‘เศษกระจก’ สร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์สุดเก๋
โต๊ะกระจกแสนเก๋ที่ใช้วางในห้องรับแขก หากไม่สังเกตจะไม่รู้ว่าผลิตมามาจากเศษกระจกที่เหลือจากการผลิต
โดย...วราภรณ์
โต๊ะกระจกแสนเก๋ที่ใช้วางในห้องรับแขก หากไม่สังเกตจะไม่รู้ว่าผลิตมามาจากเศษกระจกที่เหลือจากการผลิต การตัดเพื่อนำไปติดตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ แต่นักบริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ไม่ยอมทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่เลือกนำเศษกระจกนั้นกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ นี่เป็นแนวคิดหนึ่งของบีเอสจี กลาส (BSG Glass) ของ พลัฏฐ์ เลียวกิจสิริ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมของบีเอสจี กลาส ที่อยากร่วมสะท้อนสิ่งแวดล้อมที่จัดเป็นฝ่าย BSG Glass Design Station อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อตั้งทีมงานในการคิดค้นกระจกดีไซน์ที่มีความแตกต่าง สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ
ค่าที่จบวิศวกรรมศาสตร์ ด้านไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อคณะวิศวกรรมด้านวัสดุศาสตร์ ที่ฝรั่งเศส พลัฏฐ์จึงมีความรู้เรื่องวัสดุเป็นพิเศษ อีกทั้งเป็นธุรกิจของที่บ้านที่คลุกคลีอยู่กับกระจกมาโดยตลอด จึงอยากสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์รูปแบบใหม่ๆ ที่ผลิตจากเศษกระจกที่มีอยู่เต็มโรงงาน
“สาเหตุที่ผมคิดเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากเศษกระจกที่เหลือใช้จากการต่อเติม ตกแต่งอาคาร แล้วมักจะเหลือเป็นเศษกระจกชิ้นๆ ทั้งเล็กและใหญ่ จะทิ้งไปก็เสียดาย ที่โรงงานจึงเก็บสะสมไว้มากมาย แต่เมื่อถึง ณ วันหนึ่ง เศษกระจกเก็บไว้มากเข้าก็เปลืองที่ ต้องเสียเวลาในการจำกัดทิ้ง เพราะเราต้องการพื้นที่ไปทำอย่างอื่น ผมจึงมองว่าทำอย่างไร เราจึงจะใช้ประโยชน์จากเศษกระจกเหล่านี้ได้ ”
เมื่อ 2 ปีก่อนความคิดยังไม่ตกผนึก วัฏจักรของการเก็บเศษกระจกก็วนอยู่แบบนี้ พลัฏฐ์จึงเริ่มมองหาการแปรรูปและอยากพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น จึงออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากเศษกระจกขึ้น เขาจึงเข้าร่วมโครงการกับ ศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เพื่อเปลี่ยนเศษกระจกให้มีมูลค่ามากขึ้น
เปลี่ยนเศษกระจกให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์
พลัฏฐ์ เล่าว่า สิ่งที่บริษัทของเขามุ่งศึกษาวิจัยควบคู่กันไป คือ การเป็นโรงงานผลิตกระจกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มต้นจากการวางแผนที่มีเป้าหมายชัดเจน จากการค้นคว้าและพัฒนาของฝ่ายนวัตกรรมของบริษัท นอกจากนี้ บีเอสจี กลาส ยังได้รับโอกาสที่ดีจากการเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทอง รับโลกร้อน สร้างคุณค่าให้ชีวิต “Waste to Wealth” ของ ศ.ดร.สิงห์ ที่ร่วมกับ TCDC ทำให้เขาเห็นภาพได้ชัดขึ้น
เมื่อได้แนวคิด การเปลี่ยนขยะให้เป็นทองแล้ว พลัฏฐ์ จึงคิดนำสิ่งใกล้ตัวมาปรับปรุง ด้วยการนำเศษกระจกที่เหลือจากการแตกหัก การตัดเหลือ ที่กลายเป็นขยะในโรงงานมาออกแบบจนกลายเป็นสินค้านำดีไซน์เปรียบได้กับ “การเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่ไร้ค่า” ด้วยการหันมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามโรงงานผลิตกระจกทั่วไปแล้ว การผ่านกระบวนการผลิตจะมีเศษกระจกเหลือทิ้งมากมาย ด้วยเหตุนี้ บีเอสจี กลาส จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
“ก่อนจะทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เราก็ต้องเริ่มจากการสร้างคอนเซปต์ก่อน โดยเรามองว่าคอนเซปต์เฟอร์นิเจอร์ของเราจะเน้นความเรียบง่าย และจับต้องได้ ซึ่งก็เป็นความท้าทายด้านการออกแบบเหมือนกัน คือ การนำข้อจำกัดของเศษกระจกที่เหลือในโรงงานมาใส่เอกลักษณ์ที่มีคุณค่าด้านการดีไซน์เข้าไป ก็จะช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ธรรมดากลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีความหรูหราได้” พลัฏฐ์ เล่า
หยิบแรงบันดาลใจใส่ในเฟอร์นิเจอร์กระจก
งานออกแบบเศษกระจก เมื่อผนวกกับความใส่แรงบันดาลใจลงในทุกชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์กระจกจึงออกมาเป็นผลงาน อาทิ “Hunsa Bench” ที่แอบใส่มุมที่ทำให้อดอมยิ้มไม่ได้ให้กับงานออกแบบ ด้วยการนำเศษกระจกมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ม้านั่งลูกหมูตัวน้อยท้องโย้ หรืออย่าง “Krosz Seat” ที่ได้แรงบันดาลใจจากการให้ผู้ใช้งานเสมือนนั่งลอยอยู่กลางอากาศได้ จากการดึงความโดดเด่นของความใสกระจกช่วยสร้างความรู้สึกให้ผู้ใช้งานได้อย่างสมจริง
นอกจากนี้ พลัฏฐ์ยังเริ่มวางโครงการอื่นๆ ที่ต่อยอดโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกหลากหลายโครงการ ทั้งการผลิตสินค้าสีเขียว อย่างกรีนกลาส “Green Glass” ที่เป็นกระจกประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ที่กรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มอบฉลากเบอร์ 5 ให้เพื่อการันตีว่าสามารถช่วยประหยัดพลังงานจากกระแสไฟฟ้าและโครงการวิจัยอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมายที่พร้อมจะเปิดตัวในไม่ช้า
กว่าจะมาเป็นเฟอร์นิเจอร์จากเศษกระจก
พลัฏฐ์ เล่าถึงขั้นตอนการทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จากเศษกระจกให้แล้วเสร็จ ต้องเริ่มจากการดูจุดเด่นของสินค้า เนื่องจากธุรกิจของเขาแปรรูปเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก เขามีวัสดุทั้งกระจกใส กระจกเงา เขาก็ออกแบบและนำเศษกระจกมาประกอบกันให้สวยงามดูมีมิติได้ ผสานกับการนำเทคนิคในการตัดกระจกเข้ามาผสม
“บริษัทของเรามีการนำเทคนิคนำกระจกใสมาออกแบบเข้ากับกระจกเงา เพื่อใช้ในงานอาคาร ตกแต่งโรงแรมให้ดูสวยงามมีสไตล์ คือเรามีชื่อเสียงด้านนั้นอยู่แล้ว จากการตกแต่งอาคารจะเหลือกระจกชิ้นเล็กๆ ถ้าทิ้งไปก็ได้ แต่ผมก็รู้สึกเสียดาย เราจึงคิดว่า จะนำกระจกไปใช้อะไรได้บ้าง ซึ่งมีความหลากหลายในตัวเอง อาจเป็นของตกแต่งบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก บวกกับความรู้ด้านกระจกที่เรามี กลายเป็นกระจกมีดีไซน์ มากกว่าเป็นเก้าอี้วางกาแฟ หรือกระจกส่องหน้าที่มีดีไซน์ นี่คือที่มาที่ไป ซึ่งในขั้นตอนการผลิตเราต้องศึกษาถึงขนาดของเฟอร์นิเจอร์เพื่อนำกระจกมาใช้ เศษกระจกชิ้นนี้สามารถทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ได้
แต่ในแนวคิดแบบนี้ไม่ใช่แนวคิดที่สวยหรู เพราะยังมีอุปสรรคคือ บางคนไม่ค่อยยอมรับกับเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเศษกระจก เพราะคนจะเกิดคำถามว่า อย่างเก้าอี้ มันนั่งได้จริงหรือ เราจึงต้องอาศัยการออกแบบที่ดูแข็งแรง เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นต้องใช้เทคนิคในการประกอบ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง คือเราจะใช้เทคนิคประกอบวัสดุเข้าด้วยกัน เช่น ไม้กับกระจก ซึ่งเราก็ต้องใช้เทคนิค ตอกลิ่มหรือใช้สอดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้กระจกสองชิ้นกลายเป็นชิ้นเดียวกัน หรือใช้กาวต่อกันก็ได้ หรือเป็นการนำเศษกระจกมาใช้กับวัสดุอื่นๆ เช่น เหล็กกับไม้ ไม้กับกระจก ซึ่งเทคนิคต่างๆ ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับงานดีไซน์ด้วย ซึ่งในงานออกแบบจุดเริ่มต้น คือเราอยากใช้วัสดุที่เรามีให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด จากเราใช้กระจกไปเพียง 80% ทิ้งซะ 20% แต่อีก 20% ถ้าเราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นเรื่องดี ดีกว่าจำกัดหรือทำลายทิ้งไป คือตอนนี้เทรนด์ของโลกของเราควรใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่ามากที่สุด
อุปสรรคในการทำงาน
อุปสรรคหลักๆ ในการนำเศษกระจกมาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์นั้นอยู่ที่วัสดุ หรือวัตถุดิบที่มีนั้นมีข้อจำกัดมาก เช่น ขนาดเล็กไปและขนาดใหญ่ไป รวมทั้งการจัดเก็บเศษกระจกที่ยังไม่ดีนักจึงเกิดความเสียหาย เราจึงต้องมีการจัดเก็บที่ดี จัดเก็บอย่างไรให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ร้าวหรือมัวจนหมดความสวยงาม
“ระบบจัดเก็บถ้าให้ดี ต้องลงทุนที่หลักแสนบาท แต่เฟอร์นิเจอร์จากเศษกระจกก็ไม่ได้มีมูลค่ามาก เราต้องลงทุน และอาจไม่ได้กำไรในระยะสั้น ซึ่งอาจไม่คุ้มค่า เราจึงต้องมองในระยะยาวไปอีก แต่เราเพิ่มเริ่มได้ 1 ปีเศษๆ เท่านั้น ซึ่งก็ได้อาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องพัฒนา ปรับปรุง ซึ่งผมมองว่าเทรนด์ในอนาคตก็น่าจะเวิร์ก แต่คนที่ตั้งใจทำจริงๆ ในการนำเศษวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่เป็นเรื่องที่เหนื่อย จึงเป็นสิ่งที่ไม่เห็นผลในระยะสั้น ขายก็ไม่ได้กำไร เราจึงต้องศึกษาพัฒนาเทคนิคของเราให้ดี เราควรจะใช้เครื่องจักรอะไร เราจะใช้วัสดุกระจกกับอะไร เมื่อทำสินค้าเดิมไม่ได้ จะทำสินค้าอะไร บางครั้งก็เคยเกิดอาการเหนื่อยและท้อ เศษวัสดุก็จะอยู่ที่แค่กองขยะ แต่หากเรามีกำลังใจ เราก็จะเกิดแนวคิดในการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง” พลัฏฐ์ บอก