posttoday

บัวสามบึง

19 มกราคม 2556

หลังปีใหม่ที่ผ่านมา บัวสายออกดอกชมพูสะพรั่งท้าทายความหนาวกันหลายบึง ชวนให้ต้องไปเที่ยว

หลังปีใหม่ที่ผ่านมา บัวสายออกดอกชมพูสะพรั่งท้าทายความหนาวกันหลายบึง ชวนให้ต้องไปเที่ยว

โดย...จำลอง บุญสอง

หลังปีใหม่ที่ผ่านมา บัวสายออกดอกชมพูสะพรั่งท้าทายความหนาวกันหลายบึง ชวนให้ต้องไปเที่ยว ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีโอกาสไปเยือนบึงบัวที่เขาเอาไว้เพื่อการท่องเที่ยวถึง 3 บึง อันได้แก่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงหนองหาน จ.อุดรธานี และวังบัวแดง อ.เมือง จ.หนองคาย เสียอย่างเดียวที่ไม่ได้ไปทะเลน้อยที่พัทลุง เพราะที่นั่นก็มีบัวและนกน้ำจำนวนมากให้ดูเช่นกัน

เริ่มต้นที่บึงบอระเพ็ดก่อนเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด บึงบอระเพ็ดเป็นบึงขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกั้นน้ำเมื่อปี 2470 ที่ผ่านมา (ต้นรัชกาลที่ 7) การกั้นบึงบอระเพ็ด (ชื่อตามคลองบอระเพ็ดที่เชื่อมกับแม่น้ำน่าน) ส่งผลทำให้มีปลาจำนวนมากอาศัยที่นี่เป็นที่อยู่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ โดยมีบัวหลวงและบัวสายอาศัยเป็นแหล่งเจริญเติบโตเช่นเดียวกับพืชน้ำอีกหลายสิบชนิด โดยมี“นกน้ำ”ทั้งอพยพและประจำถิ่นมาหากิน

คู่มือดูนกชมบึงที่พิมพ์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า บนเนื้อที่บึง 132,737 ไร่แห่งนี้ (เดิมมีถึง 2.5 แสนไร่ ต่อมารัฐเพิกถอนเหลือ 3.8 หมื่นไร่) มีบันทึกเอาไว้ว่ามีนกไม่ต่ำกว่า 190 ชนิด โดยเป็นนกน้ำ 100 กว่าชนิด จาก 187 ชนิดที่พบในประเทศไทย

สมัยก่อนบึงบอระเพ็ดอุดมสมบูรณ์เหลือหลาย โดยมีปลาเสือตอเป็นปลาชูโรง ใครไปใครมาในยุคโน้นถ้าไม่ได้กินปลาเสือตอทอดก็ถือว่ามาไม่ถึงสถานที่แห่งนี้ ครั้นคนไปเที่ยวไปกินมากๆ เข้า ปลาเสือตอก็เลยหมดจากบึงนี้ไปโดยปริยาย เข้าใจว่าปลาชนิดนี้ออกลูกยาก และแต่ละครอกๆ ก็คงเกิดได้ไม่มากนักนั่นเอง

แม้ว่าปลาเสือ สัญลักษณ์ของบึงบอระเพ็ดจะหายไปจากบึงนี้ แต่ก็ไม่ได้หมดไปจากโลกเสียทีเดียวนะครับ เพราะบึงน้ำจืดขนาดใหญ่อย่าง โตนเลสาบ หรือทะเลสาบเขมร ก็ยังมี แต่เข้าใจว่าตอนนี้ก็คงเหลือน้อยแล้ว เอกชนบางรายพยายามที่จะเพาะพันธุ์มันขึ้นมาแบบปลาบึกหรือปลาอื่นๆ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมันไม่ยอมออกลูก คนเลี้ยงต้องเสียเงินซื้อ“กุ้ง”อาหารของมันปีละหลายๆ สตางค์

แต่แม้ว่าปลาเสือจะหมดไปจากบึงแห่งนี้ด้วยฝีมือมนุษย์ แต่ปลาอื่นที่ออกลูกคราวละมากๆ ก็ยังมีให้เห็น ก็ปลานี่แหละที่ทำให้นกกินปลาหลากพันธุ์มีชีวิตอยู่ได้ แต่เราจะได้เห็นนานสักแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับคนจับปลารอบๆ บึงว่าจับกันจนหมดบึงหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้ปลาเล็กปลาน้อยพ่อแม่พี่น้องจับกันเรียบ และที่สำคัญคือ“เรา”นักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวแบบรบกวนที่อยู่อาศัยของมัน ไปทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของมันตาม“กอหญ้า”หรือไม่ ส่วนเรื่องการดักจับปลาด้วยตาข่ายของชาวบ้านที่ดำรงชีพอยู่ที่บึงแห่งนี้ จะพลอยไปดักนกน้ำที่ดำน้ำไปหากินปลาใต้น้ำด้วยหรือไม่ผมไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่น้ำโสโครกจากบ้านเรือนและน้ำปนเปื้อนเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มาถึงแล้ว ก็น่าเชื่อว่าบัวและนกที่บึงบอระเพ็ดและบึงอื่นๆ ในประเทศ ก็จะยังมีให้เราได้ชื่นชมไปอีกนานแสนนาน

บัวสายปีนี้มีมากกว่าปีน้ำท่วมที่ผ่านมา น้ำท่วมใหญ่ครั้งที่แล้วไม่เพียงแต่นกน้ำจะกระจายไปหากินตามแหล่งน้ำท่วมอื่นๆ จนนกในบึงบอระเพ็ดมีให้เห็นน้อยลงเท่านั้น (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านกหายไปนะครับ เพียงแต่กระจายไปตามที่น้ำท่วมอื่นๆ) แต่ยังส่งผลให้บัวในบึงนี้ลดน้อยลงไปด้วย (เพราะบัวทะลึ่งไม่พ้นน้ำที่สูงกว่าความสูงสุดของมัน) แต่ตอนนี้น้ำลดลงสู่ระดับปกติแล้ว บัวและนกน้ำเหล่านั้นจึงกลับมาให้เราดูได้เหมือนเดิม แต่จะมากน้อยเป็นตามเหตุปัจจัยในแต่ละปี

ผมไปคราวนี้ถ่ายรูปนกอีแจว นกพริก นกอีโก้ง และกระสาเทา กระสาแดง ได้ แต่ไม่มากนัก ทั้งๆ ที่นกเหล่านี้ ถ้าใครมีเลนส์ยาวๆ ไปซุ่มถ่ายเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อนั้น ไม่นับพวกนกปากห่าง นกยาง นกนางแอ่นบ้าน นกแซงแซวหางปลา (ที่ชอบพักบนดอกบัว) ที่มีมากอยู่แล้ว ส่วนนกเป็ดหลากหลายพันธุ์ก็มีให้เห็นเหมือนเดิม แต่ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ผมว่าปีนี้น่าจะมีปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิม แต่ก็ไม่แน่นัก เพราะนกแต่ละเดือนอาจจะไม่เท่ากันทุกเดือน และใครจะไปนับจนได้ตัวเลขนกได้จริงๆ คงไม่มี

ไปอีกที่หนึ่งครับ อีกที่ที่ว่าก็คือที่หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นที่ที่ผมบังคับน้องป้อมจาก ททท.อุดรฯ ให้ตื่นแต่เช้าเพื่อถ่ายทำดอกบัวบึงนี้เมื่อหลายปีก่อน สร้างความฮือฮาได้ดีพอสมควร หลังจากนั้นป้อมก็ต่อยอดด้วยการเอาช่างภาพ อ.ส.ท.ไปถ่ายทำบนเครื่องบินเล็ก โดยการอนุเคราะห์ของเทศบาลเมืองอุดรฯ ผลก็คือทำให้บึงแห่งนี้เกิดขึ้นโดยปริยายจนกลายมาเป็นการจัดงานพิธีแต่งงานล้านบัวในวันวาเลนไทน์ไปในทุกวันนี้

บัวที่หนองหานปีนี้ไม่ได้แผ่กระจายไปเต็มผืนน้ำเมื่อเทียบกับที่ผมไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องของภูมิอากาศ หรือเรื่องการมีเรือท่องเที่ยวที่มากขึ้น และไปรบกวนระบบนิเวศของมันหรือเปล่า ผมว่าใบพัดของเรือที่บุกเข้าไปในแหล่งเกิดของมันก็คงทำให้ก้านดอก ก้านใบ เสียหายไปไม่มากก็น้อย การที่ดอกถูกตัดหรือไม่ได้รับการผสมเกสร (จากแมลง เพราะการวิ่งเรือทำให้แมลงต่างๆ บินขึ้นเหนือกอบัว กอสวะ จนถูกนกนางแอ่นบ้านโฉบเอาไปกิน) หรือผสมแล้วแต่ยังไม่ได้แพร่พันธุ์ก็ถูกใบพัดตัดออกเสียก่อน (แม้ว่าบัวจะแพร่พันธุ์โดยเหง้าใต้น้ำ แต่เหง้าใต้น้ำจะสัมพันธ์กับดอกที่เบ่งบานหรือไม่ผมไม่แน่ใจ)

นกน้ำที่บึงหนองหาน อุดรฯ นั้น มีไม่มากนักเมื่อเทียบกับบึงบอระเพ็ด แต่ถ้าดอกบัวละก็มากกว่าแน่ ผมไปหนองหานคราวนี้ อากาศออกจะเย็นๆ ต้องเอาเสื้อหนาวไปด้วย

ทีแรกกะว่าถ้าไปแต่เช้าแล้วอาจจะได้เห็นนกน้ำเหมือนกับที่บึงบอระเพ็ด แต่ไปเช้าก็ไม่ได้เห็นนกน้ำมากสักเท่าใด ปกติบึงขนาดใหญ่อย่างนั้นน่าจะมีนกน้ำมาก การมีนกน้ำน้อยทำให้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะนกน้ำถูกล่าจนนกไม่กล้ามาหรือไม่ หรือว่าในบึงแห่งนี้มีปริมาณปลา อาหารของมันน้อยกว่าที่บึงบอระเพ็ด

ไปที่บึงแห่งนี้เป็นเวลาเดียวกับพิธีเปิดการท่องเที่ยวของบึง ผมจึงถือโอกาสถ่ายรูปงานนี้กับเขาด้วย สมัยก่อนไม่มีความจำเป็นต้องมีพิธีป่งพิธีเปิดอะไรหรอกครับ เดี๋ยวนี้ต้องมีพิธีกันหน่อยเพื่อให้เป็นทางการและเพื่อการหาเสียงของนักการเมือง

เรือบริการนักท่องเที่ยวที่หนองหาน เมื่อเทียบกับที่บึงบอระเพ็ดแล้วก็พอจะเทียบกันได้ เพราะใช้เครื่องยนต์เหมือนๆ กัน ปริมาณคนที่นั่งได้ก็ใกล้เคียงกัน ในแต่ละวันจะมีคนภาคต่างๆ มาเยี่ยมเยือนมากมาย โดยเฉพาะภาคอีสานเดียวกัน ส่วนคนที่ไปจากกรุงเทพฯ อาจจะมีน้อย เพราะต้องเดินทางไกลกว่าจะไปถึง ที่อุดรฯ ผัวฝรั่งเมียไทยเยอะ เพราะมีค่านิยมแบบนั้น ในแต่ละวันจึงมีคู่ชีวิตต่างผิวพรรณมาเที่ยวมาก ไปครั้งนี้ก็เจอหลายราย

กลับจากไปดูบัวแดงที่หนองหาน อุดรธานี แล้วก็ได้มีโอกาสไปดูถนนคนเดินที่เทศบาลเมืองหนองคายจัดขึ้น ถนนคนเดินเดี๋ยวนี้จัดกันหลายแห่งนะครับ หัวใจก็คือการสร้างงาน สร้างเงิน ให้กับชุมชน ให้กับคนในท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับการหาเสียง (ของนักการเมืองท้องถิ่น)

ผมไปถนนคนเดินหลายต่อหลายแห่ง ก็พอจะรู้ได้ว่าที่ไหนทำแล้ว“เกิด”หรือทำแล้ว“ไม่เกิด”จะเกิดก็ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้ครับ 1.โลเกชันดี เช่น เป็นชุมทางของคนเดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ 2.เป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ อาหารทะเล และอื่นๆ 3.บรรยากาศดี เช่น ติดแม่น้ำลำคลองหลายสาย ติดทะเล หรือติดภูเขาสวย 4.เป็นแหล่งผลิตสินค้าเอง หรือมีแหล่งผลิตสินค้าแบ็กอัพ เช่น ฮ่องกงมีเสิ่นเจิ้นเป็นแบ็กอัพ เชียงใหม่ มีลำพูน ลำปาง เป็นแบ็กอัพ 5.มีแหล่งท่องเที่ยวแมนเมด เช่น สวนสัตว์ ไนท์ซาฟารี หอประชุม ฯลฯ 6.มีคนหนุ่มสาวไปทำร้านกิ๊บเก๋ขายของฝากที่ต่อยอดจากสิ่งที่มีแล้วหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ 7.มีช่างภาพที่ถ่ายภาพสถานที่นั้นเอามาขาย หรือเอามาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

ส่วนตลาดที่ไม่เกิด ก็คือตลาดที่ไม่มีบุคลิกที่เป็นตัวของตัวเอง เปิดแบบเลียนแบบคนอื่นเขา บรรยากาศก็ไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นชุมทาง สินค้าก็เป็นสินค้าที่เอามาจากโรงเกลือบ้าง เอามาจากเมืองจีนบ้าง (เดี๋ยวนี้ไปดูได้เลยว่าสินค้าถนนคนเดินตามสถานที่ต่างๆ มักจะเป็นเสื้อผ้าเก่าจากโรงเกลือบ้าง ของเล่นจากเมืองจีนบ้าง จนเรากลายเป็นคนขายของให้คนจีนไป) ที่สำคัญคือไม่มีแหล่งผลิตสินค้าแบ็กอัพ ไม่มีคนวัยหนุ่มสาวมาครีเอทีฟสินค้าและร้านค้ากิ๊บเก๋ เพราะฉะนั้น อย่าไปว่าเด็กๆ ที่มาจากต่างถิ่นผลิตสินค้ากิ๊บเก๋มาขาย เพราะนั่นคือเขามาช่วยสร้างชีวิตชีวาให้ตลาดเรา ในขณะเดียวกันก็ช่วยพัฒนาครีเอทีฟของเด็กวัยรุ่นเหล่านั้นให้ดีขึ้น การให้โอกาสเด็กๆ นับเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง และเมื่อโตขึ้นเด็กเหล่านั้นจะไม่มานั่งขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ แย่งคนท้องถิ่นหรอกครับ พวกที่จะแย่งคนท้องถิ่นก็มีแต่ทุนใหญ่เท่านั้น

ผมเจอฝรั่งหนุ่มกับเมียสาวไทยมานั่งขายข้าวสารที่ร่วมผลิตกันขึ้นมาด้วย ดูแล้วแปลกดี และก็ไม่เพียงแต่เท่านั้น ผมยังเจอคุณแม่ใจงามที่เลี้ยงลูกที่เป็นโรคพิเศษด้วย (โรคที่ว่าคือโรคของคนที่ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ซึ่งเจอไม่มากนักในโลกนี้) มาขายข้าวปลอดสารพิษด้วย เธอว่าที่เธอเอามาขายก็เพื่อต้องการเผยแพร่อาหารธรรมชาติที่เธอผลิตได้ ที่ทำอาหารธรรมชาติก็เพราะต้องการให้ลูกที่ป่วยได้กินอาหารที่ไม่มีพิษ เพราะเชื่อว่ามีแต่อาหารธรรมชาติเท่านั้นที่ช่วยลูกของเธอได้ เธอตั้งชื่อร้านของเธอว่า“บ้านของลูก”หรืออะไรนี่ผมจำไม่ได้ถนัด คนอย่างนี้น่านับถือน้ำใจนะครับ และก็เชื่อว่าเธอน่าจะได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ

ถนนคนเดินแห่งนี้บรรยากาศริมโขงสุดยอดครับ เมืองหนองคายเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่ผมเคยไปมา อาหารการกินก็สมบูรณ์ ไม่ว่าปลาจากแม่น้ำโขงหรือพืชผักผลไม้ที่ปลูกริมโขง ถ้าเมืองหนองคายจัดกินอาหารธรรมชาติที่ริมโขงก็จะ“เกิด”ทีเดียว เพราะไม่มีที่ไหนเขาจัด ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า โดยปกติแล้วริมแม่น้ำโขงจะเกิดหาดริมโขงขึ้นทุกปี ที่เกิดเพราะน้ำพัดพาเอาตะกอนดินที่อุดมไปด้วยปุ๋ยมาพร้อมกับทราย ตะกอนดินที่ว่านี้ปลูกพืชอะไรก็ขึ้นง่าย และมันก็ไม่ใช่จะมีแต่ปุ๋ยนะครับ ยังเป็นดินที่ปราศจากโรคพืชในดินอีกต่างหาก สังเกตง่ายๆ ก็คือมะเขือเทศ ซึ่งถ้าปลูกในดินซ้ำกันทุกปีจะมีโรคจากดินมาทำลายผลผลิตมากขึ้นทุกปี แต่ถ้าเอามะเขือเทศมาปลูกริมแม่น้ำโขง มะเขือเทศเหล่านั้นจะไม่ติดโรคพืชจากดิน เพราะเป็นดินใหม่ที่ปราศจากโรคทุกปี (ที่น่าจัดตลาดคนเดินริมโขงอีกแห่งก็คือที่โขงเจียมครับ เพราะมีอาหารจำพวกปลาอุดมสมบูรณ์ และเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างไทยกับลาวด้วย แต่ตอนนี้อาจจะทำไม่ได้เพราะฝั่งลาวยังไม่เป็นบ้านเมืองใหญ่โต หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ถ้าปัจจัยนี้ดีขึ้นเมื่อไหร่ โขงเจียมจะสุดยอดครับ)

ถนนคนเดินริมโขงที่หนองคายเหมาะสมครับ เพราะเป็นเมืองสงบเงียบ น่าพักผ่อน ทั้งยังเป็นJunctionระหว่างไทยกับลาวด้วย ปล่อยให้อุดรฯ เขาเจริญทางด้านวัตถุกันไปแบบเดียวกับสมุทรสาคร (ที่มีโรงงานเยอะ) เถอะ หนองคายจะเป็นสมุทรสงคราม (ที่ไม่มีโรงงาน) ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ถนนคนเดินที่นี่ขาดอย่างเดียว คือขาดCreative Productแบบเชียงใหม่

หนองบัวอีกแห่งที่ผมจะแนะนำก็คือ วังบัวแดง (บางคนเรียกวังบัวชมพู) ที่เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย ทางไปท่าบ่อนั่นแหละครับ เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้จักบึงบัวนี้ เพราะสื่อประชาสัมพันธ์น้อย

เวียงคุกนี่เคยเป็นเมืองคู่กับเวียงจันทน์มาแต่ในอดีตนะครับ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็น ใครไปเที่ยววังบัวชมพูแห่งนี้แล้วก็ไปศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์ของที่นี่ได้ คนแถบนี้นับถือคาทอลิกครับ คาทอลิกบางคนของเวียงคุกถูกยกย่องให้เป็นนักบุญด้วย เพราะปฏิเสธการเปลี่ยนศาสนาในช่วงสงครามไทย-ฝรั่งเศส

บึงบัวชมพูที่ว่านี้เนื้อที่ไม่มากเท่ากับบึงหนองหานหรือบึงบอระเพ็ดนะครับ เรียกได้ว่าเล็กกว่าหลายเท่าทีเดียว แต่ที่นี่มีดอกบัวที่ใหญ่กว่าทั้งสองที่มาก ที่ใหญ่กว่าไม่ใช่เรื่องดินอุดมสมบูรณ์อะไรหรอกครับ แต่เพราะเป็นดอกบัวรุ่นแรก เพราะหลังจากนั้นดอกบัวก็จะเล็กลงเท่าๆ กัน เรื่องนี้อาจจะอธิบายยากสักหน่อย ขออนุญาตเทียบกับสับปะรดก็แล้วกัน สับปะรดที่ออกมารุ่นแรกๆ จะใหญ่และหวานเมื่อเทียบกับสับปะรดที่ตัดครั้งหลังๆ ดอกบัวก็เช่นกัน กอหนึ่งมีหลายเจเนอเรชัน เจเนอเรชันแรกจะดอกใหญ่ ต่อๆ มาก็จะเล็กลง ที่บึงบอระเพ็ดและบึงหนองหานดอกเล็กก็เพราะเป็นเจเนอเรชันหลังๆ นั่นแหละ

ที่นี่ไม่ใช้เรือหางยาวไปดูบัวแดง (ความจริงสีชมพู) แบบหนองหานหรือที่บึงบอระเพ็ด แต่ใช้เรือของชาวบ้านพายไป เพราะมันอยู่ไม่ไกลนักจากที่ของชาวบ้าน ผมก็ว่าดีไปอย่างเพราะทำให้บัวไม่บอบช้ำจากหางและความแรงของเครื่องยนต์

ใครไปเที่ยวบึงบัวสีชมพูแล้วก็ไม่ต้องแปลกใจว่าบางครั้งดอกบัวที่เราเห็นก็อาจจะไม่ใช่สีชมพู แต่จะเป็นสีขาว ผมว่านั่นเป็นการผ่าเหล่าแบบเดียวกับลิงเผือก เสือเผือก กระรอกเผือก นกเผือก ฯลฯ

ผมเอารูปถ่ายบัวและนกมาให้ท่านผู้อ่านได้ชม เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้มีโอกาสไปกระจายรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเหมือนผมบ้าง

ปล.การไปถ่ายนกที่บึงบอระเพ็ดจำเป็นต้องใช้เลนส์ยาวๆไ ม่ต่ำกว่า 300 มม. เลนส์ที่ต่ำกว่านั้นถ่ายนกยากครับ และถ้าจะไปถ่ายนกก็ต้องไปเช้าๆ นะครับ เพราะนกหากินตอนเช้า แต่ถ้าจะถ่ายดอกบัวก็ไปสายๆ ได้ เพราะบัวจะสะท้อนสีได้ดีในช่วงพระอาทิตย์ทแยงไม่เกิน 45 องศา หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ถ้าอยากจะถ่ายภาพกว้างๆ ก็ให้ยืนถ่าย แต่ถ้าอยากจะให้เห็นบัวมากๆ ก็ให้พาดเลนส์กับขอบเรือ และถ้าจะให้บัวเด่นขึ้นมาแบบหน้าเบลอหลังเบลอก็ใช้เลนส์ความยาวโฟกัสสูงๆ ใช้รูรับแสงกว้างๆ เข้าไว้ และถ้าจะให้บัวเด่นแบบที่ผมเอามาลงปกนี่ก็ใช้เลนส์ไวด์แองเกิล แล้วเปิดรูรับแสงให้แคบๆ เพื่อภาพจะได้ชัดลึกๆ มุมกดลงก็ดีเหมือนกันนะครับ