ฮิต ‘โรงเรียนทางเลือก’ วิกฤตการศึกษากระแสหลัก?
โดยส่วนใหญ่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองต่างเชื่อมั่นตรงกันว่า การศึกษาคือใบเบิกทางเพื่อเป็นโอกาสในการรับมือกับอนาคตของบุตรหลาน
โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ / ธเนศน์ นุ่นมัน
โดยส่วนใหญ่แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองต่างเชื่อมั่นตรงกันว่า การศึกษาคือใบเบิกทางเพื่อเป็นโอกาสในการรับมือกับอนาคตของบุตรหลาน ใบเบิกทางดังกล่าวมามีเหตุปัจจัยต่างกันไป ทั้งในรูปแบบของโรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้าน โรงเรียนสาธิต โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนมีชื่อประจำจังหวัด ฯลฯ
แหล่งการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนแต่วัดความสำเร็จด้วยมุมมองทางวิชาการ มีตัวชี้วัดจากการเรียนรู้ ในรูปของผลคะแนน ซึ่งเป็นภาระที่นักเรียนแต่ละคนจะได้มาก็ต้องคร่ำเคร่งกับการเรียนอย่างหนัก ต้องผ่านการสอบแข่งขันกันเองในแต่ละระดับชั้น รวมไปถึงเพื่อให้ได้ที่เรียนที่ดีสำหรับในระดับชั้นที่สูงขึ้น ทั้งเด็กและผู้ปกครองยิ่งต้องเคี่ยวเข็ญตัวเอง และมีจำนวนไม่น้อยที่ออกจากห้องเรียนก็ยังต้องหาที่กวดวิชา
ขณะที่ภาพรวมความไว้วางใจในโรงเรียนกระแสหลัก นับวันยิ่งปรากฏในทางตรงข้าม เพราะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยที่ยังมีตัวเลขผลคะแนนที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ที่มีอาการโคม่าแทบทุกปี
สอดคล้องกับที่ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ปัจจุบันสังคมไทยเน้นค่านิยมเรื่องการแข่งขัน คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่อยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี ได้เข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เด็กไทยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ที่เห็นกันมากคือ เด็กๆ ต้องไปเรียนกวดวิชาตั้งแต่ 45 ขวบ เพื่อจะได้เข้าโรงเรียนดีๆ การที่เด็กถูกบังคับส่งผลให้เกิดความเครียด ไม่มีความสุข เอนดอร์ฟินไม่หลั่ง สมองก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น ไม่ได้ถูกพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อพัฒนาการเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้สติปัญญาของเด็กต่ำกว่ามาตรฐาน
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยทราบดี ว่า หากตระหนักถึงอนาคตของลูกหลาน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่จะเข้าเรียน ส่วนใหญ่คิดถึงโรงเรียนชื่อดัง ที่กลายเป็นโรงเรียนมีการแข่งขันสูงไปโดยปริยาย แต่จำนวนหนึ่งเริ่มมองหาตัวเลือกที่ต่างออกไป
การเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสำคัญไปกว่าความสุขของผู้เรียน เพราะหากนักเรียนทำหน้าที่อย่างเป็นสุข ความรู้นั้นย่อมกลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มชีวิตไปพร้อมๆ กัน
...นั่นคือปรัชญาของโรงเรียนทางเลือก การศึกษาอีกแนวทางหนึ่งที่กำลังเสนอตัวให้ผู้ปกครอง
“โรงเรียนทางเลือก” มีหลายแนวคิดส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้เข้าถึงธรรมชาติของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการศึกษาไปพร้อมๆ กับบุตรหลานชีวิตในห้องเรียน ไม่ใช่แค่การท่องจำตำรา แต่จะต้องเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่ควรเป็นไปในสังคม นักเรียนคือศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างแท้จริง ความรู้เกิดจากการลงมือปฏิบัติ ครูเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียนไปพร้อมๆ กับศิษย์
หลักการทางวิชาการของโรงเรียนทางเลือกนั้น ยังคงเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด ในขณะที่กระบวนการสอนกลับมีความยืดหยุ่น โดยแต่ละแห่งมีการจัดการเรียนการสอนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยโรงเรียนทางเลือกไม่ได้มีการจัดตารางเรียน แยกเป็นวิชาอย่างตายตัว ผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนจากปรัชญาการสอนที่หลากหลายตามที่โรงเรียนระบุไว้ เช่น
โรงเรียนทอสี
เป็นโรงเรียนที่มีปรัชญาการสอนวิถีพุทธ สอนให้มองมนุษย์เป็นชีวิต ซึ่งต้องมีการพัฒนาด้านศีล สมาธิ และปัญญา มองมนุษย์เป็นทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม เปลี่ยนบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นชุมชนของผู้มีปัญญามีความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต ค้นหาวิธีมองโลกอย่างเข้าใจ รู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตรตามหลักทางสายกลาง
โรงเรียนสยามสามไตร
การจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ ความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม นำให้เกิดปัญญา การพัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นคนที่สมบูรณ์ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา เป็นยุคสร้างความสามารถ พัฒนาเด็กได้แตกต่างจากระบบการศึกษาในระบบโรงเรียนทั่วไป เริ่มต้นเข้าใจแก่นแท้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะครูเข้าปฏิบัติธรรมทั้งโรงเรียน
โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก
ด้วยแนวคิดที่มุ่งมั่นเตรียมพร้อมเด็กตามธรรมชาติของการพัฒนามนุษย์ จึงทำโรงเรียนให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับระบบนิเวศซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาในการเรียนรู้ของเด็กได้ดีที่สุด และยังได้จัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องตามฤดูกาล เน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตในระยะยาว เน้นการอยู่ร่วมในสังคมพึ่งพา เปิดโอกาสให้เด็กต่างชาติ ต่างภาษา และเด็กพิเศษเรียนร่วมด้วย ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนด้วยความเบิกบาน ร่างกายแข็งแรง และสติปัญญาที่ถูกบ่มเพาะให้มีไฟแห่งการเรียนรู้ แต่อยู่ในพื้นฐานของเด็กที่มีความสงบสุข
โรงเรียนรุ่งอรุณ
เป็นโรงเรียนการศึกษาแนวพุทธ มีเป้าหมายให้นักเรียนเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นสภาพแวดล้อมโดยรวมของโรงเรียน จึงเน้นความเป็นธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนในแต่ละวัยใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อบูรณาการการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นำกระบวนการการเรียนรู้แบบองค์รวม โดยมีแนวทางพุทธธรรมเป็นแกนหลักเชื่อมโยงกับตัวอย่างจริงที่เป็นทักษะชีวิตของผู้เรียนมาจัดเป็นแนวทางการศึกษาของโรงเรียน คณะครูเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาหน่วยการเรียนให้สอดคล้องกับอายุและพัฒนาการของนักเรียน เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน นักเรียนจำเป็นต้องนำเสนอการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เขาประมวล สะสม กลั่นกรองเข้ากับชีวิตของเขาเอง ภายใต้ชื่อว่า “งานหยดน้ำแห่งความรู้”
โรงเรียนเพลินพัฒนา
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม ใช้แนวทางการสอนพหุปัญญาของ Howard Gardner เชื่อว่า “เด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็นมากกว่าจะเป็นอย่างที่เราสอน” ในขณะที่ครูทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี นักเรียนก็เป็น “ครู” ของครูด้วย เพราะครูได้เรียนรู้จากการอยู่กับนักเรียนและผู้ปกครองทุกวันเช่นกัน ดังนั้นโรงเรียนเพลินพัฒนาจึงพยายามทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในทุกๆ ส่วนของโรงเรียน และมีความต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียน
โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
เป็นโรงเรียนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ใช้แนวทางการสอน Constructionism ของ Seymour Papert ที่เชื่อว่า ความรู้เป็นของบุคคล ถ่ายทอดให้คนอื่นไม่ได้ ความรู้ของคนอื่นเป็นเพียง Fact เท่านั้น นำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในเรื่องที่ตนเองสนใจผ่านโครงงาน บูรณาการคุณธรรม จริยธรรม เทคโนโลยี วิชาการต่างๆ รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรม และความเป็นไทยเข้าไปในทุกโครงงาน เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดการเรียนรู้และปัญญาอย่างยั่งยืน
โรงเรียนปัญโญทัย
หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟนับพันแห่งจาก 50 ประเทศทั่วโลก ยึดมั่นในหลักการของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและเยาวชนไทย บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก ปลุกความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเขาให้ปรากฏออกมา เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ มีอิสระทางปัญญา รู้จักตนเอง รู้จักโลก
นักเรียนในโรงเรียนทางเลือกเหล่านี้ จะซึมซับความรู้วิชาการต่างๆ ผ่านการสอน หรือกิจกรรมที่ไม่เน้นให้เด็กท่องจำ โดยให้ความคิดอิสระเต็มที่ ออกแบบการเรียนการสอน ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการและสภาวะของผู้เรียน นักเรียนอยากเรียนรู้เพราะถูกกระตุ้นให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ ซึ่งไม่ได้มาจากแรงบีบคั้นจากผู้สอน นี่เป็นแนวคิดเบื้องต้นที่ส่งผ่านผู้เรียนกระทั่งเชื่อมไปถึงการรับรู้ถึงคุณค่าในวิถีการดำเนินชีวิต
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เคยนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือกที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย แต่มีระดับความเป็นอิสระจากรัฐบาลสูง และโดดเด่นตรงที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่แตกต่าง สามารถทำให้เด็กมีการเรียนรู้อย่างสมดุล หลากหลาย ผ่านประสบการณ์จริง และผลการเรียนที่ออกมาของนักเรียนเป็นที่น่าประทับใจ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลางและการกำกับดูแลของ ศธ.
นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนกลุ่มนี้ ถูกก่อเป็นรูปแบบบนฐานความคิดและปรัชญาการศึกษาจากสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และแนวคิดศรีสัตยา ไสบาบา ฯลฯ เนื้อหาและกระบวนการของแต่ละปรัชญาการศึกษาเหล่านี้จะแตกต่างกันออกไป แต่มีหนึ่งจุดเด่นที่เหมือนกันคือ ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ทำให้การเรียนการสอนมีความหลากหลาย สามารถทดลองและผลิตวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ได้ตลอดเวลา โดยยึดเอาตัวผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญ ผู้เรียนสามารถคิดนอกกรอบได้ และทำให้มันเกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ ภูมิหลังทางเศรษฐกิจของนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มนี้ แบ่งเป็น 2 แบบ แบบแรก คือ ค่าเทอมถูก หรือไม่เก็บค่าเล่าเรียน ผู้ปกครองมีรายได้ไม่สูงนัก ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือรับจ้างรายวัน แบบที่สอง คือ ค่าเทอมสูง ผู้ปกครองส่วนใหญ่รับราชการหรือมีธุรกิจส่วนตัว
ในด้านความเป็นอิสระ ยังคงมีการควบคุมดูแลของรัฐบาลในด้านต่างๆ คล้ายกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป เช่น การบริหารจัดการโรงเรียน การเงิน และหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ยังมีอุปสรรค เช่น หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ไม่ยืดหยุ่นมากพอสำหรับโรงเรียนทางเลือก รวมไปถึงระบบประกันคุณภาพมาตรฐานของรัฐบาล
ด้านนวัตกรรมการเรียนการสอน โรงเรียนทางเลือกต่างจากโรงเรียนทั่วไปตรงที่ห้องเรียนเล็ก ใช้ครูจำนวนมากดูแลนัก