หนึ่ง ณรงค์วิทย์ (นัก)แต่งเพลงดี ไม่ใช่ทำเอาดัง
จัดให้เป็นนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์แห่งยุคนี้ สำหรับ “หนึ่งณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์”
โดย...นกขุนทอง ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข
จัดให้เป็นนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์แห่งยุคนี้ สำหรับ “หนึ่งณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์” ผลงานที่ส่งขึ้นชั้นนักแต่งเพลงของเมืองไทย รู้จักกันแพร่หลายคือ เพลงคอนเซปต์ “สลีปเลส โซไซตี้” (Sleepless Society) นับจากนั้นก็ฝากฝีมือให้กับนักร้องดังหลายคน
สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในตัวนักแต่งเพลงคนนี้ก็คือ มักถูกจริตกับเพลงที่มีคอนเซปต์ ดังนั้น เมื่อทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ให้แต่งเพลงประกอบละครและซีรีส์ “4 หัวใจแห่งขุนเขา” เพลงให้รักเดินทางมาเจอกัน เธอคือดวงใจของฉัน ครั้งนั้นก็ฮิตระเบิดระเบ้อทั้งละครทั้งเพลง ส่งชื่อของหนึ่ง ณรงค์วิทย์ เป็น “เจ้าพ่อแต่งเพลงละคร” ขึ้นมาทันที ล่าสุดเพลง “หน้าสวยใจเสีย” เพลงประกอบละครดัง “ทองเนื้อเก้า” ก็เป็นผลงานของชายคนนี้
แต่งเพลงไหนก็ดัง เหมาะเจาะกับละครไปเสียหมด ถูกใจผู้ชมผู้ฟังช่อง 3 จึงหยิบโอกาสให้หนึ่ง มาร่วมงานประจำเสียเลย ในตำแหน่ง “เอกเซกคลูซีฟ โปรดิวเซอร์” กาลนี้จึงโบกมือบ๊ายบายแกรมมี่บ้านเก่าที่อยู่มานาน 10 ปี งานนี้จากกันด้วยดีมาก
“มาดูแลเพลงละครเฉพาะเลยครับ คือ ทางช่อง 3 ก็ตั้งแผนกขึ้นมาใหม่ ผมเป็นเซ็นเตอร์กลางคอยแต่งเพลง คอยดูว่าเพลงแนวนี้จะต้องใช้กับละครแนวไหนได้บ้าง ดูการดาวน์โหลด ดูเรื่องลิขสิทธิ์ ช่วยเรื่องการโปรโมตเพลงด้วย ที่ตัดสินใจมาทำตรงนี้ เพราะส่วนตัวชอบทำงานให้ใช่ที่สุด เรื่องขายถ้ามันดีคนจะสนใจมันเอง อันนี้โจทย์ทำให้ดีเพื่อละคร ทางช่องพูดมาแบบนี้เราสนใจเลย ต่อมอาร์ติสต์ของเรายังทำงานได้กับที่นี้ ถ้ามุ่งแต่แต่งเพลงให้ดัง ให้ยอดดาวน์โหลดสูง เรากลายเป็นพ่อค้าไปแล้วไม่ใช่นักแต่งเพลง แต่โจทย์ที่เราทำกับเพลงละครความดังเป็นเรื่องรอง ไม่มีใครแต่งดังทุกเพลง ละครไม่ได้ขายเพลง แต่เราแต่งเพลงให้ละครเรื่องนั้นสมบูรณ์มากที่สุด ด้วยเงื่อนไขที่ช่อง 3 ให้ ทำให้เรายังเป็นนักแต่งเพลง เป็นอาร์ติสต์ได้”
ในขั้นตอนการทำงานไม่ได้ทำหรือจบที่ตัวเองคนเดียว ทว่าเนื้อเพลงไม่กี่บรรทัดนี้ต้องผ่านทั้งทางผู้จัดละคร ผู้กำกับ คนเขียนบทโทรทัศน์ เพื่อให้ได้ใจความเกี่ยวโยงกับละครมากที่สุด
“สำหรับแต่งเพลงประกอบละครจะมีบทมาไกด์ให้เรา เราอ่านเรื่องอ่านบทแล้วสัญชาตญาณจะบอกอัตโนมัติว่าละครแบบนี้ใช้เพลงแบบไหน ฉากนี้น่าใช้เพลงนี้ อาศัยที่เป็นคนดูละครมาก่อน เอาความรู้สึกของคนดูมาว่าฉากนี้ต้องการเพลงไหม เพลงแบบไหน อารมณ์คนดูกำลังจิกหมอนแล้วเขาอยากได้ยินเพลงอะไรในฉากนั้น แต่บางเรื่องเรื่องย่อเอาไม่อยู่ เราลงลึกไปกับตัวละครไปเรื่อย ก็ต้องอ่านทั้งบท หรือโทรคุยกับผู้กำกับ คุยเยอะเลยล่ะ เวลาอ่านเรื่องต้องมีคำถาม คิดเยอะว่าทำไมตัวละครนี้คิดแบบนี้ แชร์กันกับผู้กำกับ เพราะแต่ละเรื่องมีการตีความ ในเชิงของเพลงเราก็อยากให้มองไปในทางเดียวกัน อย่างเรื่องทองเนื้อเก้า ขับรถไปที่วัดเพื่อไปนั่งดูบรรยากาศ ไปนั่งคุยกับคนเขียนบทโทรทัศน์ ว่าเมสเซจที่ต้องการบอกคนดูคืออะไร การแต่งเพลงละครคือการย่อความ ย่อยังไงให้อยู่ในละครแล้วสมูตที่สุด ต้องทำการบ้านเยอะ”
อย่างไรก็ตาม ละครบางเรื่องถ้าเนื้อเรื่องและทางผู้จัดฯ ผู้กำกับ เห็นควรว่าต้องใช้เพลงที่มีอยู่แล้วก็สามารถซื้อลิขสิทธิ์มาใช้ได้ แม้กระทั่งนักร้อง นอกจากจะให้โอกาสนักแสดงขับร้องเองแล้วถ้ามีความเหมาะสม ก็ยังมีศิลปินคนอื่นๆ คอยเสริม เช่นเดียวกับการแต่งเพลง ทุกบทเพลงไม่ได้ออกมาจาก หนึ่ง ณรงค์วิทย์ เพียงผู้เดียว
“ปีหนึ่งละครเยอะมาก ลายมือหนึ่ง ณรงค์วิทย์ ไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง เราต้องควบคุมคุณภาพตัวเราอยู่แล้ว ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำ แบบนั้นคงไม่เกิดขึ้นแน่ อะไรที่เราไม่ถนัดเราต้องหาคนที่เหมาะสมกับงานให้เขาทำแทนเราดีกว่า เพียงแต่เราไกด์ว่าอยากให้มีเพลงประมาณนี้ นักแต่งเพลงแต่ละคนมีลายมือของตัวเอง และการทำงานกับผู้กำกับแต่ละคนก็ต้องการเพลงที่ต่างกัน”
ผลงานที่จะได้เห็นในเร็วๆ นี้ของหนึ่ง ณรงค์วิทย์ ในตำแหน่งใหม่ทางช่อง 3 คือ เพลง “ยิ่งใกล้ยิ่งใช่” ประกอบละคร “เวียงร้อยดาว” ที่มีกำหนดออกอากาศต้นปีหน้าและหลังจากนั้นอีกหลายเรื่องหลายรสเลยล่ะ