ไขทุกข้อสงสัย! ปมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกจับข้อหากบฏ

15 มกราคม 2568

ไขทุกข้อสงสัย! ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ ถูกจับกุมคาเก้าอี้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลี จากปมก่อกบฏ ประกาศกฎอัยการศึก

ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ ถูกจับกุมคาเก้าอี้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์เกาหลี จากปมก่อกบฏ ประกาศกฎอัยการศึก ด้านอดีตผู้นำอ้าง ยอมร่วมมือต่อการสอบสวนเพื่อหลีกเลี่ยง "การนองเลือด" ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้มีมติให้ถอดถอนนายยุนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา นายยุนได้หลบซ่อนตัวอยู่ในที่พักส่วนตัวบนเนินเขา โดยมีทีมรักษาความปลอดภัยส่วนตัวคอยคุ้มกัน ซึ่งเคยปฏิบัติการขัดขวางการจับกุมตัวครั้งก่อนมาแล้ว

ตามรายงาน ในเช้าวันพุธ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าปฏิบัติการจับกุมนายยุน ณ ที่พัก โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 3,000 นายเข้าร่วมปฏิบัติการ ต่อมา นายยุนได้ให้ความร่วมมือในการเข้ารับการสอบสวนของสำนักงานสืบสวนการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ "นองเลือด" ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ไขทุกข้อสงสัย! ปมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกจับข้อหากบฏ

ย้อนฉนวนเหตุ เกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก

วิกฤตการเมืองเกาหลีใต้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 เมื่อประธานาธิบดียุน ซอก-ยอลประกาศใช้กฎอัยการศึกผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามจาก "กองกำลังต่อต้านรัฐ" และอันตรายจากเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจครั้งนี้กลับสร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในสังคมเกาหลีใต้

การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายภาคส่วน โดยมองว่าเป็นความพยายามที่จะกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองภายในประเทศมากกว่าการรับมือกับภัยคุกคามจากภายนอกตามที่เขากล่าวอ้าง ขณะที่นักวิเคราะห์และฝ่ายค้านถึงกับประณามว่านี่คือ "การรัฐประหารโดยพฤตินัย" ที่มุ่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

จุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการใช้กฎอัยการศึก จนนำไปสู่การลงมติในสภาเพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าวรวมถึงลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2024

ทั้งนี้ สำหรับข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการก่อกบฏ ในเกาหลีใต้ถือว่าเป็นข้อหาหนักและร้ายแรง เป็นอาชญากรรมที่ต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

ไขทุกข้อสงสัย! ปมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกจับข้อหากบฏ

อนาคตของอดีตประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้

แม้สภาพอากาศจะหนาวเย็นจัด ผู้ประท้วงก็ยังคงออกมาแสดงพลังด้วยการรวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อคัดค้านคำสั่งประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นมาตรการที่นายยุนอ้างว่าใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันความวุ่นวายที่เกิดจากการกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งที่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน

หลังจากพบว่านายยุนได้เดินทางออกจากที่พักโดยรถยนต์ส่วนตัว และมุ่งหน้าไปยังสำนักงาน CIO เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะมีเวลา 48 ชั่วโมงในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้ หากพิจารณาแล้วเห็นสมควร จะต้องยื่นคำร้องขอหมายขังต่อศาล เพื่อควบคุมตัวนายยุนไว้เป็นเวลา 20 วัน หากพ้นกำหนดดังกล่าว และไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะขอขยายเวลา ศาลจะต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายยุน

อย่างไรก็ตาม ทนายความของอดีตประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล อ้างว่าการออกหมายจับในครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจของศาล และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานสอบสวน

การจับกุมประธานาธิบดีที่กำลังดำรงตำแหน่งในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ และสร้างความสะเทือนให้กับแวดวงการเมืองของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย

ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด รองนายกรัฐมนตรี ชเว ซังมก ในฐานะผู้นำรักษาการ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี หลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ปาร์ค ชานแด ผู้นำพรรคฝ่ายค้านผู้ผลักดันให้มีการถอดถอนประธานาธิบดียุน ก็ออกมาประกาศว่า การจับกุมครั้งนี้เป็น "ก้าวสำคัญก้าวแรกในการกอบกู้ระบอบประชาธิปไตยและนำพาประเทศกลับสู่วิถีแห่งกฎหมาย"

 

ไขทุกข้อสงสัย! ปมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกจับข้อหากบฏ

แม้ผลสำรวจจะชี้ว่าคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน และต้องการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้กลับเปิดโอกาสให้ฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ได้แสดงพลัง ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค People Power Party เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยผลโพลล่าสุดของ Realmeter ระบุว่า พรรค People Power Party ของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอลได้คะแนนนิยมถึง 40.8% ตามหลังพรรคฝ่ายค้านที่ได้ 42.2% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบความคลาดเคลื่อนของการสำรวจ และช่องว่างระหว่างสองพรรคแคบลงมากจากเดิมที่ห่างกันถึง 10.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ที่แสดงให้เห็นว่าการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติและแรงกดดันจากประชาชน สามารถยับยั้งการใช้อำนาจที่เกินเลยของฝ่ายบริหารได้

Thailand Web Stat