ทัศนะ ร.4 เรื่องความเชื่อ การมีอยู่ของเทพยดา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเชื่อในความมีอยู่ของเทพยดาเป็นอันมาก
โดย...ส.สต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเชื่อในความมีอยู่ของเทพยดาเป็นอันมาก จะเห็นได้จากทรงสร้างพระสยามเทวาธิราช หรือเมื่อสร้างวัดราชประดิษฐ ก็ฝากไว้กับเทพยดา เมื่อทรงประสบอุบัติเหตุในขณะทรงรถม้าพระที่นั่งไม่เป็นอะไรมาก ก็สันนิษฐานว่าเทพยดาทรงรักษา ดังที่ข้อมูลในจารึกหินอ่อนหลังพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ และหนังสือ ดวงหน้าในอดีต ของ หลวงวิจิตรวาทการ ว่าไว้
ฝากวัดราชประดิษฐไว้กับเทพยดา
สูจิบัตรงานฉลอง 150 ปี วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 7-14 มิ.ย. 2558 อัญเชิญพระบรมราชโองการ บางตอนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาพิมพ์ เนื้อหาพิสูจน์ว่า ทรงเชื่อในความมีอยู่ของเทพยดา ดังนี้
ขอท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในอนาคต จงโปรดประพฤติตาม ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ทำวัดราชประดิษฐนี้สั่งไว้จงทุกประการ จึ่งจะมีความเจริญศุข ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้แผ่ส่วนกุศลถวายแด่เทพยดารักษาพระนครทั้งปวง แลได้ฝากวัดราชประดิษฐนี้ไว้แด่เทพยดาให้รักษาอยู่แล้ว
ในขณะที่หลวงวิจิตรวาทการ เล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับความเชื่อเทพยดาไว้ในหนังสือ ดวงหน้าในอดีต ตอนทัศนะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยเกริ่นพระราชประวัติว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นราชบุตรองค์ที่ 42 ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ถึง 27 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันพุธ เดือนห้า ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน พ.ศ. 2394 เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีเดือนสิบเอ็ด ขึ้น 15 ค่ำ พ.ศ. 2411 แปลว่ามีพระชนม์อยู่ครบ 65 พรรษา ไม่ขาดไม่เกินจนวันเดียว
หลวงวิจิตรวาทการว่า ทัศนะของพระองค์ หาได้จากพระราชหัตถเลขา และประกาศต่างๆ ที่นำมาตีพิมพ์เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง และอาจแยกประเภทดังนี้
ก.ฐานะของพระเจ้าแผ่นดิน
ในตอนรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินทรงลำบากพระทัยในเรื่องที่ว่าเรามีพระเจ้าแผ่นดินอยู่สองพระองค์ คือ มีวังหน้า ซึ่งดำรงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง ต้องมีเรื่องขลุกขลักอยู่เสมอ อีกประการหนึ่ง รัฐมนตรี หรือ เสนาบดีในเวลานั้นประกอบขึ้นด้วยสมาชิกของตระกูลใหญ่ๆ มีอำนาจเป็นที่เกรงขามของคนทั้งหลาย ตลอดถึงองค์พระมหากษัตริย์เอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์แรก ที่ต้องลั่นวาจาถ่อมพระองค์ ลงมาเป็นคนรับความกรุณาของราษฎร “ครั้งนี้ท่านทั้งปวงมีเมตตากรุณาให้ข้าเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ข้าฯ ก็ได้ฉลองพระเดชพระคุณท่านทั้งปวงมานานถึง 13 ปีแล้ว” เป็นพระกระแสรับสั่งในงานศพกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เมื่อปีกุน พ.ศ. 2406
ความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่ง ที่ทรงมีถึงทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีในราชสำนักพระเจ้าวิกตอเรีย ทรงเล่าถึงเรื่องรถม้าพระที่นั่ง
ล้มลง มีผู้บาดเจ็บว่า
“ตัวข้านี้คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ก็ดีถึงจะไม่สู้มีใครรัก ก็คงมีคนรักบ้างเหมือนท่านผู้อื่น บางทีว่าคนรักมากแล้วก็มีคนชังบ้างเหมือนกันฉันใด เมื่อจะว่าในการที่ไม่เป็นวิสัยมนุษย์แล้ว ถึงผีสางเทวดาที่ชังข้า ก็จะมีรักข้า ก็จะมีกระมัง หรือใครมีบุญแล้วก็จะไม่มีแต่บุญไปทีเดียว จะมีบาปบ้าง ใครชาตาราศีดีแล้วก็มีร้ายบ้าง ตัวข้าถึงจะมีบาปมากก็จะมีบุญบ้าง ชาตาไม่ดีแล้วก็จะมีที่ดีบ้าง จึงได้เป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ให้คนนั่งแช่งนอนแช่งมาหลายปี จนคนที่แช่งตายไปก่อนก็จะมี หัวล้านไปก่อนก็จะมี จะว่ามีเหตุทั้งนี้เพราะบุญท่านผู้อื่นทับ ผีสางเทวดาของท่านผู้อื่นมาตัดบังเหียนม้าเสีย บุญของข้าก็ยังได้อยู่ ผีสางเทวดาที่ยังรักข้าอยู่ก็ช่วยข้า ม้าจึงไม่วิ่งไป รถจึงไม่ได้ทับข้าและถูกข้าให้เป็นอันตรายหรือบาดเจ็บมากจนเสียราชการ ข้าจึงขอบใจเทวดาที่ช่วยข้าหนักหนา (พระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ลงวันศุกร์ เดือนสิบ แรม หนึ่งค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)
ทรงเชื่ออำนาจของเทวดา
ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาอีกหลายตอน ดังนี้ “ในหลวงเทวดารักษา เมื่อคนทรยศ ไม่ซื่อตรงถึงเป็นลูกเป็นหลาน เทวดาคงไม่เข้าด้วย ยิ่งลูกยิ่งหลานทุกวันนี้เลี้ยงดูเสียเงินเสียทอง อุปถัมภ์บำรุงให้มาก มันไม่ซื่อสัตย์ มันถือใจอีผู้หญิงของมากกว่า มันทำให้ต้องวิตก เทวดาคงไม่เข้าด้วย คงไม่ “มีความเจริญเลยเพราะมันอกตัญญูแก่ในหลวง ที่เป็นพ่อเป็นปู่เป็นเจ้าบุญนายคุณ” (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ปีชวด พ.ศ. 2409)
อีกตอนหนึ่งว่า “คนที่ไม่ได้เป็นคุณแก่ในหลวง เป็นแต่ผู้รับบุญคุณของในหลวง มาเนรคุณทรยศอย่างนี้ เทวดาคงชังมาก” (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ปีชวด พ.ศ. 2409)
เราลองพิเคราะห์ดูอีกตอนหนึ่ง “แต่ยังขอบใจพระสยามเทวาธิราช เทวดาใหญ่รักษาแผ่นดินไทย (สูงประมาณ 8 นิ้วฟุต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบ พระดรรชนีเสมอพระอุระ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง) และพระเสื้อเมือง ทรงเมือง พระกาลไชยศรี บรรดาที่มีชื่ออยู่ในคำประกาศน้ำพิพัฒน์สัตยานั้น ดูเหมือนยังเข้าด้วยในหลวงอยู่ หาเข้าด้วยใครไม่ ในหลวงถึงมีตระกูล บิดามารดาเป็นผู้สูงศักดิ์มาแต่ก่อนก็สิ้นวาสนาเหมือนจมดินจมทราย แต่บ่าวไพร่ของตัวก็ไม่ได้หมายว่าจะได้เป็นโตเป็นใหญ่ ก็ชะรอยเทวดาจะช่วยลดผู้หลักผู้ใหญ่ให้ไปขุดไปคุ้ยเอามาตั้งขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งนี้ ครั้นจะว่าไปว่า ได้เป็นด้วยอำนาจเทวดา” (พระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ปีชวด พ.ศ. 2409)