posttoday

พิษจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า คร่าชีวิตนักสูบรายที่ 7

19 กันยายน 2562

ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตรายที่ 7 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นชายวัย 40 ปี จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ใครยังคิดเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอัตราความอยากสูบบุหรี่ ลองอ่านงานวิจัยที่เรารวมมาให้แล้วคิดใหม่ก่อนตัดสินใจซื้อ

ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตรายที่ 7 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นชายวัย 40 ปี จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ใครยังคิดเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอัตราความอยากสูบบุหรี่ ลองอ่านงานวิจัยที่เรารวมมาให้แล้วคิดใหม่ก่อนตัดสินใจซื้อ

ข้อมูลจาก CDC พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคปอด 380 คน ใน 36 รัฐทั่วอเมริกา ซึ่งพบว่ามีประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ทางการสหรัฐฯ รายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคปอดที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในอเมริกา ที่รัฐอิลลินอยส์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังพบว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการที่คล้ายกันและมีความเชื่อมโยงกับบุหรี่ไฟฟ้าใน 11 ประเทศทั่วโลก

ล่าสุด พบผู้เสียชีวิตรายที่ 7 จากอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ด้าน CDC ยกระดับการตรวจสอบกรณีผู้ป่วยโรคปอดจากการสูบบุหรี่ทางเลือกชนิดนี้ ตามรายงานของ CNN ผู้เสียชีวิตรายที่ 7 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นชายวัย 40 ปีจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ในรัฐนี้ ล่าสุดทางผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ประกาศแผนโฆษณา 20 ล้านดอลลาร์ เพื่อเตือนถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งจะตรวจสอบนโยบายภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันยังถือว่าน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปที่จำหน่ายในรัฐแคลิฟอร์เนีย

จุดขายอย่างหนึ่งของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า คือการพยายามนำเสนอว่าการหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากกว่า โดยหยิบยกงานวิจัยต่างๆ ที่ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่า และทำให้ผู้สูบลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงได้ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ภายหลังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการในวงกว้าง

ในขณะที่อีกด้านหนึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากกว่าที่ให้ผลสรุปในทางตรงกันข้าม คือการสูบหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงเลย ร้ายไปกว่านั้นยังทำให้อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมทั้งธรรมดาและไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีนิโคตินเหมือนกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชนการที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่สูบบุหรี่ซึ่งทดลองกันภายในกลุ่มจนคุ้นเคยและคิดว่าเป็นสิ่งที่ทดแทนกันได้

พิษจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า คร่าชีวิตนักสูบรายที่ 7

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เตือนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบไปแล้วว่า "อย่าไปทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้กลับไปสูบบุหรี่ธรรมดาใหม่"  โดยงานวิจัยล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา เผยการทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนเคยสูบบุหรี่ที่เลิกสูบมานานแล้วกลับไปสูบบุหรี่ธรรมดาใหม่ และในวัยรุ่นที่ทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นเหตุของการลองสูบบุหและติดบุหรี่ธรรมดามากขึ้น

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยงานวิจัยโดยทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Public Health Reports เมื่อ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจระยะยาวจำนวน 26,446 ราย เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการสูบบุหรี่ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557 และ 2557-2558 ผลการศึกษาพบว่า "บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่มานานแล้วกลับเข้ามาสูบบุหรี่ใหม่ โดยพบว่าผู้ที่เลิกบุหรี่ได้แล้ว หากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ใหม่เพิ่มเป็น 3.3 เท่า และหากใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ จะกลับไปเป็นผู้ที่ติดบุหรี่ธรรมดาเพิ่มเป็น 5.2 เท่าของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วแต่ไม่ไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า"

ขณะที่ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ถ้าเคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มเป็น 4 เท่าของผู้ที่ไม่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย และพบว่าผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ จะมีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มเป็น 6.6 เท่า มีโอกาสติดบุหรี่ธรรมดาเพิ่มเป็น 8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย

ทางด้านองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ประเทศที่ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องการเข้าถึงของเยาวชน องค์การอนามัยโลกยังชื่นชมประเทศที่มีการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาด พร้อมย้ำว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจะสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เหล่านี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม

พิษจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า คร่าชีวิตนักสูบรายที่ 7

ส่วนผสมที่พบมากในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice 

บุหรี่ไฟฟ้าจะทำงานได้ไม่เต็มรูปแบบถ้าขาดน้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้า (E-Liquid หรือ E-Juice) ซึ่งบรรจุอยู่ในตลับเก็บน้ำยาเพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทำความร้อนก่อนกลายเป็นไอที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูบเข้าไปในปอด โดยส่วนผสมที่พบมากในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ได้แก่

นิโคติน (Nicotine) เป็นสารสกัดจากใบยาสูบและเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป นิโคตินจะทำให้ร่างกายเสพติดการใช้บุหรี่ และจะเข้าไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ระดับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ เปอร์เซ็นต์ มิลลิกรัม และระดับความเข้มข้น ได้แก่ ระดับสูง ระดับกลาง และระดับต่ำ

โพรไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) เป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างไอหรือหมอกสำหรับเวทีการแสดงต่าง ๆ แต่เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาและปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง

กลีเซอรีน (Glycerine) เป็นสารที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น แต่มีรสชาติหวานเล็กน้อย องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล

สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย ตัวอย่างเช่น สารไดอะซิติล (Diacetyl) ที่พบมากในเนยสำหรับทำป็อปคอร์น อาจเป็นสาเหตุของปัญหาระบบทางเดินหายใจและปอด

นอกจากนี้ ยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น

พิษจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า คร่าชีวิตนักสูบรายที่ 7

ผลงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า

กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอังกฤษ ได้เปิดเผยหลักฐานเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่ามีความปลอดภัยมากกว่าการใช้บุหรี่ปกติทั่วไปสูงถึง 95% และมีประสิทธิภาพในการช่วยให้เลิกพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้ สาเหตุสำคัญคือในบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ มีเพียงนิโคตินที่เป็นสารเสพติดแต่ให้โทษน้อยกว่าใบยาสูบ ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่เสพติดนิโคติน

องค์การอาหารและยา พบร่องรอยของสารพิษ 0.1% ในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice เช่น สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) และสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น ปากแห้ง ระคายเคืองในลำคอ ไอแห้ง เป็นต้น

นักวิจัยโรงเรียนสาธารณสุข Johns Hopkins Bloomberg สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่าในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า มีโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม และสารพิษที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในระดับสูง จึงทำให้องค์การอาหารและยา (FDA) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบโดยเรียกร้องให้บริษัทที่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าส่งรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

นักวิจัยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทดลองในห้องปฏิบัติการและพบว่า ร้อยละ 85 ในไอหรือหมอกจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่ไปทำลายเซลล์ในปาก โดยเฉพาะในผิวชั้นบนสุด รวมไปถึงเหงือกและฟัน

อาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทดาโคตา สหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการได้รับปริมาณนิโคตินที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากการติดฉลากผิดบนบรรจุภัณฑ์น้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจพบว่าปริมาณนิโคตินในน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice กับปริมาณที่ระบุบนฉลากไม่ตรงกัน คิดเป็นร้อยละ 51 ซึ่งร้อยละ 34 มีปริมาณนิโคตินต่ำกว่าที่ระบุบนฉลากและร้อยละ 17 มีปริมาณนิโคตินสูงกว่าที่ระบุบนฉลาก

นักศึกษาภาควิชาเซลล์ชีววิทยาและสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเกี่ยวกับระบบการทำงานของเซลล์ในปอดที่ลดลง เนื่องจากมาตรฐานการผลิตน้ำยา E-Liquid หรือ E-Juice ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตเดียวกันกับที่องค์การอาหารและยา (FDA) กำหนด

จากข้อมูลในปัจจุบัน การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแตกต่างจากการใช้บุหรี่ปกติทั่วไปคือ ไม่พบสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกาย แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอันตรายมาก หากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้รับปริมาณนิโคตินเกินขนาด หรือมีการผสมสารเสพติดชนิดอื่นร่วมกับนิโคตินเหลว หรือเป็นช่องทางการใช้สารเสพติดชนิดอื่นเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือมาตรฐานการผลิต อันตรายที่อาจเป็นไปได้อีกข้อคือ นิโคตินเหลวในบรรจุภัณฑ์หากเก็บรักษาไม่ถูกต้องหรือเก็บไว้นานอาจมีเชื้อราหรือเชื้อโรคก่อตัวขึ้น ทำให้ผู้สูบได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในขณะใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่อาจเริ่มต้นทดลองด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เสพติดนิโคตินเหลว และอาจนำไปสู่การสูบบุหรี่ปกติทั่วไปในอนาคต

 

 

ภาพ freepik.com