posttoday

ฟาร์มผักไฮโซของ ‘พัณณิดา เคียงศิริ’

21 ธันวาคม 2556

หากเอ่ยถึงตระกูล เคียงศิริ หลายคนคงจะนึกถึงหนึ่งในตระกูลนักธุรกิจของเมืองไทย

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หากเอ่ยถึงตระกูล เคียงศิริ หลายคนคงจะนึกถึงหนึ่งในตระกูลนักธุรกิจของเมืองไทย เป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่วมก่อตั้งบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายโค้ก ร่วมกับ สารสิน และ บุญสูง นอกจากนี้ยังเป็นราชาที่ดินครอบครองที่ดินในทำเลสำคัญของกรุงเทพฯ หลายแปลง และยังมีบริษัทพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคนในตระกูลเคียงศิริหลายบริษัท

บนที่ดินทำเลทองย่านอ่อนนุช หลายคนคงนึกถึงหนึ่งในทำเลยอดฮิตของโครงการคอนโดมิเนียมที่ราคาซื้อขายในเวลานี้พุ่งละลิ่วในหลักแสนบาทต่อตารางเมตร แต่ใครเลยจะคิดว่าที่ดินทำเลทองในย่านอ่อนนุชราคาตารางวาละ 2-3 แสนบาท จะมีใครนำมาทำฟาร์มผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ด้วยเนื้อที่ 5 ไร่ ภายใต้แบรนด์ “Super Fresh” โปรดอย่าได้แปลกใจ เพราะนี่คือหนึ่งในธุรกิจของลูกหลานตระกูลเคียงศิรินั่นเอง

“หลายคนได้ยินว่าหนึ่งในฟาร์มผักของ ‘Super Fresh’ อยู่ที่อ่อนนุช ก็ทักเสมอว่า ทำไมถึงเอาที่ดินทำเลทองมาปลูกผัก ทำไมไม่เอาไปพัฒนาโครงการจัดสรร ซึ่งในเวลานั้น คุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Super Fresh อาจไม่ได้มองเรื่องผลตอบแทนการลงทุนบนที่ดิน 1 แปลงเพียงอย่างเดียว แต่มองมากกว่านั้น” พัณณิดา เคียงศิริ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซีเค ไฮโดรฟาร์ม ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ ภายใต้แบรนด์ “Super Fresh” และทายาทคนโตของ “เกษมสันต์ เคียงศิริ” กล่าว

ฟาร์มผักไฮโซของ ‘พัณณิดา เคียงศิริ’

 

จุดเริ่มต้นของการนำที่ดินทำเลทองมาเป็นแปลงผักนั้น เริ่มเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เมื่อบิดาของเธอสนใจเรื่องเกี่ยวกับผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ และมองว่าเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจจากกระแสรักสุขภาพหรือกินอะไรแล้วไม่อ้วน ประกอบกับผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เป็นที่นิยมในเมืองนอก และเป็นผักนำเข้าที่ราคาแพงมาก

“ยุคนั้นคนไทยยังไม่รู้จักผักสลัดไฮโดรโปนิกส์และนิยมรับประทานสลัดจากผักกาดเขียวเป็นหลัก แต่เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้ประเทศไทยสามารถปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ได้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณพ่อสนใจมาก จึงได้เข้าอบรมที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”

เมื่อได้ศึกษาและอบรมอย่างจริงจัง จนในที่สุด “เกษมสันต์” ได้นำที่ดินย่านอ่อนนุชประมาณ 5 ไร่ มาทดลองปลูก 3 โต๊ะ ประมาณ 100 ต้น ใช้เวลา 45 วันต่อรอบการปลูก แล้วจึงเก็บผลผลิตได้ ก็เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก ตามรอบการปลูก 2-3 รอบ ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จึงเริ่มขยายและทำตลาดจริงจังด้วยการเสนอขายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตของศูนย์การค้าชั้นนำ โรงแรม และร้านอาหาร

ฟาร์มผักไฮโซของ ‘พัณณิดา เคียงศิริ’

 

ทายาทเคียงศิริ เล่าว่า การที่คุณพ่อนำที่ดิน 1 แปลงมาเริ่มต้นปลูกผัก คงมองมากกว่าแค่เรื่องอัตราผลตอบแทน เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ ได้นำเสนอผักสลัดคุณภาพดีให้กับผู้บริโภคคนไทย

หากคิดย้อนในสิ่งที่บิดาได้คิดแล้ว ต้องถือว่าทำเลอ่อนนุชก็เหมาะกับการเริ่มต้นในธุรกิจนี้ไม่น้อย เพราะเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับการขนส่ง ด้วยการที่ใกล้ซูเปอร์มาร์เก็ตของศูนย์การค้า ใกล้โรงแรม ร้านอาหารใจกลางเมือง ซึ่งมีความต้องการผักสลัดไฮโดรโปนิกส์มาก ทำให้จัดส่งผักสดได้เร็วและทันความต้องการ

แม้ว่า “เกษมสันต์” เป็นผู้เริ่มต้นแบรนด์ Super Fresh แต่ “พัณณิดา” ก็มีบทบาทมากในการเข้ามาสานต่อให้แบรนด์ Super Fresh เติบโตต่อไปได้ โดยได้ขยายการลงทุนเพิ่มจนปัจจุบันมีด้วยกัน 3 ฟาร์ม คือ อ่อนนุช พื้นที่ปลูกผัก 6,000 ตร.ม. ฟาร์มแปดริ้ว มีพื้นที่ปลูกผักรวม 1.2 หมื่น ตร.ม. และฟาร์มแห่งที่ 3 ปากช่อง ขยายมาแล้ว 3 เฟส รวมมีพื้นที่ 5.28 หมื่น ตร.ม. เตรียมจะเปิดเฟส 4 อีก 8 โรงเรือน รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

พัณณิดา กล่าวว่า แม้จะมีแผนขยายฟาร์มที่ปากช่องต่อเนื่อง แต่ฟาร์มที่อ่อนนุชก็จะยังเก็บไว้ และยังคงเป็นศูนย์กลางสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนจัดส่งไปยังพื้นที่เป้าหมาย ถึงแม้ว่าราคาที่ดินในบริเวณดังกล่าวมีการปรับตัวมาอยู่ตลอดจนกลายเป็นทำเลทองแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

ฟาร์มผักไฮโซของ ‘พัณณิดา เคียงศิริ’

 

เธอกล่าวว่า การได้เข้ามาสัมผัสธุรกิจผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ทุกอย่างเกิดได้จากการเรียนรู้ เพราะเดิมครอบครัวไม่มีใครมีความรู้เรื่องผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เลย แม้แต่ตัวเอง เรียนจบด้านบริหารธุรกิจมาก็ไม่มีความรู้ทางการเกษตรเลย แต่ก็สามารถเรียนรู้ได้จากการเข้าอบรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ต ไปดูงาน หากลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้

“ที่ผ่านมาคุณพ่อเพียงให้แนวทาง ให้เราไปขยายผล ถ้ามีปัญหาอะไรค่อยกลับมาปรึกษา แต่ให้คิดเอง ลุยเองก่อน ที่สำคัญคุณพ่อจะพูดเสมอว่า ทำดีแล้วก็ต้องทำดีต่อไป ทำดีให้มากขึ้นอีก ต้องไม่หยุดแค่นั้น

จนถึงวันนี้กว่า 10 ปีที่แบรนด์ Super Fresh อยู่ในตลาดผักสลัด เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ มียอดขายเฉพาะผักสดไม่รวมผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ประมาณปีละ 200 ล้านบาท เติบโต 10-20% ซึ่งนอกจากจำหน่ายผักสดและผักแปรรูปแล้ว ยังขายระบบการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ด้วย

การก้าวมาถึงจุดนี้ ทายาทคนโตของ Super Fresh กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมาก แต่กว่าจะมีวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการปลูกผักอาจดูเหมือนเป็นธุรกิจที่เรื่อยๆ มีช่วงที่ต้องรอผลผลิต จึงถือว่ามันได้มายาก แต่เมื่อได้มาแล้วก็ต้องขายให้หมด ขายให้เร็ว เริ่มทำงานแข่งกับเวลา คิดวันนี้ก็ต้องทำให้ทัน ต้องตื่นตัวตลอดเวลา จะช้าไม่ได้

แต่ถ้าพลาดไปแล้ว ไม่เป็นไร ให้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะไม่มีใครย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งที่ผ่านไปแล้วได้ ให้นำบทเรียนเมื่อวานมาเป็นประสบการณ์ในวันนี้ เพื่อก้าวที่มั่นคงขึ้นในวันพรุ่งนี้

ฟาร์มผักไฮโซของ ‘พัณณิดา เคียงศิริ’

 

เป้าหมายในอนาคต “พัณณิดา” มองว่า มีอีกหลายอย่างที่อยากทำ เช่น อยากนำผักสลัดขายเข้าร้านสะดวกซื้อ เพราะเป็นช่องทางใหญ่ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผักสลัดเป็นอิ่มเดียวภายใต้ราคาไม่เกิน 40 บาท เพื่อให้สะดวกซื้อจริงๆ จากปัจจุบันผักสลัดพร้อมทานของ Super Fresh จะอยู่ที่ 55-70 บาท

นอกจากนี้ ยังมีฝันที่จะเปิดตลาดส่งออกรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายอีกเช่นกันว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งออกผักสดพร้อมรับประทานถึงมือผู้บริโภคในแถบอาเซียนภายใต้คุณภาพที่ดีเช่นเดิม โดยตั้งเป้าภายใน 2 ปีจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้

ท้ายที่สุด ทายาท Super Fresh ทิ้งท้ายว่า อุปสรรคทุกอย่างคือความท้าทาย หากใครก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังเบื่อกับสิ่งที่ทำ ให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าคิดที่จะเบื่อ ให้มองสิ่งที่ต้องเผชิญหน้าเป็นความท้าทายและพยายามต่อสู้กับมัน

ความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และอย่าหยุดนิ่ง จะทำให้ประสบความสำเร็จได้