ประโยชน์ของความพอเพียง
ความต่อจากอาทิตย์ก่อน เรื่องของความพอเพียง หรือจะเรียกว่า “ความสันโดษ”
ความต่อจากอาทิตย์ก่อน เรื่องของความพอเพียง หรือจะเรียกว่า “ความสันโดษ”
ผู้ที่รู้จักความสันโดษ คือ ผู้ที่ยินดีด้วยปัจจัยของตน (สกํ) ยินดีด้วยปัจจัยที่มี อยู่ (สนฺตํ) ยินดีโดยสม่ำเสมอ (สมํ)
ผู้ยินดีด้วยปัจจัยของตน คือ ได้สิ่งใดมาโดยชอบ ไม่ว่าจะโดยการทำมาหากินหรือเป็นการได้โดยการจับสลากหรือลาภอย่างหนึ่งอย่างใด จะดีหรือไม่ดี ก็ยินดีในสิ่งนั้นอันเป็นของตน ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่นที่ได้ของดีกว่าตน และไม่โอ้อวดข่มผู้อื่น หากตนได้ดีกว่า ชีวิตจึงสบายด้วยความพอเพียง คือ พอใจในสิ่งที่ตนได้มา
ผู้ยินดีด้วยปัจจัยที่มีอยู่ หมายถึง สิ่งที่ตนได้มา หรือมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ เป็นปัจจัย 4 ใด ก็พอใจ ยินดีในสิ่งที่ตนมี ไม่ว่าจะเป็น บ้านเรือน พาหนะ ทรัพย์ บุตรภรรยา อย่างนี้จึงมีความสุข ถ้าไม่สันโดษได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ คือไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ว่าสิ่งที่ตนมีจะดีเพียงใดก็ไม่มีความสุขเพราะไม่พอใจต้องการให้มากขึ้นดีขึ้น ด้วยกิเลสตัณหา
ผู้ยินดีโดยสม่ำเสมอ คือ ไม่ว่าจะได้สิ่งดีหรือไม่ดี คือ ได้อิฏฐารมณ์ หรือ อนิฏฐารมณ์ (จิตกระทบกับอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่ดีหรือไม่ดี) ก็มีใจ สม่ำเสมอ คือ ยินดีในอารมณ์ทั้งปวงโดยความสม่ำเสมอกัน ผู้ที่มีจิตเช่นนี้ได้นับว่าต้องมีใจสูง ใจดี เหมือนกับพระสงฆ์ที่ท่านไม่ยินดีในบิณฑบาตเพราะเป็นของที่ได้มาโดยบริสุทธิ์
นับว่าผู้ที่มีความสันโดษในจิตใจ ย่อมมีความสุข เพราะจิตยินดีเป็นบุญกุศล พ้นจากการถูกความโลภ ความริษยา และความคับแค้นใจเบียดเบียน
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดง ความสันโดษ เป็นมงคลสูงสุด เป็น 1 ใน มงคล 38 ประการ ในอรรถกถาแสดงถึงประโยชน์ของความสันโดษไว้ดังนี้
- เป็นเหตุบรรลุการละบาปธรรม ทั้งหลาย มีความมักมาก ความมักใหญ่ และความปรารถนาลามก (ปรารถนาชั่ว) เป็นต้น
- เป็นเหตุแห่งสุคติ
- เป็นคุณอุดหนุนอริยมรรค
- เป็นเหตุแห่งความเจริญมีความ ไม่ขัดข้องในทิศทั้ง 4 โทษของความ ไม่สันโดษก็มีแสดงไว้ว่า เป็นเหตุแห่งความปรารถนาเกิน ความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุแห่งความปรารถนาลาภของชนอื่น
- ผู้ปรารถนาเกิน ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภจัด และเพราะความเมาด้วยสามารถแห่งความโลภจัดนั้น
เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว ความสันโดษ จึงนับเป็นคุณธรรมที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การดำรงชีวิตที่ดีงาม และก่อให้เกิดความสุขใจและสบายใจ รวมทั้งเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสด้วย ผู้ที่ไม่สันโดษย่อม ไม่มีความสุข เพราะถูกความปรารถนาเกินเบียดเบียน แม้สิ่งที่ตนได้ก็ไม่พอใจ ไม่ทำให้อิ่มได้ด้วยใจร้อนไปด้วยกิเลส
นอกจากนั้น ความเป็นผู้สันโดษ คือ รู้จักพอ รู้จักยินดีพอประมาณ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่น่ารัก น่าเคารพ เพราะเป็นผู้รู้ประมาณ คือ รับเอาแต่น้อย แต่พอดี แม้มีโอกาสที่จะรับได้มากก็รู้จักประมาณ จึงไม่เป็นผู้ที่ใครๆ จะติเตียนได้ กลับเป็น ผู้ที่น่าเคารพบูชา และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจแก่ใครๆ จึงเป็นผู้มีความสุขในทิศทั้ง 4 ไม่ก่อเวร และไม่เป็นผู้กระทบกระทั่ง
สิ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่ควรสันโดษ คือ การทำความดี การทำบุญกุศล “กุลบุตรไม่ควรทำความเป็นผู้สันโดษ ด้วยการยังกุศลให้เกิดขึ้น เพราะว่าบุคคลเมื่อทำบุญบ่อยๆ ย่อมบรรลุแม้ซึ่งสุขอันเป็นโลกุตระ...ผู้มีปัญญา ควรขจัดมลทินของตนทีละน้อยๆ ในขณะๆ โดยลำดับไป เหมือนช่างทองชำระสนิมแห่งเงินฉะนั้น”