรัฐของตน 

ซึ่งในสหรัฐฯ มีคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 คน ดังนั้น ผู้สมัครที่ต้องการชนะการเลือกตั้งเพื่อคว้าตำแหน่งประธานาธิบดี ต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 270 คะแนน 

ระบบคณะผู้เลือกตั้ง เกิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างผู้ก่อตั้งประเทศในอดีตที่เห็นต่างในเรื่องวิธีการเลือกประธานาธิบดี ว่าควรให้รัฐสภาหรือประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยระบบนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา 

ชวนรู้จัก \"คณะผู้เลือกตั้ง\" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากันหรือไม่?

จำนวนคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของรัฐนั้นๆ โดยแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวนผู้แทนและวุฒิสมาชิกในรัฐสภา (แต่ละรัฐมีวุฒิสมาชิก 2 คน) แต่การจัดสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรนั้นแตกต่างกันไปตามจำนวนประชากร

รัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุด และมีคณะผู้เลือกตั้งถึง 54 คน

ส่วนเขตโคลัมเบีย และรัฐที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด 6 รัฐ มีคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 3 คะแนนเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่จัดสรรให้แก่แต่ละรัฐ

ดังนั้น คะแนนเสียงเลือกตั้ง 1 คะแนนในรัฐไวโอมิง ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรน้อยที่สุด จะเป็นตัวแทนของประชากรประมาณ 192,000 คน ขณะที่คะแนนเสียงเลือกตั้ง 1 คะแนนในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็น 1 ในรัฐที่มีตัวแทนน้อยที่สุด จะเป็นตัวแทนของประชากรประมาณ 730,000 คน

ในสหรัฐอเมริกา ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีส่วนใหญ่ใช้หลักการ Winner Takes All หรือ  "ผู้ชนะได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด" ซึ่งหมายความว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในรัฐนั้นมากที่สุด จะได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นเพียงสองรัฐคือ เมน และเนบราสกา ที่ใช้ระบบการจัดสรรคะแนนแตกต่างออกไป โดยจะแบ่งคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งให้กับผู้สมัครตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ได้รับจากประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้ง

ดังนั้น การหาเสียงในแต่ละครั้งผู้สมัครจึงมุ่งเน้นไปที่ swing states หรือรัฐที่มีคะแนนเสียงไม่แน่นอน โดยรัฐเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดผลเลือกตั้ง เนื่องจากประชากรมีแนวโน้มที่จะสลับการสนับสนุนระหว่างผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 มีการระบุ Swing States ไว้ 7 รัฐด้วยกัน 

  1. แอริโซนา (Arizona)
  2. จอร์เจีย (Georgia)
  3. เนวาดา (Nevada)
  4. นอร์ทแคโรไลนา (North Carolina)
  5. เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania)
  6. มิชิแกน (Michigan)
  7. วิสคอนซิน (Wisconsin)

ชวนรู้จัก \"คณะผู้เลือกตั้ง\" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ผู้สมัครสามารถชนะการเลือกตั้งได้แม้จะแพ้คะแนนเสียงประชาชนหรือไม่?

สามารถชนะได้

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันในปี 2543 และทรัมป์ในปี 2559 ต่างได้เป็นประธานาธิบดีแม้จะแพ้คะแนนเสียงจากประชาชน นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังเคยเกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในศตวรรษที่ 19 ขณะที่นักวิจารณ์หลายรายมักหยิบประเด็นดังกล่าวมาถกว่า เป็นช่องโหว่ของระบบการเลือกตั้งสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนระบบคณะผู้เลือกตั้งกล่าวว่า ระบบนี้บังคับให้ผู้สมัครต้องแสวงหาคะแนนเสียงจากรัฐต่างๆ อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสม แทนที่จะหาฐานเสียงสนับสนุนจากประชากรตามเมืองใหญ่ๆเท่านั้น

คณะผู้เลือกตั้งลงคะแนนเสียงเมื่อใด?

คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมกันในวันที่ 17 ธันวาคม เพื่อลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการและส่งผลไปยังรัฐสภา โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 270 คะแนนหรือมากกว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี

คะแนนเสียงเหล่านี้จะได้เริ่มนับอย่างเป็นทางการโดยรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม และประธานาธิบดีจะเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม

คณะผู้เลือกตั้งเคยทุจริตหรือไม่?

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว การประชุมคณะผู้เลือกตั้งจะเป็นเพียงขั้นตอนสุดท้ายในการยืนยันผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ในปี 2559 กลับเกิดเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อคณะผู้เลือกตั้ง 7 คนจากทั้งหมด 538 คน ตัดสินใจลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ไม่ได้รับชัยชนะจากการลงคะแนนของประชาชนในรัฐของตน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงผิดปกติ 

3 ใน 7 คนนี้ลงคะแนนเสียงให้กับโคลิน พาวเวลล์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นตัวแทนของรัฐที่เลือกผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอย่าง ฮิลลารี คลินตัน จนในท้ายที่สุด ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้น

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสภาการประชุมแห่งรัฐแห่งชาติ 33 รัฐและเขตโคลัมเบียมีกฎหมายและบทลงโทษทางอาญา หากคณะผู้เลือกตั้ง "ไม่ซื่อสัตย์" ลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครจากพรรคอื่น ที่สวนทางกับการลงคะแนนของประชาชนในรัฐของตน

เกิดอะไรขึ้นหากคะแนนเสมอกัน?

หนึ่งในช่องโหว่ของระบบคณะผู้เลือกตั้งคือ ในทางทฤษฎีอาจเกิดการเสมอกันที่ 269-269 คะแนน ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้ สภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งใหม่จะเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 6 มกราคม โดยแต่ละรัฐจะลงคะแนนเสียงเป็น 1 หน่วย ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 12 ของสหรัฐอเมริกา

ในปัจจุบัน พรรครีพับลิกันควบคุมคณะผู้แทนใน 26 รัฐ ในขณะที่พรรคเดโมแครตควบคุม 22 รัฐ ส่วนรัฐมินนิโซตาและนอร์ทแคโรไลนามีจำนวนสมาชิกจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเท่ากัน

ชวนรู้จัก \"คณะผู้เลือกตั้ง\" ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ระบบคณะผู้เลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้ไหม?

รัฐสภาได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องหลังการเลือกตั้งปี 2563 เมื่อทรัมป์อ้างว่าเขาได้รับชัยชนะ แต่อัยการระบุว่าเขากดดันเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อพยายามพลิกผลการเลือกตั้ง

ในปี 2565 รัฐสภาได้ผ่านพระราชบัญญัติปฏิรูปการนับคะแนนเลือกตั้ง เพื่อชี้แจงว่าผู้ว่าการรัฐแต่ละรัฐหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่รัฐเลือกจะเป็นผู้รับรองผลการเลือกตั้งของรัฐก่อนที่จะส่งไปยังรัฐสภา

กฎหมายฉบับใหม่นี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของเหตุการณ์ทางตันในการเลือกตั้งปี 2419 เมื่อ3 รัฐได้ส่งคณะผู้เลือกตั้งซ้ำซ้อนกัน โดย คณะหนึ่งรับรองโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐ และอีกคณะหนึ่งโดยฝ่ายบริหาร

กฎหมายนี้ยังกำหนดเส้นตายภาคบังคับสำหรับการรับรองผล โดยให้เวลารัฐต่างๆ 36 วันหลังการเลือกตั้งปี 2567 เพื่อดำเนินการนับคะแนนใหม่และการฟ้องร้องทางกฎหมายให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม หากต้องการการยกเลิกระบบคณะผู้เลือกตั้งจะต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น