posttoday

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

26 พฤศจิกายน 2556

เคยรู้กันไหมชาวไทย ว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทเพลงอันทรงคุณค่าที่ปวงประชาร่วมร้องถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย...วรธารที ภาพ มูลนิธิร่วมร้อยใจไทย

เคยรู้กันไหมชาวไทย ว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี” บทเพลงอันทรงคุณค่าที่ปวงประชาร่วมร้องถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกวโรกาสสำคัญบัดนี้นั้นมีอายุครบ 100 ปีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา

ไม่ผิดหรอก...ถ้าคุณไม่รู้ แต่ต่อไปเชื่อว่าคนไทยทุกคนจะต้องรู้จักบทเพลงสรรเสริญพระบารมีมากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้มีหน่วยงานและบุคคลที่มีหัวใจแห่งความจงรักภักดีเห็นความสำคัญลุกขึ้นมาจัดโครงการ “สรรเสริญพระบารมี 100 ปี ร่วมร้อยใจไทย” ขึ้นเพื่อเชิดชูและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา

โดยเป็นความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รอยัล พารากอน ฮอลล์ และมูลนิธิร่วมร้อยใจไทย โดยเฉพาะมูลนิธิร่วมร้อยใจไทยที่เป็นต้นคิดโครงการ โดยมีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่พาร์ค พารากอน

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

เตชะ ทับทอง ผู้ช่วยประธานมูลนิธิร่วมร้อยใจไทย เล่าถึงการจัดโครงการว่า มูลนิธิซึ่งมีเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อส่งเสริมสถาบันอยู่แล้ว เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่เพลงสรรเสริญพระบารมีอายุครบ 100 ปี จึงได้รวมกลุ่มคนในภาคสังคมและในส่วนของพารากอนที่เป็นพาร์ตเนอร์มืออาชีพมาจับมือทำโปรเจกต์นี้ โดยมูลนิธิเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและประสานงาน ซึ่งได้คิดกิจกรรมหลักเพื่อตอบโจทย์โครงการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกในความจงรักภักดีต่อสถาบันให้กับเยาวชนและคนไทย

“ประกอบด้วยการผลิตภาพยนตร์สรรเสริญพระบารมี การแสดงผลงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเพลงสรรเสริญฯ การประกวดหนังสั้นของเยาวชน การเขียนเรียงความ และการขับร้องประสานเสียงเพลงสรรเสริญฯ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ปิดรับสมัครแล้ว คงเหลือประกวดหนังสั้นที่ขยายเวลาถึงวันที่ 4 ธ.ค. โดยทั้งหมดจะตัดสินในวันที่ 11 ธ.ค. ที่พารากอน”

การผลิตภาพยนตร์สรรเสริญพระบารมีเฉลิมพระเกียรติ ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของโครงการ และเป็นงานที่ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทุ่มเท เสียสละอย่างมาก และทุกคนที่มาช่วยล้วนมาด้วยใจ เพื่อเป็นตัวแทนคนไทยทำถวายแด่พ่อหลวงแห่งแผ่นดิน

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

ผู้ช่วยประธานมูลนิธิร่วมร้อยใจไทย เล่าว่า ในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มจากเราได้มุ่งเอาความขลังของ 100 ปีมาเป็นที่ตั้ง ซึ่งหมายความว่าต้องย้อนอดีต และด้วยที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนก็ถามเด็กว่าอิมเพ็กชั่นของพวกเขากับเพลงสรรเสริญพระบารมีเท่าที่จำความได้คืออะไร ซึ่งทุกคนแทบตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ยินจากโรงหนัง จากสถานีโทรทัศน์ปิดรายการ จากการดูหนังกลางแปลง ฯลฯ

“การผลิตภาพยนตร์นี้เราจึงใช้ธีมของหนังไทยโบราณเข้ามาซ้อนย้ำความรู้สึกกัน เอาความเป็นตำนานของตัวนักแสดงและหนังที่สร้างชื่อเสียงให้นักแสดงนั้นๆ เข้ามา และเป็นโชคดีที่พ่อเอก สรพงษ์ ชาตรี ซึ่งเราเชิญเป็นประธานด้วย ให้คำแนะนำหลายอย่าง เช่น อยากให้ภาพออกมาดีเหมือนหนังโฆษณาเอเยนซี อยากให้เสียงขลุ่ย เป็นต้น ขณะที่นักแสดงเราเลือกผู้ที่มีตัวตนชัดเจนในเรื่องความจงรักภักดีก่อน จากนั้นก็ดูว่านักแสดงนั้นๆ มีเรื่องไหนที่คนดูรู้จักในบทบาทของเรื่องที่เด่นชัด

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

“ในที่สุดก็ได้ดารามาร่วมแสดงและร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในหนังเรื่องนี้ จากภาพยนตร์ 10 เรื่อง มีพ่อเอก สรพงษ์ จากแผลเก่า พี่ปุ๊ก มนตรี เจนอักษร จากคนภูเขา พี่เปิ้ล จารุณี จากบ้านทรายทอง ป๊อบ สุเชาว์ พงษ์วิไล จากผีเสื้อและดอกไม้ นก สินจัย จากนวลฉวี ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และวาสนา สิทธิเวช จากครูบ้านนอก ท็อป บรรลือฤทธิ์ จากบางระจัน หนุ่ม อรรถพร กับแอน ทองประสม จากเดอะเลตเตอร์ พี่แหม่ม จินตหรา พี่หนุ่ม สันติสุข พี่ตุ๋ย อรุณ ภาวิไล พี่สมเกียรติ จากเรื่องบุญชู ท้ายสุดคือ เก้า จิรายุ จากเรื่อง SucKSeed”

เตชะ ให้ความเห็นที่โครงการเลือกเก้าว่า เพราะเราอยากได้ที่เป็นตัวเยาวชน และเราก็เห็นว่าเก้ามีภาพของความจงรักภักดี และที่สำคัญยังได้รับเกียรติจากหอภาพยนตร์ให้ประทับรอยมือรอยเท้า ซึ่งทางโครงการมองว่าเก้าเป็นตัวจริงทั้งในวงการหนังและในการแสดงออกถึงความจงรักภักดี

และเป็นที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย “กิ๊ด” จักรกฤษณ์ หวังพัฒนศิริกุล ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาเรื่องเอเยนซี ซึ่งหยุดงานที่ออสเตรเลียเพื่อมากำกับให้โดยเฉพาะ โดยมี เอ็ม สุรศักดิ์ วงษ์ไทย เป็นผู้ช่วย

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งเพิ่มมนต์เสน่ห์ขึ้นเมื่อได้ปรมาจารย์ขลุ่ยอย่าง “ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” มาถ่ายทอดเสียงขลุ่ยลงในแผ่นฟิล์ม ซึ่งหากใครได้ฟังแล้วเชื่อว่าจะทำให้ความเป็นไทยสง่าขึ้นมาอีกครั้ง

“ถือว่าเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญครั้งหนึ่งต่อชีวิตผม ครอบครัวผม ต่อลูกศิษย์ของผม และคนที่เคารพนับถือทั้งหมด ที่ได้ทำถวายพระองค์ท่าน ถือเป็นอีกชิ้นงานที่ภูมิใจมาก ในหลวงอยู่ในใจของผมตลอดเวลา เพราะทรงเป็นครูดนตรีของผม

คือผมประสบความสำเร็จมากมายถึงวันนี้ได้ เพราะด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ โดยเฉพาะบทเพลงแสงเทียนมีอิทธิพลต่อผมมาก ทั้งมีอิทธิพลต่อภาษาดนตรีโดยที่ไม่รู้ตัวเลย ครูคนแรกผมคือ ครูทองดำ สิ่งที่สุข และครั้งนี้ผมได้ทำถวายเป็นราชสักการะและตอบแทนครูของผม บอกได้เลยว่าทุกตัวโน้ตที่ผมครีเอตออกไปเพื่อพระองค์ท่านทุกตัวโน้ตด้วยหัวใจของผมเลย”

ด้านดารามากฝีมืออย่าง “สินจัย เปล่งพานิช” จากภาพยนตร์เรื่องนวลฉวี กล่าวว่า ซีนของเธอก็มาในชุดพยาบาลตามลุคเหมือนในเรื่องของนวลฉวี โดยถ่ายทำที่โรงถ่ายของดาราวิดีโอ ซึ่งในเรื่องได้ขับร้องท่อนแรก “ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน”

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

“ทันทีที่ได้รับการติดต่อจากโครงการ รู้สึกดีใจมาก และนกก็คิดเสมอว่าอะไรที่ทำถวายพระองค์ท่านได้ก็อยากทำด้วยความเต็มตื้นใจ”

ขณะที่ เก้า จิรายุ จาก SucKSeed เผยว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากพี่ๆ ให้เข้าร่วมไม่คิดเลย ตอบตกลงทันที ด้วยความซาบซึ้งใจจนไม่รู้จะอธิบายยังไง ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และภูมิใจที่ได้ทำถวายในหลวง

ภาพยนตร์สรรเสริญพระบารมีเฉลิมพระเกียรติเรื่องนี้ ถือเป็นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ส่วนจะออกมาแบบไหน คนไทยจะได้ชมและได้ฟังในเร็วๆ นี้ก่อนวันที่ 5 ธ.ค.แน่นอนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และโรงหนังทุกโรง

แล้ววันที่ 5 ธ.ค.นี้ บทเพลงอันทรงคุณค่านี้จะกระหึ่มทั่วประเทศไทย และกังวานอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ความเป็นมาเพลงสรรเสริญพระบารมี

เพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นมีหลายเวอร์ชั่นกว่าจะมาเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้ในปัจจุบัน โดยสมัยอยุธยาได้มีเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญฯ อยู่และใช้บรรเลงเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯ ลงขึ้นท้องพระโรง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการใช้เพลง God Save the Queen ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญฯ และเพลงชาติของอังกฤษบรรเลงถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ใช้ทำนองเพลงดังกล่าวแต่งคำร้องสรรเสริญฯ ถวาย โดยใช้ชื่อเพลงว่า “จอมราชจงเจริญ”

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี

 

จนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้คณะครูดนตรีไทยแต่งเพลงแตรวงรับเสด็จเพื่อใช้แทนเพลง God Save the Queen แล้วคณะครูได้เสนอเพลงบุหลันลอยเลื่อน หรือเพลงทรงพระสุบิน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ใช้เป็นเพลงสรรเสริญฯ เรียบเรียงทำนองใหม่โดยครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดาชื่อ เฮวุดเซน ได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญฯ ตั้งแต่ปี 24142431

ต่อมามีการเปลี่ยนมาใช้เพลงสรรเสริญฯ ฉบับผลงานของ ปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์รัสเซีย เมื่อปี 2431 แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องประกอบและได้ออกบรรเลงในปีเดียวกัน

สำหรับเนื้อร้องเพลงสรรเสริญฯ ฉบับปัจจุบัน เดิมเป็นเนื้อร้องที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้นิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทรงเปลี่ยนคำร้องในท่อนสุดท้ายว่า ฉะนี้ ให้เป็น ชโย และประกาศใช้ในวันที่ 1 มี.ค. 2456 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าก่อนนี้เพลงสรรเสริญพระบารมีได้ใช้เป็นเพลงชาติด้วย แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ใช้เป็นเพลงถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์

รวมใจไทย 100 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี