รู้เท่าทันภาวะสมองเสื่อม
รู้หรือไม่ว่า อัตราของผู้ป่วยที่ต้องพบกับภาวะสมองเสื่อมนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทุกปี
รู้หรือไม่ว่า อัตราของผู้ป่วยที่ต้องพบกับภาวะสมองเสื่อมนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทุกปี
โดย...ปวศร พิทักษ์
รู้หรือไม่ว่า อัตราของผู้ป่วยที่ต้องพบกับภาวะสมองเสื่อมนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทุกปี โดยอัตราผู้ประสบภาวะสมองเสื่อมทุกประเภทในวัยที่มีอายุเกิน 65 ปี มีสูงถึง 5-8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป พบได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
นพ.อิทธิพล ตะวันกาญจนโชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บอกว่า สมองเสื่อม คือ ความถดถอยในการทำงานของสมองซึ่งเกิดจากการฝ่อ หรือสูญเสียเซลล์ประสาทกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วจึงลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ โดยความเสื่อมถอยจะดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งอาจกินเวลา 10-15 ปีเลยทีเดียว โดยจะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของอาการ
แต่ละอาการนั้น สามารถจำแนกจากตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติ เช่น อัลไซเมอร์ จะเป็นความเสื่อมถอยของสมองส่วนกลีบข้าง (Hippocampus) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลต่างๆ และช่วยให้สมองนำข้อมูลต่างๆ ไปประมวลผลในกระบวนการคิดต่อไปเมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ฝ่อลงหรือถูกทำลายไป ผู้ป่วยก็จะสูญเสียความสามารถในการจดจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น และไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นการเสื่อมของเซลล์สมองส่วนหน้า (Frontotemporal dementia) ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านพฤติกรรม และสูญเสียความสามารถทางภาษา ซึ่งเป็นสาเหตุของการพูดตะกุกตะกัก หรือเลือกใช้คำสื่อความหมายได้ไม่ถูกต้อง
อายุและพันธุกรรม สาเหตุหลักสมองเสื่อม
นพ.อิทธิพล บอกว่า จากการศึกษาพบว่า สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม คือ อายุและพันธุกรรม โดยมีค่าสถิติที่ยืนยันได้ว่า จำนวนของผู้ป่วยจะผันแปรตามกลุ่มอายุที่มากขึ้น รวมถึงผู้ได้รับกรรมพันธุ์ภาวะสมองเสื่อมจากครอบครัว ก็จะมีแนวโน้มเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจะยิ่งสะสมความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกทำให้คนรุ่นต่อๆ ไป มีโอกาสเป็นได้มากกว่าเดิม
ส่วนภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัจจัยภายนอกนั้น พบว่ามีจำนวนน้อย เช่น กลุ่มที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบตัน (Vascular dementia) ซึ่งมีสาเหตุจากความดัน ไขมัน หรือน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งกลุ่มนี้สามารถป้องกันโดยการควบคุมอาหาร น้ำตาล ไขมัน กินยาสม่ำเสมอ และดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้
การประเมินภาวะสมองเสื่อมนั้น สามารถประเมินระดับอาการได้ โดยแบ่งเป็น กลุ่มอาการรุนแรงน้อย ที่เริ่มสูญเสียความจำระยะสั้น ชัดเจนจนส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ความคิดที่ซับซ้อน แต่กลุ่มนี้ยังช่วยเหลือตัวเองได้มาก สามารถรับผิดชอบชีวิตประจำวันง่ายๆ เช่น การทำอาหาร อาบน้ำ ซักผ้า หรือเดินทางคนเดียวได้
อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มอาการรุนแรงปานกลาง ที่ความผิดปกติเริ่มเห็นได้ชัดจากอาการสับสน สูญเสียความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย และจดจำทิศทาง กลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลเวลาเดินทาง หรือช่วยในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันบางอย่างที่มีขั้นตอนซับซ้อน
กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มอาการรุนแรงมาก คือ สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวของระบบกล้ามเนื้อ เช่น ไม่สามารถเดินได้เอง ทำให้ต้องพึ่งพาคนดูแลในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การแปรงฟัน อาบน้ำ สวมเสื้อผ้า จนถึงรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกายก็จะน้อยลงเรื่อยๆ จนในที่สุดทำได้แค่นอนนิ่งๆ เท่านั้น
ทุกวันนี้ นพ.อิทธิพล บอกว่า โอกาสในการตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อมยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโดยมากการตรวจมักเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่สงสัย หรือรู้สึกว่าตนเองมีความผิดปกติแล้วเท่านั้น โดยแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจได้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินผล เช่น การวาดรูป การจดจำคำศัพท์ หรือเรื่องราวตามที่บอก หลังจากนั้นแพทย์จะทบทวนความจำด้วยคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เพิ่งเล่าผ่านไป แต่ผลการทดสอบลักษณะนี้ก็ยังไม่สามารถยืนยันภาวะสมองเสื่อมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ดูแล รักษา ตามระดับอาการ
เนื่องจากภาวะสมองเสื่อม คือ ความบกพร่องที่ทำให้ความสามารถทางสมองในการรับรู้ ความจำ และการจัดทำข้อมูลจะค่อยๆ เสื่อมถอยลงอย่างไม่มีรูปแบบเฉพาะ ดังนั้น วิธีการรักษาหรือดูแลผู้ป่วย จึงเน้นที่การประคับประคองให้ความสามารถทางสมองของผู้ป่วยยังดำเนินต่อไปได้ ด้วยการให้ยาที่มีผลในการกระตุ้นศักยภาพของสมองส่วนที่เหลือ ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีการเติมสารเคมีบางตัว เพื่อทดแทนเซลล์ส่วนที่เสื่อมหรือตายลง ซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยมีการรับรู้และความจำที่ดีขึ้นได้ต่อไป แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เซลล์สมองส่วนที่เหลือฝ่อลงตามกาลเวลา การให้ยาก็จะไม่มีผลในที่สุด
สำหรับการรักษาดูแลผู้ประสบภาวะสมองเสื่อมแต่ละชนิดนั้น นพ.อิทธิพล บอกว่า จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนและมีประสบการณ์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น ประสาทแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมแต่ละประเภท และระดับอาการ จิตแพทย์ผู้ดูแลด้านพฤติกรรมบำบัด เช่น ปัญหาการนอนไม่หลับ ความเครียด หรืออาการสับสนของผู้ป่วย รวมทั้งนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการกล้ามเนื้อทำงานถดถอย เช่น เดินไม่ได้ หรือบังคับเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนไม่ได้
หลังจากการรักษาผู้ป่วย จำเป็นต้องมีผู้ดูแลที่ให้ความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวที่ต้องเข้าใจลักษณะอาการและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย เนื่องจากการดูแลประคับประคองที่มีประสิทธิภาพจะช่วยผู้ป่วยได้มากในเรื่องของจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยของสมองให้ช้าที่สุด
แม้ว่าเรื่องของอายุและกรรมพันธุ์ จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมนั้น ก็สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้ยาเสพติดที่จะส่งผลต่อการทำลายสมองโดยตรง รวมถึงการพักผ่อน และออกกำลังกายที่เหมาะสม
เพียงรู้เท่าทันภาวะสมองเสื่อม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมก็จะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองได้ไม่ยาก
&<2288;