posttoday

COVID-19 : องค์กรใหญ่ใช้วิธีการใดในการรับมือ

16 มีนาคม 2563

มาตรการจัดการเรื่องการทำงานที่องค์กรใหญ่ใช้รับมือในวิกฤติ COVID-19

วิกฤติ COVID-19 ที่ยังควบคุมได้ยากในขณะนี้ส่งผลกระทบไปในหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจ  เราลองมาดูกันว่าองค์กรระดับโลกจะมีนโยบายหรือสวัสดิการช่วยเหลือคนทำงานในการจัดการปัญหาที่เกิดจาก COVID-19 อย่างไรบ้าง 

Microsoft  องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ประกาศว่าจะยังคงจ่ายค่าแรงรายชั่วโมงเพื่อสนับสนุนพนักงาน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ และจะสนับสนุนเรื่องรถรับส่งหรือเทคโนโลยีในสถานที่ทำงานตามความต้องการของพนักงาน ถึงแม้ว่าในตอนนี้บริษัทจะมีความต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายก็ตาม วิธีการนี้ทำให้บริษัทใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon, Facebook, Expedia,Twitter, Google และ Salesforce ออกมาประกาศว่าจะปฏิบัติตามวิธีการของ Microsoft เช่นกันในการจ่ายเงินรายชั่วโมงให้พนักงานที่ทำงานทางไกล 

Amazon ให้สัญญาว่าจะบริจาคเงิน 5 ล้านดอลลาร์เป็นกองทุนช่วยเหลือให้กับบริษัทและธุรกิจขนาดเล็กรอบๆ สำนักงานของ Amazon ในซีแอตเทิลและเบลวิลล์รัฐวอชิงตัน ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับเงินช่วยเหลือธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของ COVID-19

Lyft ธุรกิจบริการเรียกรถ Taxi  จะให้เงินแก่พนักงานขับรถหากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือหากถูกกักกันโดยหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านการเงินกับพนักงานขับรถเมื่อพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ในขณะที่ต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง นอกจากนี้ Lyft ยังร่วมมือกับผลิตภัณฑ์ EO เพื่อจัดหาเจลล้างมือหรือยาฆ่าเชื้อแก่พนักงานขับรถโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

Uber มีนโยบายส่งเสริมพนักงานเช่นเดียวกันกับบริษัท Lyft เนื่องจากทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน โดยมีนโยบายสำหรับพนักงานขับรถที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรค COVID-19 หรือผู้ที่ได้รับการกักตัวจากหน่วยงานด้านสาธารณะสุข 14 วันพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือ

Walmart มีนโยบายลาฉุกเฉินให้กับพนักงานที่เกิดความกลัวและอึดอัดใจในการมาทำงาน โดยอนุญาตุให้อยู่บ้านได้หากหนึ่งในพนักงานของพวกเขาถูกพบว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือถ้าหากว่าสำนักงานและศูนย์กระจายสินค้าของพวกเขาต้องอยู่ภายใต้การกักกัน พนักงานของพวกเขาจะยังได้รับเงินตอบแทนและสามารถหยุดงานได้สูงสุดสองสัปดาห์ในช่วงเวลานั้น

Postmates ธุรกิจส่งอาหาร พวกเขากล่าวว่าจะสร้างกองทุนเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดเตรียมแพทย์และค่ารักษาพยาบาลสำหรับพนักงานขนส่งของพวกเขาหากถูกพบว่าติดเชื้อ COVID-19 และสำหรับร้านที่ทำอาหารให้กับ Postmates ที่ได้รับผลกระทบก็จะได้รับการยกเลิกการหักเปอร์เซ็นจากการสั่งสินค้าด้วย

CVS Pharmacy จะส่งยาตามกำหนดให้กับลูกค้าฟรี เพื่อไม่ให้พวกเขากังวลที่จะต้องออกมารับยา เนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอเสี่ยงที่จะติดเชื่อได้ และบริษัท CVS ยังได้ยกเลิกการจำกัด การรับยาก่อนกำหนด เนื่องจากมียาที่จำเป็นในการรักษาโรคเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น ยาความดันโลหิตสูงและโรคหอบหืด

Wells Fargo Foundation มูลนิธิการกุศลประกาศที่จะบริจาคเงินจำนวน 6.25 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนและตอบสนองต่อสถานการณ์ coronavirus ทั้งภายในประเทศและทั่วโลก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน โดย 1 ล้านดอล์ลาร์สำหรับช่วยศูนย์บรรเทาและควบคุมโรค และการป้องกันโรคแห่งชาติ 250,000 ดอลลาร์สำหรับคณะแพทย์นานาชาติเพื่อช่วยเหลือการทำงานใน 30 ประเทศ และ Wells Fargo Foundation จะบริจาคเงินสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ช่วยในระดับท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของชุมชน

Sony  ประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการเดินในช่วงเวลาเร่งด่วน จากที่ปกติบริษัทก็ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เดือนละ 10 วันอยู่แล้ว ส่วนพนักงานคนไหนที่จำเป็นต้องมาทำงานจริงๆ ก็ให้เข้างานช่วงบ่าย และเลิกงาน 21.00 น. แทน จากเดิมที่เคยเข้างาน 9.30 น. เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งมวลชนในช่วงเวลาเร่งด่วน

Fujitsu อนุญาตให้พนักงานที่ป่วย หรือตั้งครรภ์ทำงานจากที่บ้านได้ไม่จำกัดจำนวนวัน ส่วน Toshiba ก็ประกาศให้บริษัทในเครืออนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ Takeda Pharmaceuticals บริษัทยาของญี่ปุ่น ให้พนักงานที่มีมากกว่า 4,500 คน ทำงานจากที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนเช่นกัน

แกร็บ บริษัทแกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ประกาศปิดสำนักงานในไทยและสิงคโปร์เป็นเวลา 5 วัน แนะนำให้พนักงานทำงานที่บ้านจนถึงวันที่ 13 มี.ค. เพื่อให้บริษัททำความสะอาดและฆ่าเชื้อในสำนักงาน 

เครือเจริญโภคภัณฑ์  กรณีพนักงานผู้ซึ่งตนเองหรือผู้ที่พักอาศัยอยู่ด้วยกันเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ให้ผู้บังคับบัญชาแจ้งพนักงานผู้นั้นทำงานที่บ้านและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วันนับจากวันที่เดินทางกลับ และให้สามารถติดต่อได้ หากลักษณะงานปกติของพนักงานไม่สามารถทำที่บ้านได้ พนักงานยังคงต้องอยู่สังเกตอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน  

ธนาคารกรุงเทพ สั่งให้พนักงานทำงานที่บ้าน 14 วัน หลังพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ที่ชั้น 26 อาคารแสงทองธานี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธนาคารได้ให้เพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องของพนักงานคนดังกล่าวเข้ารับการตรวจแล้ว และให้ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้านตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด เพื่อเฝ้าระวังอาการภายใต้หลักเกณฑ์ 14 วันเช่นกัน ในส่วนของอาคารสถานที่ ธนาคารได้ทำความสะอาดที่ทำงานทั้งชั้นด้วยน้ำยาทำความสะอาดตามมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือเเจงถึง บริษัทคู่ธุรกิจ ซึ่งประกอบธุรกิจตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่า มีพนักงานของคู่ธุรกิจจำนวน 1 คน ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทันทีที่ทราบเหตุการณ์ MOC ได้ติดตามตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งไม่พบพนักงานของบริษัทหรือพนักงานคู่ธุรกิจคนอื่นที่แสดงอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ COVID-19 เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยง MOC จึงได้ดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อและปิดพื้นที่ของ MOC ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมดังกล่าว รวมทั้งให้พนักงานและคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวันดังกล่าว หยุดพักเพื่อสังเกตุอาการเป็นเวลา 14 วัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ MOC แต่อย่างใด

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกประกาศมาตรการให้พนักงานและลูกจ้างทำงานที่บ้าน และงดให้บุคคลภายนอกเข้าอาคาร Circle Living Prototype เนื่องด้วย ททท. ได้รับแจ้งจากนิติบุคคลอาคารชุดว่า พบผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 รายที่ 59 จึงประกาศว่า  

  • พนักงานและลูกจ้าง ททท. ซึ่งพำนักในอาคารดังกล่าว ให้ปฏิบัติงานที่บ้านพัก เป็นเวลา 14 วัน และปฏิบัติตามคำสั่ง ททท.ที่ 58/2563 อย่างเคร่งครัดฃ
  • สำหรับบุคคลภายนอก ซึ่งพักอาศัยในอาคารดังกล่าว ขอความกรุณางดใช้บริการในอาคาร ททท.เป็นเวลา 14 วัน และขอให้บันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรค

กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ผู้ปฎิบัติงานที่เดินทางผ่านพื้นที่เสี่ยงติดโรคตามประกาศของสำนักงานกสทช. หรือมีเหตุสงสัยว่าติดเชื้อ ให้ผู้นั้นปฎิบัติงานในที่พัก 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการสำนักมอบหมายงาน และกำหนดตัวชี้วัด ผู้พักปฎิบัติงานที่บ้านต้องรายงานการตรวจสุขภาพตามแนวทางของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องออกจากที่พักต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน เป็นต้น  รวมทั้งให้ขยายเวลามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 จากเดิมวันที่ 19 เมษายน 2563 ให้ขยายออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563