'เบาหวานขึ้นตา' ป้องกัน-รักษาก่อนตาบอดถาวร
รู้ทัน "เบาหวานขึ้นตา" ภาวะที่ป้องกันและรักษาได้ ก่อนตาบอดถาวร โดย พญ.ประกายรัตน์ ทองผิว จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
หนึ่งในความน่ากลัวของ "โรคเบาหวาน" ที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการให้เกิด คือภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่เรตินาหรือจอตาได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันและเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการหรืออาจมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง แล้วปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด
เรื่องนี้ พญ.ประกายรัตน์ ทองผิว จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ใน รู้ทัน...เบาหวานขึ้นตา ป้องกันและรักษาก่อน "ตาบอดถาวร" : พบหมอมหิดล ดังนี้
เบาหวานขึ้นตาคืออะไร
ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา คือภาวะที่มีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาที่ผิดปกติไป เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง จะทำให้ผนังเส้นเลือดมีรูรั่ว ถ้าเกิดเส้นเลือดรั่วอย่างรุนแรงมากๆ ก็จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “จอประสาทตาขาดเลือด” ซึ่งจะทำให้เกิดการมองเห็นที่เสียไปอย่างถาวร จึงต้องรีบรักษาทันที
อาการและความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตาแบ่งคร่าวๆ เป็น 2 ระยะ
ระยะแรก เบาหวานขึ้นตาระยะแรกเริ่มหรือระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ ระยะนี้อาการก็ยังไม่มีอะไรมีแค่จุดเลือดออกและจอประสาทตารอบนอกบวมได้ทำให้ยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเว้นว่าจะมีจุดเลือดออกหรือหรือการรั่วของเส้นประสาทตรงบริเวณจุดภาพชัดอันนี้ต้องรักษา
ระยะที่ 2 เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้าหรือระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรงจำเป็นต้องรักษาเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตามีจุดรับภาพชัดบวมรวมถึงมีภาวะฉีกขาด หรือหลุดลอกซึ่งพวกนี้จะทำให้เกิดการมองเห็นที่เสียไปอย่างถาวรต้องรีบรักษาอย่างทันที
แนวทางการรักษา
หากเป็นในระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้จุดเลือดออกในตาลดน้อยลงและหายเป็นปกติได้
แต่หากอยู่ในระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่หรือระยะที่เริ่มรุนแรง วิธีการรักษาคือ การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ หรือการฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตา หรือการผ่าตัด ในกรณีที่มีการฉีกขาดหรือหลุดลอกของจอประสาทตา
วิธีการป้องกันโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ควบคุมโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไขมันในเส้นเลือดสูงโรคความดันโลหิตสูงเพราะมีผลต่อความแข็งแรงของเส้นเลือดทั้งสิ้น
- ปรับพฤติกรรมการกิน โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และไขมันสูง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยารักษาเบาหวานตามที่แพทย์สั่ง
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี หรืออาจต้องตรวจบ่อยกว่านั้นเมื่อแพทย์แนะนำให้มา หากมีอาการผิดปกติต้องรีบมาหาจักษุแพทย์
ที่มา : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล
ภาพ : freepik