posttoday

‘ปูปรุง’ ชีวิตที่ยิ้มหัวเราะร้องไห้อยู่ใต้เมฆ

01 กรกฎาคม 2556

หากเอ่ยชื่อ “ปริยกร วิศาลโภคะ” ใครหลายคนอาจส่ายหน้าบอกไม่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อ “ปูปรุง”

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

หากเอ่ยชื่อ “ปริยกร วิศาลโภคะ” ใครหลายคนอาจส่ายหน้าบอกไม่รู้จัก แต่หากเอ่ยชื่อ “ปูปรุง” เจ้าของผลงานเขียนบทความเพื่อพัฒนาตนเองประจำสำนักพิมพ์ใยไหม ซึ่งมีผลงานเขียนติดอันดับขายดี แถมพิมพ์ซ้ำถึง 12 ครั้ง อย่าง “โลกสวยงามขึ้น เมื่อเดินช้าลง” ผู้อ่านที่ชื่นชอบงานเขียนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิด น่าจะรู้จักเธอผู้นี้ไม่มากก็น้อย

วันนี้ เธอผู้นี้มีผลงานเขียนเล่มใหม่ล่าสุด เป็นผลงานเขียนที่เธอนิยามไว้ว่าเป็น “ความเรียงจุดประกาย ไม่ให้ใจสุขหรือเศร้า...จนเกินพอดี” หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ อยู่ใต้เมฆ” เราจะมาทำความรู้จักเธอผู้นี้ พร้อมทั้งสัมผัสมุมมองความคิดของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตราบและเรียบ แต่มีอะไรๆ มากกว่าที่คุณคิดอย่างแน่นอน

“กับหนังสือเล่มนี้ ดิฉันได้รับแรงบันดาลใจจากการชอบสังเกตชีวิตทั้งของตัวเอง คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ณ ขณะนั้น เป็นความเรียงกึ่งบันทึก ซึ่งมีความหลากหลายแง่มุมในการใช้ชีวิตทั่วไปค่ะ”

ปูปรุงเผยถึงที่มา ซึ่งเธอมีความมุ่งหวังว่า เธอมีความปรารถนาอยากให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญชีวิตของตัวเอง

“สิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่งชีวิต ไม่ว่ามันจะเคยทำให้เราได้ยิ้ม ได้หัวเราะ หรือแม้บางครั้งต้องเสียน้ำตาไปกับมัน แต่เมื่อพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนเป็นเรื่องชั่วคราว และมันก็หมุนวนอยู่อย่างนี้ตราบเท่าที่เรายังใช้ชีวิตอยู่ สิ่งที่เราควรทำคือ เลือกที่จะวางจิตใจของตัวเองในจุดที่พอเหมาะพอดีมากขึ้น เมื่อเรียนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็ควรที่จะยึดจับและปล่อยวางสิ่งต่างๆ อย่างที่ไม่ทำร้ายตัวเองมากจนเกินไป”

ใครหลายคนอาจเกิดคำถามว่า ส่วนใหญ่แล้ว นักเขียนใช้เวลาเขียนเท่าไร เวลาเกิดปัญหาหรืออุปสรรค มีวิธีแก้ไขจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีอย่างไรบ้าง ปูปรุงยิ้มเบาๆ ก่อนตอบ

“ถ้าถามดิฉันว่าใช้เวลาเขียนนานเท่าใด การเขียนของดิฉันเป็นไปในเชิงสะสมมากกว่าค่ะ คือแต่ละประเด็นที่นำมาเขียนจะเป็นลักษณะเก็บตก เก็บเล็กผสมน้อย แล้วค่อยมาเรียบเรียงให้สละสลวยขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเป็นต้นฉบับ รวมๆ แล้วถ้าไม่นับช่วงเวลาที่สะสมประเด็น ก็จะใช้เวลาประมาณ 12 เดือนค่ะ ส่วนปัญหาหรืออุปสรรคก็น่าจะอยู่ที่การเลือกคัดสรรประเด็นมานำเสนอให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมไปกับเราได้ อย่างบางเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมากเกินไป เราก็จะหลีกเลี่ยง และนำเสนอประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่เป็นวงกว้างมากกว่า”

ภายในเล่มมีความเรียงอยู่ราวๆ 47 บท แต่มีอยู่บทหนึ่งซึ่งปูปรุงเขียนขึ้นในวันที่บังเอิญเหลือบไปมองเห็นกิ้งกือตัวหนึ่งกำลังข้ามถนนที่หน้ารั้วบ้านพอดี และสุดท้ายกิ้งกือตัวนั้นก็ต้องจบชีวิตไม่ไกลจากจุดที่มันเริ่มต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความยาวลำตัวของกิ้งกือกับความกว้างของถนนที่มันกำลังจะข้ามแล้ว จะพบว่ามันคือการเดินทางที่แสนยาวนาน ที่สำคัญเป็นการเดินทางที่เรียกว่า “เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย” เสียด้วย

“บทนี้มีชื่อว่า ‘กิ้งกือข้ามถนน’ เมื่อเขียนเสร็จแล้วทำให้ดิฉันได้วกกลับมาดูที่ตัวเราเอง และพบว่ามนุษย์นั้นโชคดีที่ต่างจากกิ้งกือ เพราะโลกได้มอบสิ่งสำคัญบางอย่างให้กับเราไว้ ซึ่งสิ่งนั้นคือ การหยุดคิดทบทวน การยับยั้งชั่งใจ เมื่อรู้ว่าเสี่ยง เราก็จะไม่ไป หรือไม่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็มีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดและหลบภัย และคุณสมบัติพิเศษที่สำคัญที่สุดของมนุษย์อันนี้เองค่ะ ที่ช่วยให้ทุกคนได้เดินทางอย่างปลอดภัยบนถนนชีวิต ท่ามกลางแดด ฝน ลมและพายุได้”

ก่อนจากกัน ปูปรุงได้ฝากข้อคิดสำคัญในฐานะนักเขียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจไว้ว่า คนในยุคสมัยนี้มีชีวิตที่เหนื่อยและเครียดมากกว่าเดิม เพราะโลกทุนนิยมได้ส่งเสริมค่านิยมว่าทุกคนไม่ควรหยุดนิ่ง ต้องวิ่งให้เร็วและให้ทัน เราต้องใช้ชีวิตโดยระแวงว่า “จะช้าไปมั้ย” ตลอดเวลา คนที่มีความมั่นคงและแข็งแรงทางจิตใจเพียงพอเท่านั้นถึงจะรักษาจุดสมดุลในตัวเองได้ แต่ก็มีคนอีกมากมายที่ยังไม่แน่ใจว่าจุดที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร เพราะวิถีชีวิตในปัจจุบันไม่ค่อยเอื้อให้เราได้มีเวลาทบทวนอะไรได้ละเอียดและนานเพียงพอเท่าที่จะค้นพบตัวเองได้

“สำหรับคนที่ไม่ชอบเดินเร็วจนเกินไปนัก น่าจะชอบหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยากค่ะ เนื้อหาอ่านง่าย สบายๆ แต่แฝงแง่คิดเพื่อการใช้ชีวิตที่อาจทำให้เรามีความสุขหรือเข้าใจชีวิตมากขึ้น มองโลกสวยงามตามความเป็นจริงมากขึ้นค่ะ”

ปูปรุง : จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ เอกโฆษณา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาชีพหลักมีสองส่วน คือ งานด้านเสื้อผ้า&แฟชั่น กับงานเขียนหนังสือและบรรณาธิการ สำหรับเส้นทางการเขียน เริ่มต้นเมื่อเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง เป็นงานขีดเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกเป็นลักษณะกลอนเปล่า มีผลงานออกมาสม่ำเสมอและเป็นที่รู้จักในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวและพักจากการเขียนหนังสือไปทำงานประจำตามที่ได้ร่ำเรียนมา จนกระทั่งปี 2546 ผู้บริหารสำนักพิมพ์ใยไหมซึ่งรู้จักปูปรุงจากหนังสือกลอนเล่มเก่าๆ ได้ชวนให้ลองกลับมาเขียนอีกครั้ง และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นงานเขียนบทความเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้

นิยามความของคำว่า Life กับ Live ของปูปรุง : Life คือ วิชาหนึ่งที่ทุกคนถูกบังคับว่าต้องเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เพื่อเข้าใจ และเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ส่วน Live คือ การเรียนรู้ การทำแบบฝึกหัด การทดลอง การทดสอบ ทั้งสอบได้ สอบตก และสอบซ่อม ในวิชานี้

คติประจำใจของปูปรุง : เมื่อเรามีจิตใจดี เราก็จะมองเห็นความดีในตัวคนอื่นได้เสมอ เป็นคำพูดที่ตรึงใจล่าสุดของท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก และรู้สึกชอบจนนำมายึดถือเป็นคติในการดำรงชีวิตทุกวันนี้ เพราะเชื่อว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้นได้ และสังคมก็น่าจะร่มรื่นใจขึ้นด้วยเช่นกัน

ไลฟ์สไตล์ของปูปรุง : เป็นคนเรียบง่าย ถ้าว่างจากงานประจำ ชอบหาที่อ่านหนังสือ ส่วนมากจะชอบไปที่พุทธมณฑล เพราะเป็นคนชอบอยู่กับธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งมากจนเกินไป บางครั้งก็ไปนั่งห้องสมุดบ้าง มีดูหนังบ้างนานๆ ครั้ง