เริ่มต้นทำสมาธิ
มีผู้ขอให้ช่วยแนะนำเรื่องการทำสมาธิแบบเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำสมาธิมาก่อนและไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมะมากนัก MQ จึงขอนำความโดยย่อมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยขอใช้ศัพท์ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังนี้
มีผู้ขอให้ช่วยแนะนำเรื่องการทำสมาธิแบบเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำสมาธิมาก่อนและไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมะมากนัก MQ จึงขอนำความโดยย่อมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยขอใช้ศัพท์ง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังนี้
ความจริงสมาธิในพระพุทธศาสนานั้นมีถึง 40 วิธี แบ่งเป็น
กสิณ 10
อสุภะ 10
อนุสติ 10
พรหมวิหาร 4
อรูป 4
อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1
จตุธาตุววัตถาน 1
อย่างไรก็ตาม สมาธิที่ผู้ถามสนใจนั้น คือ “อานาปานสติ” ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของสมาธิประเภทอนุสติ 10 นั่นเอง ซึ่งก็คือสมาธิที่ใช้ลมหายใจเข้าออก (วิธีการ คือ การกำหนดที่ปลายจมูกตรงจุดที่ลมหายใจกระทบ ไม่ต้องตามลมหายใจเข้าออก เหมือนนายประตู หรือยาม ที่สามารถรู้ได้ว่ามีคนเข้าและออก เพียงยืนสังเกตที่ประตูนั่นเอง การทำอานาปานสติก็ให้สังเกตคือให้สติจับที่จุดลมกระทบ ที่ลมหายใจผ่านเข้าและออก) เป็นอารมณ์ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจว่า อนุสสตินั้นคืออะไร อนุสสติ หมายถึง สติ คือ การระลึก หมายถึงการให้สติเกิดขึ้นบ่อยๆ คือการระลึกเนืองๆ อย่างต่อเนื่องในอารมณ์ของสมาธินั้นๆ สำหรับอานาปานสติสมาธิก็ต้องระลึกเนืองๆ ในลมหมายใจเข้าออกนั่นเอง หรือเรียกอีกอย่างว่า ให้สติมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์
อานาปานสตินั้น ทรงแสดงอานิสงส์ไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้อานาปานสติสมาธินี้แล อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมสงบและประณีต อานาปานสติสมาธินั้นเป็นสมาธิที่สามารถทำให้เกิดความสงบได้ถึงระดับฌานจิต และอาจเลื่อนระดับแห่งความสงบขึ้นไปได้ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน ทั้งยังเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
สำหรับผู้ที่ไม่เคยทำสมาธิควรทำความเข้าใจก่อนว่า การเจริญสมาธิที่เราจะกระทำนั้นเป็นไปใน 40 วิธีนี้หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังเจริญสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ ควรศึกษาวิธีการให้เข้าใจ มีศรัทธา มีปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้อง สมาธินั้นเป็นการทำบุญประเภทหนึ่ง จัดเป็นภาวนามัย ซึ่งหากกระทำให้ถึงระดับความสงบที่เป็นฌานจิตแล้วก็นับว่าเป็นบุญกุศลที่มีความหนักแน่นต่อเนื่องเป็นมหัคคตะ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า การทำสมาธินั้น หมายถึง การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สิ่งที่ต้องเอาสติไปจดจ่อ ได้แก่ ลมหายใจ เป็นต้น การเพ่งอารมณ์คือเอาจิตไปจดจ่อนั้น เป็นไปเพื่อระงับกิเลสชั่วขณะ คือในขณะที่ทำสมาธิ อกุศลต่างๆ ย่อมไม่เกิด แต่มิได้หมายความว่าจะกลายเป็นอริยบุคคล คือ ระงับดับกิเลสได้ตลอดไป ด้วยการทำสมาธิอย่างเดียวก็หาไม่ ต้องเข้าใจว่า การทำสมาธินั้น เป็นการทำจิตให้สงบให้บริสุทธิ์ (จากกิเลส) ชั่วคราว คือในขณะที่อยู่ในสมาธินั่นเอง อย่างไรก็ตามแม้การทำจิตให้บริสุทธิ์ชั่วขณะก็มีประโยชน์และได้บุญมาก ที่เดียวเพราะกุศลเกิดต่อเนื่อง
ที่สำคัญผู้ปฏิบัติจะต้องไม่หลงในอารมณ์สมาธิและในนิมิตอันถูกต้อง คือ หากเจริญสมาธิประเภทใดก็ต้องให้สติอยู่กับอารมณ์นั้น เช่น เจริญอานาปานสติ ก็ต้องเอาจิตใจไปจดจ่อกับลมหายใจ ที่ผ่านเข้าออก มิใช่ไป คิดนึกถึง สวรรค์ วิมาน ดวงแก้ว พระพุทธรูป หรือเรื่องราวต่างๆ บางคนจินตนาการเห็นมโนภาพหรือนิมิตต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอารมณ์กรรมฐานที่ตนกำลังปฏิบัติ แล้วก็ไปใส่ใจในนิมิตเหล่านั้นอันนี้ไม่ถูกต้องแล้ว การทำสมาธิให้จิตสงบระลึกอยู่กับอารมณ์ของสมาธิ เนืองๆ อย่างต่อเนื่องได้นั้น ผู้เจริญต้องตัดปลิโพธเสียก่อนปลิโพธ ก็คือ เรื่องห่วงใยต่างๆ เช่น ปลิโพธเล็กๆ น้อยๆ มีการตัดผม ตัดเล็บ ทำร่างกายและสถานที่ให้สะอาด สบายพอควร ตัดสิ่งรบกวนที่เป็นเสียงต่างๆ เช่น โทรศัพท์ รวมทั้งเรื่องต่างๆ ที่ห่วงใย บางคนก็ห่วงญาติ ห่วงงาน ห่วงความเจ็บไข้ได้ป่าว ต่างๆ นานา ความห่วงเหล่านี้ ต้องตั้งใจละสักครู่ หากเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือกระทำให้เสร็จลงได้ เรียกว่า ตัดออกจากใจชั่วขณะก่อน
นอกจากตัดปลิโพธแล้ว ควรเจริญธรรม 10 ประการ เรียกว่า อัปปนาโกศล คือ
1.ทำวัตถุ (มีผล เล็บ ร่างกาย เป็นต้น) ให้สะอาด
2.ทำอินทรีย์ 5 (ศรัทธา วิริยา สติ สมาธิ และปัญญา) ให้สม่ำเสมอกัน*
3.ฉลาดในนิมิต (อานาปานสติ อารมณ์กัมมัฏฐาน คือ ลมหายใจ เข้า–ออก โดยทั่วไปไม่มีนิมิตปรากฏ หากมีท่านว่าเป็นลักษณะคล้ายปุยนุ่น สายลม หรือพวงดอกไม้)
4.ยกจิตในสมัยที่ควรยก
5.ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
6.พยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
7.เพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูจิตเฉย
8.เว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ
9.สมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ
10.น้อมจิตไปในสมาธินั้น
เรื่องอินทรีย์ 5 แปลว่า ความเป็นใหญ่ต้องปรับดังนี้ สมาธิกับวิริยะ คือ ความสงบและความเพียรให้เสมอกัน เพราะถ้าสงบมากไม่เพียรก็จะหลับ เพียรมากไม่สงบก็จะฟุ้งซ่าน เป็นต้น ส่วนศรัทธากับปัญญาก็ต้องปรับให้เสมอกัน ผู้มีปัญญาน้อยศรัทธามากก็จะเชื่อโดยงมงายได้ ส่วนผู้มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อยก็จะเกเรโอ้อวด ต้องปรับให้เสมอกัน เมื่อเสมอกันแล้วทั้งสองคู่นี้ ย่อมเกิดความเลื่อมใสประกอบด้วยปัญญา คือ ทำสมาธิได้ถูกต้องและไม่โงกง่วงหรือไม่ฟุ้งซ่านไป ส่วนอินทรีย์ คือ สตินั้น ยิ่งมากยิ่งดี เพราะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึก เป็นการอารักขาให้จิตอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน การยกและข่มจิต เว้นจากสติแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ (การยกและข่มจิตนั้นมีความสำคัญคือให้จิตเป็นไปอย่างเหมาะสม รู้จักดูสภาพของจิตตนและปรับให้อยู่ในความเป็นสมาธิ และหากหลงลืมสติไปคิดเรื่องอื่นก็ต้องนำสติกลับมาจดจ่อไว้ที่จุดลมกระทบนั่นเอง)