ช่วยด้วย! เต่าทะเล สัตว์โลกไร้ทางสู้
เต่าทะเล หรือ Sea Turtles (Superfamily Chelonioidea) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำโบราณที่อยู่โลกมานานแสนนาน
โดย..ปณิฏา สุวรรณปาล / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
เต่าทะเล หรือ Sea Turtles (Superfamily Chelonioidea) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำโบราณที่อยู่โลกมานานแสนนาน โดยมีถิ่นอาศัยอยู่ในทุกๆ ที่ที่มีทะเล เว้นก็แต่ในเขตอาร์กติกซึ่งไร้สิ่งมีชีวิต
นับตั้งแต่ปี 1973 นั่นทีเดียว ที่เต่าทะเล 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กรีน เทอร์เทิล (Green Turtle) ฮอว์กบิลล์ (Hawksbill) รวมทั้งเลเทอร์แบ็ก (Leatherback) ต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในลิสต์ของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (จัดอันดับโดยไซเตส หรือ CITES (the convention on the international trade of endangered species) ซึ่งแม้กระทั่งการติดตามผลครั้งล่าสุด เมื่อปี 1990 ก็ยังพบว่า เต่าทะเลดังกล่าวคงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
*เต่าตายหนึ่งตัว = ตายพันตัว
หลายคนสงสัยว่า ดูเหมือนเราจะเห็นเต่าทะเลมากมาย พวกมันจะเสี่ยงสูญพันธุ์จริงหรือ... สิ่งที่พวกเราเห็นต่างจากสิ่งที่เป็นจริง ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1960 จำนวนเต่าทะเลลดลงอย่างฮวบฮาบในทุกๆ แห่งของโลก
ว่ากันว่า หากเต่าทะเลตัวหนึ่งตาย นั่นหมายความว่า อีกนับพันๆ ตัวได้ตายลงไปด้วย เพราะนอกจากเต่าทะเลที่ออกจากไข่เพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น ที่มีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย เต่าตัวหนึ่งที่โตแล้วยังสามารถให้กำเนิดลูกเต่าได้อีกนับพันตัวนั่นเอง
ปัจจัยสำคัญต้นๆ ที่ทำให้เต่าทะเลตกอยู่ในที่นั่งของสัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ คือ หลายถิ่นที่ของโลกเห็นว่า เต่าทะเล คืออาหารอันโอชะ จึงมีการล่าเต่ามาเป็นอาหารมิต่างจากการทำประมงตกปลา โดยไม่เว้นแม้กระทั่งฤดูกาลวางไข่ เมื่อไม่มีไข่ก็ไร้จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของเต่าทะเลในกาลต่อมา
นอกจากจะจับเจ้าสัตว์โบราณแห่งโลกล้านปีมาปรุงเป็นอาหารจานเด็ด ทั้งเนื้อและไข่เต่า ไม่ว่าระดับชาวบ้าน หรือระดับร้านเหล้าแล้ว ยังมีกลุ่มที่เห็นว่า กระดองของเต่าทะเลมีความสวยงาม จึงมีการจับมาทำเป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นสร้อย กำไล ต่างหู ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนของเต่าที่จะมีโอกาสไปถึงแหล่งการวางไข่และฟักไข่โดยตรง
เต่าทะเลยังได้รับผลกระทบต่อการทำประมงที่ไม่ได้พุ่งเป้ามาที่ตัวพวกมันโดยตรงอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่อประชากรมนุษย์โลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจประมงขยายตัวตาม อย่างเรือลากอวนตกกุ้งนั้น นอกจากจะได้กุ้งจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีเต่าทะเลน้อยใหญ่ติดอวนขนาดมหึมามาได้เป็นพันๆ ตัวทีเดียว ซึ่งการถูกลากติดมากับเรือหากุ้งหาปลานั้น ทำให้เต่าทะเลส่วนใหญ่สำลักน้ำตาย ก่อนที่มันจะได้รับการช่วยเหลือออกจากอวนได้ทันท่วงที (ปัจจุบันมีการกั้นเขตการลากอวนจับสัตว์น้ำในหลายๆ แห่ง ใครทำประมงนอกเขตถือว่าผิดกฎหมาย)
นอกเหนือจากการทำประมง การพัฒนาที่ดินให้เป็นรีสอร์ต โรงแรม หรือคอนโดมิเนียม รวมทั้งร้านอาหาร ถนนหนทางบริเวณชายฝั่งทะเลทั่วโลก ก็มีผลต่อจำนวนของเต่าทะเลเช่นกัน เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มักจะมีการใช้ไฟฟ้า นักอนุรักษ์เรียกว่า เป็น “มลพิษทางแสง” ต่อเต่าทะเล เพราะหลังจากที่เต่าทะเลฟักตัวออกจากไข่นั้น พวกมันจะอาศัยแสงที่สว่างที่สุดในการเดินลงสู่ทะเล เมื่อเกิด “มลพิษทางแสง” จากอาคารบ้านเรือน หรือแหล่งอื่นๆ เต่าก็จะเดินไปตามแสงนั้น ซึ่งอาจมุ่งหน้าไปในทิศตรงกันข้าม และตัวอ่อนของเต่าทะเลอาจจะตกเป็นเหยื่อของสุนัข แมว ปู นก หรืออื่นๆ ได้
นี่ยังไม่ได้นับมลพิษอื่นๆ ในท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นการรั่วไหลของน้ำมัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน (Climate Change/Global Warming) ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์สุดเซนซิทีฟนี้ ลดทอนเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ในการผสมพันธุ์และการวางไข่ โดยจากการวิจัยล่าสุด พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นของโลก ทำให้มีเต่าทะเลตัวเมียจำนวนมากมีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย ส่วนเต่าทะเลเพศผู้นั้นรอดยากมาก ซ้ำสภาพอากาศยังส่งผลต่อการฟักไข่อีกต่างหาก
แถมยังมีอุบัติเหตุอื่นๆ อีกมากมายในท้องทะเล รวมถึงโรคภัยที่คุกคาม ต่างกลายเป็นตัวเร่งการลดจำนวนเต่าทะเล
สัตว์โลกไร้ทางสู้
ปัจจุบันมีองค์การต่างๆ มากมาย จะใหญ่และน้อยมาคอยช่วยยื่นมือช่วยเหลือเต่าทะเล นับตั้งแต่ มารีน เทอร์เทิล กรุ๊ป (Marine Turtle Group) ได้ตั้งขึ้นเป็นกลุ่มแรกในโลกตั้งแต่ปี 1963 ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนที่จะมีข้อตกลงความร่วมมือทางท้องทะเล เกี่ยวกับการทำประมงและสัตว์สงวนตามออกมาหลายฉบับ ออกมาควบคุมชายฝั่งแต่ละแห่ง แต่ละภูมิภาคทั่วโลก
องค์กรน้อยใหญ่แต่ละแห่งส่วนใหญ่จะมีศูนย์อนุบาล ศูนย์พักฟื้น รวมทั้งการติดตามดูชีวิตของเต่าทะเล อย่างที่ มารีน ดิสคัฟเวอรี เซ็นเตอร์ (Marine Discovery Centre) ในโฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต มัลดีฟส์ ทั้งที่ลันดา กิราวารู และกูดาฮูลา ซึ่งอยู่ในบา อะตอลล์ (Baa Atoll) อันเป็นเขตอนุรักษ์ชีวภาพโลกแห่งแรกของยูเนสโก (UNESCO World Biosphere Reserve) นอกจากจะเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของท้องทะเลแล้ว ยังทำงานด้านการอนุรักษ์มากมาย ตั้งแต่โครงการปะการังเทียมรูปพีระมิด รีฟส์เคเปอร์ส (Reefscapers) โครงการอนุรักษ์ปลากระเบนมันตาเรย์ แห่งมัลดีฟส์ กับแล็บปลาการ์ตูน (Anemonefish) และโครงการอนุรักษ์ปลาฉลาม ทั้งโฟร์ซีซันส์ มัลดีฟส์ 2 แห่ง ยังมีโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล (Turtle Protection and Rehabilitation Programmes)
สำหรับมารีน ดิสคัฟเวอรี ที่โฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต มัลดีฟส์ ลันดา กิราวารู ที่เน้นหนักไปทาง 3 โครงการแรกมากกว่า แต่ก็จัดสถานที่เอาไว้เป็นแหล่งพักฟื้นของเต่าทะเลที่ป่วย หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในท้องทะเล โดยขณะนี้มีแต่ทะเลที่โตเต็มวัยพักฟื้นอยู่ 2 ตัวด้วยกัน รายหนึ่งป่วยเป็นโรคผิวหนัง (บริเวณกระดอง) ส่วนอีกรายประสบอุบัติเหตุ ถูกเรือประมงชนได้รับบาดเจ็บ
“อาการค่อนข้างหนักมาก เราต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หวังว่าเขาจะหายป่วยเร็วๆ นี้ และสามารถกลับคืนสู่ท้องทะเลได้อย่างแข็งแรง” เจ้าหน้าที่มารีน ดิสคัฟเวอรี ที่โฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต มัลดีฟส์ ลันดา กิราวารู เล่า
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องรับสัญญาณจีพีเอส เพื่อศึกษาการเดินทางของเต่าทะเล โดยนอกจากจะรู้เห็นความเป็นไปของพวกมันแล้ว ยังได้เห็นเส้นทางการท่องไปในท้องทะเลอันแสนมหัศจรรย์ของพวกมันด้วย ทั้งนั้นและทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ทำความรู้จักกับเจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้ให้ดียิ่งขึ้น
“ตัวที่เราติดตามอยู่ล่าสุดขณะนี้ (ชี้ในจอ) ออกจากศูนย์ฯ ไปไม่นาน แต่มันเดินทางไปถึงกรุงมาเล (เมืองหลวงของมัลดีฟส์) แล้ว” เจ้าหน้าที่คนเดิมเล่าอย่างตื่นเต้น
ขณะที่ มารีน ดิสคัฟเวอรี ที่โฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต มัลดีฟส์ กูดาฮูลา เองก็มีโปรแกรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนๆ กัน ทว่าเน้นที่การอนุบาลเต่าทะเลโดยเฉพาะ โดยมีสถานที่ดูแลเลี้ยงดูเต่าทะเล 2 สายพันธุ์ คือ กรีน เทอร์เทิลและฮอว์กบิลล์
“เรารักษาสภาพแวดล้อมชายหาดให้เหมาะกับการที่แม่เต่าจะมาวางไข่ หลังจากนั้นก็ปล่อยให้มีการฟักไข่โดยธรรมชาติ แล้วก็ให้เจ้าเต่าตัวน้อยๆ เดินลงทะเลลงไปสัมผัสน้ำก่อน ค่อยเก็บมาเลี้ยงที่ศูนย์อนุบาลเต่าทะเล” เจ้าหน้าที่ประจำมารีน ดิสคัฟเวอรี ที่โฟร์ซีซันส์ รีสอร์ต มัลดีฟส์ กูดาฮูลา เล่าอีกว่า ที่ทำแบบนั้นก็เพื่อที่จะให้เต่าทั้งหลายจดจำสถานที่เกิดของตัวเองได้
ศูนย์อนุบาลเต่าทะเลแห่งนี้ จะอนุบาลเต่าเอาไว้จนกระทั่งกระดองของเต่าแต่ละชนิดมีขนาดราว 30 ซม. จึงจะปล่อยคืนสู่ทะเล พร้อมติดตามด้วยระบบจีพีเอสเพื่อศึกษาชีวิตของพวกมัน
เต่าทะเลนับว่าเป็นสัตว์โลกที่ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้โดยแท้ แม้ว่าจะดำรงเผ่าพันธุ์มาได้หลายร้อยล้านปี แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดูเหมือนพวกมันไม่อาจจะทำอะไรได้มากไปกว่ารอวันที่จะสูญพันธุ์ แม้ว่าจะได้รับการขึ้นบัญชีให้เป็นสัตว์สงวน แต่ก็ยังมีการแอบซื้อขายกันในตลาดมืดอยู่ดี และก็ยังมีผู้ทำประมงที่ไม่รับผิดชอบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
ก็มีเพียงมนุษย์อย่างพวกเรานี่แหละ ที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ...
ขอบคุณ – โฟร์ซีซันส์ มัลดีฟส์ และสายการบินบางกอกแอร์แวย์ส
รู้หรือไม่...
เต่าทะเลที่ออกจากไข่เพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้นที่มีชีวิตรอดจนโตเต็มวัย มันมีศัตรูมากมาย ทั้งนก ปู สุนัข พังพอน รวมทั้งปลาขนาดใหญ่
เต่าทะเลก่อนที่จะวางไข่ จะว่ายอยู่บนผิวน้ำบริเวณชายฝั่งเพื่อหาแหล่งเหมาะๆ ถ้าใครแล่นเรืออยู่ใกล้ชายฝั่งควรระมัดระวังอย่าไปชนเต่าท้องแก่
เต่าทะเลแรกเกิดจะรอคอยจนกว่าฟ้าจะมืดค่ำจึงออกจากไข่ ถ้าใครเดินหรือขับรถแถวๆ ชายหาดต้องระวัง เพราะอาจจะเหยียบหรือทับรังเต่าโดยไม่ตั้งใจได้
เต่าทะเลหายใจในน้ำไม่ได้ แม้พวกมันจะสามารถแหวกว่ายอยู่ในทะเลได้เป็นเวลานานๆ แต่ก็ต้องขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจ เมื่อโดนลากไปในอวนจับปลา จึงมักสำลักน้ำตาย
เต่าทะเล อย่าง เลเทอร์แบ็ก รับประทานแมงกะพรุนเป็นอาหาร พวกมันแยกแยะไม่ออกระหว่างแมงกะพรุนกับถุงพลาสติก ซึ่งถ้ามันกินเข้าไปอาจจะเข้าไปอุดทางเดินหายใจ หรือไม่ก็ทำให้มันหิวตาย
เต่าทะเลเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ในบัญชีไซเตส หมายถึงเป็นสัตว์สงวนที่ห้ามซื้อขายไม่ว่าในรูปแบบใดๆ รวมทั้งห้ามทำร้าย กลั่นแกล้ง รังแก หรือทำให้ได้รับบาดเจ็บด้วย