ยลตึก เยือนสวน ถิ่นสิงโต
สิงคโปร์เป็นชาติไม่มีทรัพยากร จำเป็นต้องนำเข้าน้ำประปาน้ำดื่มจากมาเลเซีย ผักผลไม้จากไทย และเนื้อสัตว์จากออสเตรเลีย
โดย...กาญจน์ อายุ
สิงคโปร์เป็นชาติไม่มีทรัพยากร จำเป็นต้องนำเข้าน้ำประปาน้ำดื่มจากมาเลเซีย ผักผลไม้จากไทย และเนื้อสัตว์จากออสเตรเลีย แต่ถึงแม้จะขาดทรัพยากร จะขาดแคลนพื้นที่ สิงคโปร์ก็สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ได้
ปัจจัยหนุนข้อหนึ่งที่น่าเอาเยี่ยงอย่างคือ ระบบการศึกษา ตั้งแต่สมัย ลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรี คนสิงคโปร์ทุกคนได้เรียนฟรีในโรงเรียนรัฐ ตั้งแต่ประถม มัธยม คอลเลจ (College) จนถึงมหาวิทยาลัยก็เกือบฟรี เด็กสิงคโปร์จึงมีการศึกษา เมื่อมีการศึกษาแล้วก็มีงานทำ ซึ่งงานที่ทำไม่ใช่แรงงานเสียด้วย
ใครที่เคยไปสิงคโปร์จะเห็นว่าคนงานตามไซต์ก่อสร้างเป็นคนอินเดียหรือไม่ก็จีน คนเหล่านี้เป็นคนใช้แรงงานที่สิงคโปร์ยอมให้สัญชาติ เพราะประเทศนี้ไม่เคยหยุดสร้าง แรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทุกหัวมุมถนนจะมีงานสร้างงานซ่อมอะไรสักอย่างอยู่ตลอด แม้จะไม่มีที่ให้สร้างแล้วก็ยังถมทะเลออกไปอีก ช่างเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่เคยหยุดพัฒนา
เรื่อง “อนุรักษ์” ก็เช่นกัน
สถาปัตยกรรม
เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ประเทศสิงคโปร์ได้ออกกฎหมาย “ห้ามทุบตึกเก่า” เพราะถือว่าตึกเก่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แม้ว่าตึกนั้นจะเป็นแบบอังกฤษ (ชาติที่เคยปกครองสิงคโปร์) ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ทำให้สิงคโปร์มีวันนี้
หลายย่านในสิงคโปร์มีสถาปัตยกรรมเฉพาะ เช่น Chinatown, Clarke Quay (คลาก คี) Haji Lane, Bali Lane, Tiong Bahru (ชองบารู) Fort Canning และ Joo Chiat (จูเชียต) สถาปัตยกรรมเก่าแก่ได้ถูกอนุรักษ์ไว้ แต่สามารถดัดแปลงเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม โดยภายนอกห้ามเปลี่ยนแต่ภายในเปลี่ยนได้
Chinatown ย่านอยู่อาศัยของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นสถานประกอบการทั้งหมดแล้ว มีทั้งโรงแรมบูติก ร้านอาหาร บาร์ และร้านค้าของเหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ประกอบด้วยถนนสามสายเชื่อมกัน ได้แก่ Erskine Road, Ann Siang Road และ Club Street ความฮิบของย่านนี้ทำให้คนสิงคโปร์เรียกขานใหม่ว่า Designer Hill
นอกจากนี้ ย่านใกล้เคียงยังมีถนนสาย Duxton สถาปัตยกรรมเก่าแก่ถูกฉาบด้วยสีใหม่ตามกฎหมายที่ต้องทาสีทุก 5 ปี ตึกย่านนี้ถูกเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟที่ผุดขึ้นรวดเร็วอย่างดอกเห็ดหน้าฝน และช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินแสงสีจากร้านอาหารและบาร์จะจรัสแสงพร้อมเสียงเพลงเบาๆ เคล้าไปกับความขมในลำคอ
Clarke Quay อดีตท่าเทียบเรือศูนย์กลางการค้าในศตวรรษที่ 19 โกดังเก็บสินค้าเก่าแต่งแต้มด้วยสีลูกกวาด เปลี่ยนเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนของวัยรุ่น มีทั้งร้านอาหาร คลับ บาร์ อื้ออึงไปด้วยเสียงดนตรีโวกเวกผู้คนวุ่นวาย แต่ถ้าใครไม่อยากนั่งในร้านสามารถไปรวมตัวกับคนคอเดียวกันได้บนสะพานข้ามแม่น้ำ ขอบสะพานซ้ายขวาเบียดเสียดไปด้วยชายหญิงวัยรุ่นที่ซื้อเครื่องดื่มมาจากร้านสะดวกซื้อและมานั่งกินบรรยากาศที่คลากคีแห่งนี้
Haji Lane และ Bali Lane ตึกเก่าสมัยก่อนสงครามบนถนนสองสายที่ขนานกัน ฮาจิ เลน และบาหลี เลน เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนมุสลิม ซึ่งปัจจุบันไม่มีผู้อาศัยแล้ว ทุกตึกเปลี่ยนเป็นร้านค้าแนวสตรีทแฟชั่น หรือที่คนไทยเรียกว่าแนวอินดี้ สีสันตึกจัดจ้าน โดดเด่นด้วยผ่านกราฟฟิตี้บนผนังดึงดูดให้คนชอบถ่ายและคนชอบถูกถ่ายมาใช้เป็นแบ็กกราวด์
Tiong Bahru ย่านการเคหะรุ่นแรกๆ ของสิงคโปร์ก่อนที่การเคหะจะเปลี่ยนเป็นตึกสูง ปัจจุบันยังมีคนอาศัยอยู่ ตัวตึกไม่ได้ถูกทาสีใหม่จึงดูทรุดโทรม แต่บางตึกได้เปลี่ยนห้องชั้นล่างเป็นร้านค้า ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ถือเป็นอีกย่านที่เด็กแนวสิงคโปร์ชอบมารวมตัว
Fort Canning ย่าน Bukit Larangan สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นที่พำนักของ Keramat Iskandar Shah กษัตริย์มาเลเซียองค์สุดท้าย ภายในบริเวณมีโลงศพของท่านให้ระลึกถึง และยังเคยเป็นที่พำนักของเซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ชาวอังกฤษที่ค้นพบเกาะสิงคโปร์ ภายในมีตึกสีขาวสไตล์อังกฤษ อดีตตึกกองบัญชาการกองทัพอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น Art Gallery แล้ว
บริเวณโดยรอบเป็นสวนพฤกษศาสตร์อายุกว่า 150 ปี เต็มไปด้วยพืชสมุนไพรที่เซอร์ ราฟเฟิลส์ เคยปลูกไว้ ปัจจุบันเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาพักผ่อน ซึ่งหากมาในวันหยุดจะพบคนต่างด้าว เป็นชาวพม่าบ้าง ชาวฟิลิปปินส์บ้าง มาพึ่งพิงร่มไม้ปูเสื่อปิกนิกกันอย่างสนุกสนาน
Joo Chiat สถาปัตยกรรมของชาวเปอรานากัน (Peranakan ลูกผสมระหว่างชาวมาเลเซียกับชาวจีน) กระจุกตัวอยู่ที่นี่ รูปแบบตึกคลับคล้ายย่านไชน่าทาวน์ของสิงคโปร์ และคลับคลาย่านเมืองเก่า จ.ภูเก็ต ของไทย แต่แตกต่างกันที่รายละเอียดเล็กๆ ตรงลายกระเบื้อง ลวดลายบนตึกของชาวเปอรานากันมักมีลายดอกไม้ที่ทำจากเศษกระเบื้อง สังเกตเห็นได้เกือบทุกตึกหรือตามเสาบ้านก็มีบ้าง ปัจจุบันจูเชียตมีทั้งสถานประกอบการและบ้านพักอาศัย ส่วนที่เป็นตึกแถวจะเปิดร้านค้า ร้านอาหาร ส่วนที่เป็นบ้านเดี่ยวจะเป็นที่พักของคนรวย ราคาบ้านเดี่ยวสิงคโปร์แพงหูฉี่ สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทไทย
บางคนชื่นชมในการประยุกต์ความเก่าและใหม่ แต่บางคนเห็นต่างออกไปกับการนำสถาปัตยกรรมอันมีคุณค่ามาทำเป็นแหล่งบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าแนวๆ แทนที่จะอนุรักษ์ตึกไว้ให้สมคุณค่าหรือเปิดร้านที่สอดคล้องกับความงาม
“สิงคโปร์นิยมอนุรักษ์ แต่ไม่อนุรักษนิยม”
เมื่อการเปิดสถานประกอบการหลากหลายประเภทสร้างรายได้ให้คนสิงคโปร์และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ มันเรียกว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตึกเก่าที่นับวันจะยิ่งซอมซ่อลงเรื่อยๆ เมื่อตึกจำเป็นต้องอยู่ คนก็ต้องอยู่ได้ด้วย
พื้นที่สีเขียว
นอกจากเรื่องตึกรามบ้านช่อง สิงคโปร์ยังเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติตัวยง ต้นจามจุรีขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสองข้างทางถนน เกาะกลางถนนเขียวชอุ่ม และสามารถเดินหาสวนสาธารณะได้ง่ายพอๆ กับหาเซเว่นฯ
แม้สิงคโปร์จะมีขนาดประมาณ 700 ตร.กม. แต่ไม่คิดใช้พื้นที่ทุกอณูเพื่อการค้า แถมยังส่งเสริมให้คนเข้าหาธรรมชาติด้วยการดูแลสวนสาธารณะเป็นอย่างดี ทำทางเดิน วางเก้าอี้ และติดตั้งเสาไฟ
พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Southern Ridges เป็นปอดและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีพื้นที่ประมาณ 160 เฮกเตอร์ ประกอบด้วยสวน 5 แห่งที่เชื่อมต่อกัน มีทางเดินเชื่อมกันยาว 9 กม. เรียกได้ว่าเป็นทางเดินป่าระยะไกลท่ามกลางป่าคอนกรีต แต่ถ้าหากเริ่มต้นด้วยระยะสั้นขอแนะนำเส้นทาง 3 สวน จาก Mount Faber Park ผ่าน Telok Blangah Hill Park และไปสิ้นสุดที่ Hort Park
Mount Faber Park เป็นที่ตั้งของสะพานคนเดินที่สูงที่สุดในสิงคโปร์ชื่อ Henderson Waves สะพานทรงลอนคลื่นถูกออกแบบอย่างดี ในยามค่ำคืนมีการเล่นไฟสวยงาม พาดผ่านถนนเชื่อมต่อไปยัง Telok Blangah Hill Park สวนนี้มีทางเดินให้วิ่ง คนนิยมมาวิ่งออกกำลังกายเพราะเส้นทางมีทั้งทางราบทางชันบริหารน่องได้ดี จากนั้นเชื่อมต่อไปยังสวนที่สาม Hort Park เส้นทางเดินต้องผ่านสะพานเหล็กที่สูงราวยอดไม้ที่เรียกว่า Forest Walk ถูกสร้างเป็นสะพานเหล็กถาวร มั่นคง เห็นวิวป่าที่ขนานไปกับวิวเมือง บ่อยครั้งที่โรงเรียนจะพานักเรียนมาทัศนศึกษาชมความหลากหลายทางธรรมชาติ และเมื่อผ่าน Forest Walk ไปจะเข้าเขต Hort Park สวนสาธารณะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านงานสวนและความคิดสร้างสรรค์
แต่ละสวนที่กล่าวมา พวกมันเป็นมากกว่าสวนสาธารณะ สิงคโปร์ได้สร้างจุดขายให้แต่ละสวนเพื่อดึงดูดให้คนเข้าหาธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเบื่อ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนสิงคโปร์หวงแหนและไขว่คว้าหาธรรมชาติ แม้จะอาศัยอยู่บนตึกแต่ก็ยังไม่แคล้วปลูกพืชกระถาง ซึ่งเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่หาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต
สถาปัตยกรรมเก่าแก่และพื้นที่สีเขียวเป็นอีกภาพของประเทศสิงคโปร์ที่คนไทยไม่ค่อยได้เห็น แต่บางคนอาจเห็นเบื่อแล้วที่ประเทศไทย แล้วเคยเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมเราถึงไม่อยากเดินผ่านบ้านเก่าๆ หรือทำไมไม่อยากไปเที่ยวสวนสาธารณะ และอาจมีบ้างที่กำลังคิดว่า ทำไมแทบไม่เห็นตึกเก่าหรือต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เลย นั่นก็เพราะตึกเก่าถูกทุบเพื่อสร้างใหม่ และต้นไม้ถูกตัดแล้วสร้างทับ เรื่องที่ถูกมองว่าเป็นปกติไปแล้วนั่นเอง
แนวทางอนุรักษ์ของสิงคโปร์ไม่สักแต่อนุรักษ์ให้มันมีอยู่ แต่ยังหาหนทางว่ามันจะมีประโยชน์ต่อคนที่มีชีวิตอยู่ขณะนั้นอย่างไร หรือนี่จะเป็นวิถีของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือไทยต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนถึงจะรู้ว่าควรทำเช่นไร
ติดตามความเคลื่อนไหวการท่องเที่ยวสิงคโปร์ได้ที่ www.yoursingapore.com