posttoday

ครูอู๋ เปรมจิตต์...การเต้นไม่ใช่แค่การเต้น การเต้นคือชีวิต

23 มิถุนายน 2556

ยุคสมัยนี้เรื่องเต้นเห็นจะเป็นเรื่องที่ “ใครๆ ก็เต้นได้” เพราะเรามีสื่อโซเชียลมีเดียเยอะแยะมากมาย ที่ทำให้เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ฝึกเต้นตามได้ที่บ้าน

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ยุคสมัยนี้เรื่องเต้นเห็นจะเป็นเรื่องที่ “ใครๆ ก็เต้นได้” เพราะเรามีสื่อโซเชียลมีเดียเยอะแยะมากมาย ที่ทำให้เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ฝึกเต้นตามได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเสียสตางค์ออกไปเรียนเต้นที่ไหนเลย

“การที่เด็กๆ ฝึกเต้นจากยูทูบที่บ้านได้เลยนั้น ครูอู๋เห็นด้วยและก็สนับสนุนนะคะ เพราะถ้าเด็กอยากเต้นก็เต้นได้เลย หรือถ้าจะฝึกเต้นตามเพื่อนก็เต้นได้นะ การเต้นไม่ได้มีกรอบจำกัด แต่ถ้าอยากมีทักษะที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีเทคนิคการเต้นที่สูงขึ้น แวะมาเรียนกับครูอู๋ที่ ดีแดนซ์ ทรูป ได้นะคะ (หัวเราะ)”

“ครูอู๋เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี” นักออกแบบท่าเต้น และเป็นเจ้าของโรงเรียนดีแดนซ์ ทรูป ที่มีอยู่ 3 สาขา คือ แกรมมี่ อาร์ซีเอ และสยาม รวมทั้งบทบาทล่าสุดจากการเป็นครูสอนเต้นในรายการสุดฮิต ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ฤดูกาลที่ 10

“ครูอู๋เฝ้ามองรายการเอเอฟมาตั้งแต่ฤดูกาลที่ 1 แล้วคิดว่าทำไมไม่เป็นเรานะที่ได้เข้าไปสอนเด็กๆ ในบ้าน แต่พระเจ้าคงปล่อยให้เรารอคอยที่จะได้ทำในวันนี้ ปล่อยให้เราเฝ้ามองการเดินทางของรายการเอเอฟจนมาถึงฤดูกาลที่ 10 เขาโทรมาหาครูอู๋ เพราะอยากได้เราไปเป็นครูสอน อีกทั้งครบรอบ 10 ปีแล้วอยากเจอสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือเรา ครูอู๋เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำ พอไปเจอผู้บริหาร ยิ่งมั่นใจว่าเขาตั้งใจเลือกเราจริงๆ ซึ่งครูอู๋จะไม่ทำให้ใครผิดหวังแน่นอน”

จากเด็กผู้หญิงที่ชอบการแสดงมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนให้ร้องรำทำเพลง จวบจนได้ร่ำเรียนด้านการเต้นบัลเลต์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้ไปเรียนอนุปริญญา หลักสูตรมิวสิคัล เธียเตอร์ ที่รอยัล อะคาเดมี ออฟ แดนซ์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

“จากที่ครูอู๋เคยเรียนบัลเลต์ เรียนแจ๊ซ เรียนการเต้นต่างๆ และก็เรียนประวัติศาสตร์การเต้น จนมีโอกาสได้เรียนร้องเพลง เรียนแอ็กติง ไปจนถึงเรียนแท็บแดนซ์ คอนเทมโพรารี ฮิปฮอป มันคือการเปิดโลกทัศน์อีกช่วงหนึ่งของชีวิตที่อังกฤษ”

ครอู๋เผยว่า เธอโชคดีที่มีโอกาสได้ร่วมเล่นมิวสิคัลเรื่องแฮร์ เป็นโปรดักชันของโรงเรียน เล่นที่รอยัลตี้ เธียเตอร์ “นั่นเป็นความประทับใจที่ดีอีกชิ้นหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ไปออดิชันเรื่องมิส ไซง่อน กับแคท เขามาออดิชันที่โรงเรียน เรื่องแคทนี่ผ่านการเต้นแต่ตกร้อง แต่มิส ไซง่อน เราเทียบมาตรฐานเขาไม่ติด ก็เลยออดิชันไม่ผ่าน (หัวเราะ)”

หากบอกเล่าสิ่งที่ได้รับจากการไปเรียนที่ลอนดอน ครูอู๋เผยว่า ที่นั่นให้อะไรกับครูอู๋มาก ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้สายเทคนิคที่นำไปต่อยอดการเต้นสายสตรีต

“พอกลับมาที่กรุงเทพฯ ก็มาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ แล้วครูอู๋ก็ได้มีโอกาสทำงานออกแบบท่าเต้นให้นัท มีเรีย ในอัลบั้มชุดแรก งานซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และได้มีโอกาสสร้างกลุ่มเต้นขึ้นมาเป็นดีแดนซ์ ทรูป จนมาถึงปัจจุบัน”

ใครหลายคนอาจเข้าใจว่าครูอู๋คงเป็นพนักงานของแกรมมี่ แต่ความจริงแล้วเธอคือฟรีแลนซ์ประจำต่างหาก การเป็นฟรีแลนซ์ทำให้ครูอู๋มีโอกาสได้เปิดโรงเรียนสอนเต้นขึ้นมา “ถ้าถามว่ามีลูกศิษย์ลูกหาคนไหนที่เราประทับใจบ้าง ต้องคนนี้เลย ชิน ชินวุฒิ เขาประสบความสำเร็จและเขาพูดถึงเรา ยกให้เราเป็นแม่คนที่สอง ฮั่น เดอะสตาร์ เขาก็ไปได้สวย น้องเมทัล ที่อยู่ค่ายของโดมปกรณ์ ลัม ก็เก่ง น้องธามไท ก็เก่ง และยังมีอีกหลายคนค่ะ ซึ่งทุกคนผ่านการฝึกฝนมาอย่างเคี่ยวกรำ และเขาเต้นแบบไม่ใช่แค่เต้น แต่เขาเต้นเพราะมันคือชีวิตของเขา ซึ่งนี่คือสิ่งที่ครูอู๋เป็นและได้ถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ลูกหามาทุกรุ่น”

หากถามว่าเคล็ดลับความสำเร็จของครูอู๋อยู่ที่ตรงไหน อาจจะไม่ได้อยู่ที่เต้นเก่งหรือสอนเก่ง แต่มันอยู่ที่วิธีคิด

“วิธีคิดของครูอู๋คือ ทุกงานที่ครูอู๋ทำ ครูอู๋ทำด้วยความสุข ทำงานด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคนิค และจิตวิทยาในการสื่อสารและควบคุมคน อย่างเราเป็นเจ้าของโรงเรียน ครูอู๋ก็พยายามถ่ายทอดปรัชญาโรงเรียนที่ว่า โน แพรคทิส โน สกิล ไม่ฝึกซ้อม ก็ไม่มีทักษะ อย่างคนที่เข้ามาเรียนเพราะอยากเป็นแบบครูอู๋ ครูอู๋ก็จะบอกเขาว่า ไม่มีใครเป็นอู๋คนที่สอง คนที่สามได้ ทุกคนจงเปรียบเทียบเพื่อสร้างสรรค์ แต่อย่าเปรียบเทียบเพื่อกดดัน ก่อนชื่นชมคนอื่น ต้องชื่นชมตัวเอง และยอมรับคนอื่นให้เป็น ครูอู๋คิดอยู่เสมอว่า ที่นี่ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนเต้น แต่การเต้นคือชีวิต การเต้นสอนอะไรเราหลายๆ อย่าง สอนให้เรากล้าหาญลุกขึ้นไปยืนข้างหน้า ในขณะที่ยังเต้นท่าไม่ได้ สอนให้เรากลมกลืนกับคนอื่น ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักกัน สอนให้เราเป็นผู้ตาม และสอนให้เราเป็นผู้ให้ รวมทั้งสอนให้เราเป็นผู้พ่ายแพ้ หากเรายังทำไม่สำเร็จ”

ครูอู๋เผยจากใจจริงว่า ยิ่งอยู่ยิ่งตระหนักถึงคำว่าเต้น เต้นที่เป็นชีวิต ไม่ใช่แค่เต้นตามสเต็ป “ครูอู๋อยากให้คนเข้าใจชีวิตและพบเจอความสุขอย่างแท้จริงผ่านการเต้น ซึ่งเคล็ดลับการเต้นนอกจากเรายอมรับตัวเอง พ่อแม่ต้องยอมรับด้วย เพราะหากพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่เราทำ พ่อแม่จะมีส่วนช่วยให้เราเกิดความภาคภูมิใจในการเต้น แล้วการเต้นก็จะส่งผ่านมาเป็นความสุขให้กับคนอื่นๆ ที่เฝ้าชมดูการเต้นของเรา”

ก่อนจะไปเรียนที่อังกฤษ ตอนเรียนชั้นต้น 1 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ (เทียบได้กับชั้น ม.1) ครูอู๋ได้มีโอกาสไปออดิชันคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ตอน จะบินไปให้ไกลสุดขอบฟ้า โดยมีรุ่นพี่แนะนำให้ไปออดิชัน ซึ่งคงเป็นดวงที่จะได้เต้นคู่กับพี่เบิร์ด ธงไชย ครูอู๋จึงได้เตะตาพี่เบิร์ด และคุณเล็กบุษบา ดาวเรือง ทำให้ครูอู๋ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนักเต้นของคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดในครั้งนั้น