สวนรมณีนาถ เรือนจำที่กลายเป็นแหล่งออกกำลังกายและพักผ่อน
ณ บริเวณลานกว้างหน้าแท่นสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ สวนรมณีนาถ ในเวลาเช้า
ณ บริเวณลานกว้างหน้าแท่นสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ สวนรมณีนาถ ในเวลาเช้า
จะมีคณะผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งทั้งชายหญิงร่ายรำมวยไทเก๊ก ประกอบเพลงจีนที่ดังมาจากเทปบันทึกเสียงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าแท่นสระน้ำพุนั้น โดยมีชายสูงวัยชาวจีนเป็นผู้นำในการร่ายรำด้วยท่วงท่าที่คล่องแคล่ว
เห็นการออกท่ามวยไทเก๊กงามนัก ผมจึงอดใจไม่ได้ที่จะใช้ G11 เก็บภาพไว้ จากนั้นผมก็ถ่ายภาพสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ โดยโฟกัสที่หอยสังข์สัมฤทธิ์ที่หลั่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ไปใช้บริการสวนแห่งนี้ตลอดเวลา
หอยสังข์สัมฤทธิ์ ประติมากรรมที่เป็นมงคลและเป็นสิ่งดึงดูดใจของสวนรมณีนาถ ตั้งอยู่ตรงกลางสระน้ำพุ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมศิลปากรเคยเล่าให้ฟังว่า หอยสังข์สัมฤทธิ์ขนาดใหญ่เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะแก้อัปมงคลของสถานที่ซึ่งเป็นเรือนจำเก่า ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ก่อสร้างเมื่อ ร.ศ. 108 พ.ศ. 2433) ให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ เพราะน้ำที่หลั่งจากหอยสังข์เป็นเครื่องหมายแห่งการอำนวยอวยชัยให้พรแก่ผู้รับ (ดังเช่นพิธีรดน้ำสังข์ในพิธีแต่งงาน เป็นต้น)
ข้อมูลในเว็บไซต์แนะนำว่า หอยสังข์ที่เป็นประติมากรรมที่ตั้งอยู่กลางสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ บนแท่นสูงซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุดของสวนนั้น ตัวหอยสังข์และพานรองหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ภายในบรรจุแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคลและสังข์องค์จริง ออกแบบส่งน้ำในสระไหลจากปากสังข์ลงสู่สระ โดยที่ปากสังข์หันสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ความหมายของประติมากรรมว่าน้ำที่ไหลออกจากสังข์ แสดงความหมายแทนน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่บริสุทธิ์ดุจสีของน้ำ
แปลงดอกไม้รูปร่างคดเคี้ยวในลักษณะธารน้ำ ที่เชื่อมน้ำพุเฉลิมพระเกียรติกับบ่อน้ำพุด้านล่าง แสดงถึงน้ำพระทัยที่พระราชทานแก่ชาวไทย
บ่อน้ำพุด้านล่าง เทียบได้กับพสกนิกรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพร้อมใจกันสรรเสริญ
ปัจจุบันหอยสังข์สัมฤทธิ์เป็นสัญลักษณ์ประจำสวนรมณีนาถแห่งนี้
ก่อนที่จะมาเป็นสวนรมณีนาถ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ. 2535 นั้น สถานที่แห่งนี้คือคุกเก่า เมื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะแล้วได้รับพระราชทานนามว่า “รมณีนาถ” ซึ่งมีความหมายว่า “นางผู้เป็นที่พึ่ง” ตั้งอยู่บริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิม ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา
จากการที่สวนรมณีนาถได้ดัดแปลงมาจากเรือนจำ ภายในบริเวณสวนยังคงอนุรักษ์แนวรั้วกำแพง ป้อมยาม ซุ้มประตูทางเข้าไว้เป็นสัญลักษณ์ และเป็นส่วนประกอบของสวน นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผมเคยดูแล้ว อยากแนะนำว่าที่คนขวัญอ่อน หรือเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองไปด้วยห้ามเข้าไปดู ทั้งนี้เพราะมีการจัดแสดงการลงโทษ การทรมานและการประหารนักโทษด้วยกรรมวิธีต่างๆ ที่คนขวัญอ่อนเข้าไปเห็นจะมีอาการขนลุกขนพอง สยองเกล้าแน่นอน ทั้งหมดคล้ายกับจำลองนรกขุมต่างๆ มาไว้บนพื้นปฐพีก็มิปาน
ส่วนความเป็นมาของคุก หรือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนั้น ข้อมูลระบุว่าคุกนี้ก่อสร้างเมื่อ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2433) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นว่า ที่ต้องขังจองจำผู้กระทำความผิดต้องควบคู่ไปกับศาลสถิตยุติธรรม จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่ดินตำบลตรอกคำ ทำการก่อสร้าง โดยทรงส่งพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค ณ ป้อมเพชร) ซึ่งเคยไปรับราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปดูรูปแบบคุกที่สิงคโปร์ คุกแห่งนี้จึงเป็นแบบเรือนจำ Brixton อันเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุดนั่นเอง
การก่อสร้างเสร็จสิ้น ย้ายนักโทษเข้าไปอยู่ได้เมื่อเดือน ก.พ. ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2434) และได้รับการขนานนามว่า “คุกกองมหันต์โทษ” หรือเรียกกันว่า “คุกใหม่” มีอายุเก่าแก่ถึง 103 ปี และได้เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง สุดท้ายใช้ชื่อว่า “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” (แต่คนส่วนมากรู้จักและเรียกว่าคุกคลองเปรม)
เมื่อ พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน หรือ “เรือนจำกลางคลองเปรม” และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาควบคุมรวมกัน และให้ปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นสวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ปี พ.ศ. 2542 มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 29 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา
เปิดทำการ 05.00-21.00 น. ทุกวัน ส่วนพิพิธภัณฑ์เปิดวันอังคารเสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.
ตั้งแต่เช้ามืดที่เปิดทำการ จะมีประชาชนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของและผู้ประกอบกิจการในบริเวณใกล้เคียง เช่น ย่านวังบูรพา คลองถม วรจักร และปากคลองตลาดมาออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก เพราะบรรยากาศดี สะอาดร่มรื่น และอุปกรณ์การออกกำลังกายสมบูรณ์
การออกกำลังกายอยู่ที่ความถนัด บางคนจ๊อกกิ้ง บางคนเดิน และบางคนบางกลุ่มรำมวยจีน ดังเช่นกลุ่มของอาจารย์ชิว แซ่หว่อง ที่รำมวยไทเก๊ก ตามจังหวะเสียงเพลงจากเทปบันทึกเสียงที่ดังก้องกังวานที่ลานหน้าสระน้ำพุเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
คณะรำมวยไทเก๊ก ประมาณ 10 คน นำโดยอาจารย์ชิว แซ่หว่อง จะร่ายรำด้วยท่วงท่าที่สะดุดสายตาของชายหนุ่มหญิงสาวที่เดิน และวิ่งเหยาะๆ เพื่อออกกำลังกายในสวนสาธารณะแห่งนี้ตลอดเวลา
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ อาจารย์ชิว แซ่หว่อง ในวัย 77 ปี จะเดินออกจากบริเวณสวนไปตามถนนมหาไชยเพื่อหาอาหารรับประทาน เท่าที่สังเกตดูเมื่ออาจารย์ชิวเดินผ่านไปทางไหน ไม่ว่าจะในบริเวณสวนหรือข้างนอกสวน จะได้ยินเสียงเรียกชื่อทักทายตลอด ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ที่มาออกกำลังกายที่สวนรมณีนาถส่วนมากจะรู้จักอาจารย์ชิวเป็นอย่างดีเพราะเป็นคนเก่าแก่ที่นี่คนหนึ่ง
เมื่อเดินผ่านร้านนายเหมือน ที่มีชื่อเสียงในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหวายมานานร้อยกว่าปี ปัจจุบัน พ.ต.อ.อารี มนตรีวัต อายุ 85 ปี นายตำรวจนอกราชการเป็นเจ้าของ ทั้งสองท่านทักทายพูดคุยกันอย่างสนิทสนม ก่อนที่จะเดินต่อไปยังร้านอาหารที่อยู่ใกล้กับ สน.สำราญราษฎร์ ที่มีร้านขายข้าวแกงจานละ 10 บาทตั้งอยู่ พร้อมกับร้านขายกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ
อาจารย์ชิวตามที่หลายๆ คนเรียกขานบอกกับผู้เขียนว่าที่หลายคนรู้จักและสนิทสนมเป็นกันเอง เพราะตัวเขามาสอนรำมวยไทเก๊กที่สวนรมณีนาถแห่งนี้เป็นเวลานานถึง 10 กว่าปีตั้งแต่วันแรกๆ ที่เปิดสวน
บ้านอาจารย์ชิว อยู่ตรงข้ามกับวัดตรีทศเทพ จะควบเวสปาคู่ใจมาที่สวนตั้งแต่ 05.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเปิดสวนทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ และวันที่ป่วยเท่านั้น และจะใช้เวลาที่สวนแห่งนี้จนถึงเวลา 10.00 น. หรือ 11.00 น. ก็กลับบ้าน
อาจารย์ชิว ในวัย 77 ปี แต่แข็งแรง เล่าว่าก่อนที่เขาจะสอนไทเก๊กนั้นเขาเป็นนักวิ่งมาประมาณ 10 กว่าปีได้ถ้วยมา 80 กว่าใบ วิ่งมากๆ เท้าเป็นตาปลาต้องไปผ่าตัด ผลจากการผ่าตัดตาปลาหาย แต่ขาไม่ค่อยดีทำให้วิ่งไม่ได้เหมือนเดิม ส่วนความจำก็ไม่เหมือนเดิม เช่นเคยจำและสอนรำมวยไทเก๊กได้ถึง 10 กว่าเพลง แต่ตอนนี้จำได้เพียง 34 เพลงเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถสอนได้ แม้จะไม่มากเพลงเหมือนเดิม
ในบริเวณสวนรมณีนาถแห่งนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ด้านถนนมหาไชย ประกอบด้วยอาคาร 4 หลังคือ ตึกศาลอาญา ตึกรักษาการณ์ ตึกร้านค้ากรมราชทัณฑ์และอาคารแดน 9 ภายในจัดแสดงเครื่องมือลงทัณฑ์และวิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ไทย
อาคารศาลอาญา แสดงเครื่องมือลงทัณฑ์ และวิธีประหารชีวิตสมัยโบราณ รวมทั้งแสดงการประหารชีวิตในปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับเรือนจำและการหลบหนีของนักโทษ
อาคารรักษาการณ์ แสดงภาพประวัติและอุปกรณ์เครื่องใช้ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเอกสารเกี่ยวกับประวัติการราชทัณฑ์ในอดีต
อาคารร้านค้ากรมราชทัณฑ์ จัดจำหน่ายสินค้าราชทัณฑ์และของที่ระลึก
อาคารแดน 9 เป็นเรือนนอนผู้ต้องขังในอดีต แสดงสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของนักโทษ ระบบการคุมขังและลักษณะอาคารตามแบบตะวันตก
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 รวบรวมวัตถุเกี่ยวกับการลงโทษและวัตถุโบราณจากเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ จัดแสดงที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ บริเวณตรงข้ามเรือนจำกลางบางขวาง จึงได้ขนย้ายมาจัดแสดงที่อาคารศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. 2515 และย้ายมาจัดแสดงที่สวนรมณีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2542 พร้อมกับการเปิดสวนสาธารณะ
อาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2540
ณ ที่นี่จึงเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียว ที่มีทั้งสวนสาธาณะและพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ที่ให้ออกกำลังกายและที่จัดแสดงอุปกรณ์การทรมาน และประหารนักโทษอย่างครบถ้วน
ออกกำลังกายแล้ว ยังได้คติว่าคนทำดีมีที่ไปไม่สิ้นสุด แต่คนทำชั่วจะเก่งแค่ไหนหากถูกจับได้ต้องถูกจำกัดที่ไป นั่นคือคุก (จึงมีคนหนีคุก)