Moral Quotient
ทุกข์คืออะไร
ทุกข์คืออะไร
โดย..คุณสลิต
เรื่องของทุกข์นั้นเป็นสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าแท้จริงแล้วทุกข์คืออะไร? หรืออะไรคือทุกข์? ในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระวิภังค์ ได้อธิบายถึงทุกข์ว่ามีประการต่างๆ คือ
ทุกขทุกข์ ทุกข์เพราะทนได้ยาก หมายถึง ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ ทั้งที่เป็นไปทางกายและทางใจ
วิปริณามทุกข์ – ทุกข์เพราะเปลี่ยนแปลง หมายถึง สุขเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทั้งทางกายและทางใจ สุขเวทนา เรียกว่า วิปริณามทุกข์ เพราะเหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์โดยการเปลี่ยนแปลง
สังขารทุกข์ – ทุกข์ของสังขาร หมายถึง อุเบกขาเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ และสังขารทั้งหลายที่เหลือที่เป็นไปในภูมิ 3 ทั้งกามภูมิ รูปพรหมภูมิ และอรูปพรหมภูมิ ทั้งหลาย ชื่อว่า สังขารทุกข์ เพราะถูกความเกิดและดับบีบคั้น คือ เมื่อมีการเกิดแล้วก็ต้องดับ จึงยังเป็นสังขารทุกข์ แม้จะไม่ใช่ความรู้สึกสุข (วิปริณามทุกข์) หรือความรู้สึกทุกข์ (ทุกขทุกข์) โดยตรงก็ตาม
ปฏิจฉันนทุกข์ – ทุกข์ปกปิด หมายถึง ความป่วยไข้ทางกาย (เช่น ปวดหัว ปวดฟัน) และใจ (เช่น ความเร่าร้อนเพราะความโกรธ หรือเพราะราคะ) เพราะต้องถามจึงจะรู้ ไม่ปรากฏให้เห็นโดยเปิดเผย
อัปปฏิจฉันนทุกข์ – ทุกข์เปิดเผย หมายถึง ทุกข์ที่เห็นได้ คือ ปรากฏไม่ปกปิด ไม่ต้องถามก็รู้ได้ เช่น คนที่กำลังถูกทุบตีทำร้าย หรือความป่วยไข้ที่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ความโกรธที่แสดงออกทางกาย วาจา
ปริยายทุกข์ – ทุกข์โดยอ้อม หมายถึง ทุกข์ทั้งหมด ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ เว้นแต่ทุกขทุกข์ที่เหลือทั้งหมด ชื่อว่า ปริยายทุกข์ เพราะเป็นที่อาศัยเกิดแห่งทุกข์
นิปปริยายทุกข์ – ทุกข์โดยตรง หมายถึง ทุกขทุกข์ คือ ทุกขเวทนา คือความรู้สึกทุกข์กายและทุกข์ใจนั้นเอง
ทุกขอริยสัจ นั้น ประกอบด้วย ปริยายทุกข์ และนิปปริยายทุกข์นั่นเอง ดังนั้น ชาติ ชรา มรณะ ความโศกเศร้า (โสกะ) ความร้องไห้คร่ำครวญ (ปริเทวะ) ความไม่สบายกาย (ทุกข์) ความไม่สบายใจ (โทมนัส) ความขุ่นแค้น (อุปายาส) ความประสบกับสิ่งหรือบุคคลที่ไม่เป็นที่รัก (อัปปิเยหิสัปโยโค) ความไม่ประสบกับสิ่งหรือบุคคลที่เป็นที่รัก (ปิเยหิวิปปโยโค) ความไม่สมปรารถนา (ยัมปิจฉังนลภตัมปิ) ล้วนนับเป็นทุกขอริยสัจทั้งสิ้น เพราะจะเข้าอยู่ใน ปริยายทุกข์ คือ ทุกข์โดยอ้อม กับนิปปริยายทุกข์ คือ ทุกข์โดยตรง
จะเห็นได้ว่าพระอริยเจ้านั้นท่านมีปัญญาลึกซึ้ง จึงสามารถเห็นความจริงที่เป็นทุกข์ ได้ทั้งทุกข์ที่เราทราบทั่วๆ ไป เพราะประสบแล้วไม่เป็นที่พอใจ กับทั้งทุกข์ที่เป็นไปโดยอ้อม ซึ่งปุถุชนไม่เห็นเป็นทุกข์ เช่น การเกิด เป็นต้น ทั้งๆ ที่ความจริงการเกิดขึ้นเป็นทุกข์โดยสภาวะ เพราะเมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ ความเปลี่ยนแปลงไปนั้นเป็นทุกข์ แม้ความสุขก็เป็นทุกข์โดยสภาวะ ทุกข์ไม่ได้สำคัญที่ความรู้สึก เพราะถ้ามาดูคำแปลของทุกข์แล้ว โดยศัพท์ พระอรรกถานี้แสดงไว้ว่า
ทุกขํ แยกได้เป็น ทุ กับ ขํ โดย ทุ หมายถึง ความน่าเกลียด (เพราะเป็นที่ตั้งแห่งอุปัทวะไม่ใช่น้อย) ส่วน ขํ หมายถึง ความว่างเปล่า (เพราะเว้นจากความยั่งยืน ความงาม ความสุข และความเป็นอัตตา ที่พาลชนเข้าใจผิด คิดกัน)
ดังนั้น ชื่อว่า ทุกข์ เพราะเป็นของน่าเกลียดและเป็นของว่าง แต่ด้วยความที่ไม่พิจารณาด้วยปัญญา ปุถุชนอย่างเราท่านทั้งหลายก็ไม่ได้มองลึกซึ้งเช่นนี้ คงคิดแต่ว่าทุกข์มีเพียงความรู้สึกทุกข์กาย ทุกข์ใจเท่านั้น สิ่งอื่นนั้นไม่ใช่ทุกข์ เพราะเราไม่คิดถึงความเป็นเหตุเป็นผล ว่าเมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป แม้ความสุขเมื่อเกิดแล้วก็ไม่ยั่งยืน จึงเป็นที่ตั้งแห่งอุปัทวะเช่นกัน และเป็นธรรมชาติที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรไปยึดว่าเป็นเราของเรา ล้วนถูกปรุงแต่ง เมื่อกิเลสตัณหาเข้าไปยึดก็กลายเป็นความมีตัวตน มีอัตตา ทั้งที่จริงโดยสัจจะของพระอริยะแล้ว อุปาทานขันธ์ 5 นั้นเป็นทุกข์ คือ ทั้งรูปและนามที่ตัณหาอันมีกำลังเข้าไปยึดนั้นเป็นทุกขสัจ
เมื่อยังไม่เห็นความจริงเหล่านี้ เราจึงแสวงหาแต่สิ่งที่เราคิดว่าจะทำให้พ้นทุกข์ ดับทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง ลาภ ยศ สุข สรรเสริญทั้งหลาย เรามุ่งหวังแต่จะดับเพียงทุกขเวทนา คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และเพื่อสนองความปรารถนา ซึ่งก็เป็นไปด้วยความโลภ ความไม่รู้จริง เมื่อไม่ได้ก็โกรธ
ดังนี้ เราจึงยังไปไม่พ้นทุกข์เสียที แม้บางครั้งจะได้ประสบกับสิ่งที่พอใจ รู้สึกมีความสุข เราก็ไม่รู้ว่านั่นเป็นเพียงวิปริณามทุกข์เท่านั้น ไปยึดมั่นไว้เพราะไม่รู้ว่าแม้ความสุขก็เป็นทุกขสัจเช่นกัน ต้องเปลี่ยนแปรไป บางคนยึดโลกหน้า ทำความดีเพื่อไปเกิดในสวรรค์ แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์อีก ... เพราะยังอยู่ในสังขารทุกข์ ... พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ทุกข์ คือ ทุกขสัจ หากเข้าใจว่าอะไรเป็นทุกข์ แม้ยังดับทุกข์ไม่ได้ ก็นับว่าเริ่มมาถูกทาง ...