posttoday

อิทธิพล AI กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความท้าทายของประชาธิปไตยยุคดิจิทัล

21 ตุลาคม 2567

อิทธิพลของ AI กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ความท้าทายของประชาธิปไตยในยุคดิจิทัล? ชาวอเมริกันเริ่มหวั่น “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)” อาจส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ผลการสำรวจจากศูนย์วิจัย Pew ในเดือนกันยายน 2024 เผยว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มหวั่นว่า “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)” อาจส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้อาจถูกนำไปสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จระหว่างการหาเสียง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม (University of Nottingham) ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพการทำงานของ AI ที่อาจส่งอิทธิผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 นั้น ไม่ได้มีความแปลกใหม่อย่างที่หลายฝ่ายกำลังกังวล 

อิทธิพล AI กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความท้าทายของประชาธิปไตยยุคดิจิทัล

บทบาทและอิทธิพลของ AI กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

1. ให้ข้อมูลกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นับตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT ในปี 2022 สังคมเริ่มตระหนักถึงศักยภาพของ Generative AI ที่สามารถสร้างเนื้อหาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ ตอบคำถามทางประวัติศาสตร์ รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้แชทบอท AI เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ แทนการค้นหาผ่าน Google เช่น ตั้งแต่ปี 2020 อัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน, ในรัฐเท็กซัส ผู้สมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกคือใคร

อย่างไรก็ตาม AI อาจให้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้  ตามรายงานของ CBS News ในเดือนมิถุนายน 2024 พบว่า ChatGPT เคยให้คำตอบที่ไม่ถูกต้อง/ไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนเสียงในรัฐต่างๆ และไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของ OpenAI ในการแนะนำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไปที่เว็บไซต์ CanIVote.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง

2. ปลอมภาพและเสียงด้วย Deepfake

Deepfake คือ เทคโนโลยีการปลอมภาพ วิดีโอ และเสียงที่สร้างขึ้นจาก AI ซึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมักถูกนำภาพไปตัดต่อ และสร้างเสียงปลอมขึ้นมา ซึ่งการจับผิดเทคโนโลยีดังกล่าว ยังถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก 

3. ขัดขวางการทำงานของระบบการเลือกตั้ง

ประชาชนบางส่วนกังวลว่า AI อาจถูกนำมาใช้โดยกลุ่มคนที่ปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ผ่านการยื่นคำร้องเรียนออนไลน์เพื่อสร้างความวุ่นวายต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม True the Vote เคยยื่นคำร้องในลักษณะดังกล่าวเพื่อสร้างความวุ่นวายต่อเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาแล้ว และในช่วงเวลานั้นยังไม่มีเทคโนโลีอย่าง AI เข้ามาช่วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวอเมริกันจึงกังวลว่าเมื่อมีเทคโนโลยี AI เกิดขึ้นแล้ว อาจส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าในอดีตมาก

4. ถูกแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างชาติ

ในการเลือกตั้งปี 2016 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยืนยันว่าถูกแทรกแซงการเลือกตั้งจากรัสเซีย ซึ่งเปรียบเสมือนการยิ่งตอกย้ำว่ายังมีอีกหลายประเทศที่ต้องการลดความน่าเชื่อถือของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกลง

ที่ผ่านมาในเดือนกรกฎาคม กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยึดโดเมนเนมสองแห่งและตรวจสอบบัญชีเกือบ 1,000 บัญชีที่เป็นบอทแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงเป็นที่น่ากังวลว่า ในยุคที่ AI เต็มไปด้วยศักยภาพ ต่างชาติอาจใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ ในลักษณะที่ทวีความรุนแรงกว่าในอดีตหรือไม่

อิทธิพล AI กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความท้าทายของประชาธิปไตยยุคดิจิทัล

การควบคุม AI สามารถทำได้หรือไม่?

แม้การสร้างข่าวลวงอาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เสมอไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประสิทธิภาพของ AI ถือเป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อการดำเนินการและความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง ซึ่งความพยายามในการควบคุมการใช้ AI ในทางการเมืองนั้น รัฐต่างๆ ถือว่าเริ่มมีความกระตือรือร้นขึ้นมาบ้างแล้ว โดยปัจจุบันมี 19 รัฐที่ออกคำสั่งห้ามรวมถึงจำกัดการใช้เทคโนโลยี Deepfake ในการหาเสียง

ความกังวลถึงผลกระทบของ AI จากสาธารณชน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินการออกกฎระเบียบควบคุม ที่แม้การควบคุมเทคโนโลยีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็ถือว่าภาครัฐยังออกมาดำเนินการ แทนการนิ่งเฉยดูดาย