เปิดฝาสมองผู้ชนะ
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านการบริหาร HR และการพัฒนาภาวะผู้นำในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านการบริหาร HR และการพัฒนาภาวะผู้นำในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี
โดย... รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านการบริหาร HR และการพัฒนาภาวะผู้นำในระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี ทำให้สังเกตเห็นว่า 23 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีแนวโน้มที่นักวิทยาศาสตร์ ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscientist) หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “นักประสาทวิทยาศาสตร์” เข้ามานำเสนอการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้าง และพัฒนาการของสมองมนุษย์มากขึ้น ซึ่งนักประสาทวิทยาศาสตร์เหล่านี้พยายามนำเสนอแนวคิดว่า หากเรามีความเข้าใจว่าสมองของมนุษย์นี้ มีโครงสร้างอะไรบ้าง และชิ้นส่วนต่างๆ ในสมองทำหน้าที่อย่างไร และปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญต่อการควบคุมการพัฒนาการของสมอง เราก็สามารถที่จะพัฒนาสมองของเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียน หรือการบริหารงานและบริหารคน ...ซึ่งนี่ก็คือประเด็นหลักของเรา
เมื่อไม่นานมานี้ Jeff Brown นักจิตวิทยาการรู้การคิดและพฤติกรรม (Cognitive–Behavioral Psychologist–ใครสามารถหาคำแปลภาษาไทยได้ดีกว่านี้ช่วยกรุณาชี้แนะด้วยจะขอบพระคุณยิ่ง) แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Harvard ได้ร่วมมือกับ Mark Fenske ผู้เป็นอาจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Guelph ในแคนาดา และ Liz Neporent นักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ (Bestseller) แห่งนิวยอร์ก
ได้ออกหนังสือเรื่อง “The Winner’s Brain” (สมองของผู้ชนะ) เพื่อนำเสนอ 8 กลยุทธ์ไม้เด็ดในการพัฒนาสมองของเราให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ “ผู้ชนะ” ให้ได้
ทั้งนี้นิยามของมันสมองของผู้ชนะ (The Winner’s Brain) คือสมองที่มีความสามารถในการปรับตนเองให้หลุดออกจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย แล้วแสวงหาหนทางที่ดีที่สุดในการพุ่งพลังความสนใจให้กับภารกิจสำคัญที่สุดเพื่อที่จะทำงานนั้นให้ได้ผลดีที่สุด พูดง่ายๆ ด้วยภาษาชาวบ้านก็คือ บุคคลที่มีสมองของผู้ชนะที่ประสบผลสำเร็จในกิจการงานทั้งหลายจะต้องมีสมาธิแน่วแน่ดิ่งกับการทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งโดยที่สิ่งอื่นๆ ไม่สามารถดึงความสนใจให้วอกแวกหรือไขว้เขวไปได้
จากการสำรวจและศึกษาสมองของบรรดาเหล่า “Winners” หรือผู้ชนะที่มาจากวงการอาชีพต่างๆ ทำให้ค้นพบลักษณะที่ตรงกันอยู่ 5 ประการ ซึ่ง Jeff และคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ระบุว่าคือ คุณสมบัติหรือเครื่องมือ (Tool) สำคัญ 5 ประการที่นำไปสู่ความสำเร็จซึ่งได้แก่
เครื่องมือลำดับ 1เรดาร์จับหาโอกาส (ทอง) ยกตัวอย่างเช่น บางคนได้ไปชิมชาเขียวของญี่ปุ่น ชิมแล้วก็แล้วกันไป แต่บางคนมองเห็นโอกาสที่จะเปิดตลาดชาเขียวในประเทศไทยแล้วก็เริ่มลงทุนผลิต โฆษณา และจัดจำหน่ายชาเขียวจนกำไรเป็นล่ำเป็นสัน เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่ามีสมองที่ฉับไวมองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่างๆ
เครื่องมือลำดับที่ 2มีความระแวดระวังจับสัญญาณอันตรายอย่างทันท่วงที ในขณะที่มองเห็นโอกาสได้ไวกว่าคนอื่น บรรดา Winners ก็มีสมองที่จับสัญญาณอันตรายและความเสี่ยงต่างๆ ได้ทัน ทำให้พวกเขาป้องกันตนเองจากการสูญเสียได้ทันเวลา
เครื่องมือลำดับที่ 3มีเป้าหมายที่คมชัด มาก (Gold Laser) ประมาณลำแสงเลเซอร์จากดาบของเจได (Jedi) ในเรื่องสตาร์วอร์สยังไงยังงั้นเลย ไม่เชื่อก็ลองพลิกประวัติบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตอ่านดูสิคะ
หนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้พวกเขาประสบผลสำเร็จก็คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน พวกเขารู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต
เครื่องมือลำดับที่ 4มีพลังเร่งพื่อบรรลุจุดหมาย การมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นเพียงการเริ่มต้นที่ดี แต่การจะบรรลุเป้าหมายต้องอาศัยแรงจูงใจที่เกิดจากจิตวิญญาณภายในของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากภายนอก Winners อย่างเช่น Tony Tsieh แห่ง Zappos.com บี้ เดอะสตาร์ หรือนักเทนนิสชื่อดังอย่าง
ราฟาเอล นาดาล ล้วนมีแรงขับ (Drive) จากภายในที่ต้องการ “ชนะ” เป็นทุนก้อนใหญ่ของตัวเองอยู่แล้ว
เครื่องมือลำดับที่ 5รู้ตัวว่า “พรสวรรค์” ของตัวเองคืออะไร เครื่องมือชิ้นนี้ Jeff และคณะบอกว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากสำหรับการที่จะเริ่มต้นเดินทางในถนนสาย The Winner คนที่ไม่สามารถค้นพบว่าตนเองมีความถนัดหรือความสามารถที่แท้จริงในด้านใดเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะเขาต้องหลงทางเสียเวลากับการทำภารกิจที่เขาไม่ถนัด และยากที่จะทำให้ได้ดี
อย่างไรก็ตามแม้เราจะรู้ว่า เครื่องมือทั้ง 5 ที่ช่วยให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นผู้ชนะในเส้นทางสายอาชีพคืออะไรแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราพัฒนาตัวเราให้เป็นผู้ชนะได้ Jeff และคณะจึงได้นำเสนอกลยุทธ์อีก 8 ประการที่จะลับสมอง ให้เป็น Winner’s Brain ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาพูดคุยเรื่องกลยุทธ์ เหล่านี้ต่อไปในสัปดาห์หน้าค่ะ สัปดาห์นี้เตรียมเคลียร์สมองของเราก่อน แล้วคราวหน้าค่อยลับสมองกันนะคะ