เชียงราย 3 สี
ร้อนแล้ว...หลายคนก็กำลังวางแผนมุ่งไปทะเล แต่เราขอสวนทางขึ้นไปแอ่วเชียงรายดีกว่า
โดย...จีไอโจ
ร้อนแล้ว...หลายคนก็กำลังวางแผนมุ่งไปทะเล แต่เราขอสวนทางขึ้นไปแอ่วเชียงรายดีกว่า
เชียงรายร้อนจริง ยิ่งตอนกลางวัน พี่น้องเอ้ย เดินสวยๆ หล่อๆ ต้องมีแว่นกันแดดนะจ๊ะ หรือไม่ก็ควรหนีบร่มส่วนตัวไว้เป็นเกราะกำบังจะดีที่สุด
ไปเยือนเชียงรายหนนี้ มี 3 หมุดหมายให้แวะ เป็นแลนด์มาร์คสำคัญ เป็นโลโก้เด่นของเชียงราย เป็น 3 สถานที่ที่มีเอกลักษณ์เด่นตรงเรื่องสี
1.วัดร่องขุน
ขาวทุกอณู ถ้าเป็นสาวก็น่าจะเป็นสาวสไตล์หมวย แต่นี่เป็นวัด สีขาวทำให้ดูสว่างกระจ่างตา เมื่อแดดร้อนๆ แผดเผา เจอสีขาวเข้าก็ช่วยให้ใจร่มได้ไม่ยาก
ความหมายสีขาวของอุโบสถขนาดใหญ่ที่ผู้ออกแบบและสร้าง “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรมงามวิจิตร นั่นก็เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง “พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า” อันสะอาดปราศจากสิ่งมัวหมอง
ทางเดินสู่ตัวอุโบสถเป็นสะพาน เสมือนการเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ ระหว่างทางก็มีงานศิลปะแฝงนัยสำคัญ ให้ต้องตีความกันอย่างลุ่มลึก
เขี้ยว หรือปากพญามาร คือกิเลสในใจที่มีอยู่ในทุกคน หลุดพ้นได้ก็ชนะเลิศ สันของสะพานมีอสูรอมกัน 2 ข้าง ข้างละ 8 ตัว สื่อแทนอุปกิเลส 16 กึ่งกลางสะพานจำลองเป็นรูปเขาพระสุเมรุ
นอกจากนี้ ยังมีดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ อยู่ด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
ขณะที่ความหมายของบันไดทางขึ้น ซึ่งมี 3 ขั้น ก็เปรียบดั่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ฉะนั้น การไปเยือนวัดร่องขุน ก็อย่าจดจ่อมัวแต่โพสท่าถ่ายรูป ควรเปิดตาแล้วจะมองเห็นธรรมที่ซ่อนเร้นอยู่ในแต่ละทุกอณู ทะลุไปสู่กลางหัวใจ
(ตั้งอยู่ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง โทร. 053-673-579)
2.บ้านดำ
ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของศิลปินแห่งชาติ “อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี” รวมไว้ซึ่งงานศิลปะพื้นบ้านที่เจ้าของสะสม โชว์ภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบกาแล รวมกว่า 30 หลัง แน่นอน ทุกหลังถูกทาด้วยสีดำ ตั้งสง่าและดูน่าเกรงขาม
ที่สวยจับใจ คือ ทุกหลังสลักเสลาขึ้นจากงานศิลปะหลายแขนง ประดับเขาควาย เขากวาง โครงกระดูกสัตว์ หนังงูเหลือม หวิวๆ ชวนขนลุก เป็นการวัดใจและนำไปสู่การตีความปริศนาธรรม
แดดยามบ่ายร้อน ทว่าพอก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณบ้านดำ กลับรู้สึกร่มรื่นด้วยแมกไม้ ถ้าร้อนเกินกว่าจะเดินทอดน่อง ก็แนะนำให้แวะพักที่อาคารสถาปัตยกรรม ลืมบอกไปว่า บางหลังปิดห้ามเข้า เข้าชมได้เฉพาะบางหลัง หนึ่งในนั้นคือหลังใหญ่ด้านหน้าที่คอยรับแขกไปใครมา รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหมุนเวียน
หลังอื่นๆ ที่เหลือ ทำได้แค่ชะโงกมองผ่านกระจก หรือยืนชื่นชมผลงานศิลปะอยู่ห่างๆ ไม่มีสิทธิชิดใกล้ ว่าไปบางทีการชมงานอยู่ห่างๆ ก็ดีอย่างคือ ทำให้เห็นถึงภาพกว้างๆ สำรวจได้มากกว่าใช้สายตาจับจ้อง ไม่ต่างกับชีวิตคนนัก เมื่อลองถอยออกมายื่นห่างบ้าง อะไรที่คาดไม่ถึงก็จะปรากฏ
ถ้าไปตอนเย็นๆ ที่นี่ก็เหมาะที่จะเดินทำสมาธิ เปลือยเท้าแล้วเดินไปตามทางที่แลดูคดเคี้ยวไม่ได้เชื่อมกันทุกจุด สลับไขว้กัน ก้อนหิน คอนกรีต ดินทราย เวลาสัมผัสกับเท้า รู้เลยว่าให้ความรู้สึกที่ต่างกัน
(ตั้งอยู่ ต.นางแล อ.เมือง โทร. 053-705-834)
3.บ้านดอยดินแดง
ด้วยว่าเดิมทีนั้นถนนที่เข้าไปสู่บ้านหลังนี้เป็นถนนลูกรัง แดงทั้งเส้น ฝุ่นตลบ รวมทั้งดินที่นี่ยังมีสีแดง นั่นจึงเป็นที่มาของดอยดินแดง ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ถนนไม่มีฝุ่น แต่ชื่อยังเป็นที่จดจำและขลังไม่เลือน
เลี้ยวรถเข้าไปก็จะเจอบ้านที่หลังไม่ใหญ่แต่น่าอยู่ ปลูกอย่างมีสไตล์ ที่สำคัญคือ สร้างด้วยดิน สีอุ่นๆ สบายตา มองรอบๆ ก็จะเห็นงานเซรามิกวางตามทางเดิน จิบน้ำจิบท่าก่อนเดินชม ร้านกาแฟเก๋ๆ นั่งชิลได้นานเท่าที่อยากนั่ง
ที่นี่อวดโฉมให้ผู้คนได้รู้จักในฐานะแหล่งผลิตเซรามิกคุณภาพเยี่ยม ปั้นดินตามสไตล์ญี่ปุ่นที่เจ้าของ “อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ” ไปฝึกวิชามาแล้วถ่ายทอดเป็นชิ้นงานศิลปะสำหรับการใช้สอย
ชุดชาและกาแฟ จาน ชาม ช้อน แจกัน กระถาง และอื่นๆ อีกหลายประเภท สรรค์สร้างขึ้นภายใต้กรอบที่ว่า “ชีวิตที่เดินคู่ขนานไปกับธรรมชาติ” กลมกลืนกันอย่างลงตัว
สีสันของเซรามิกกับรูปแบบงานที่ถูกปั้นออกมาแต่ละชิ้นเป็นประจักษ์พยาน แม้จะชื่อดอยดินแดง แต่ก็ไม่เน้นและนิยมใช้สีจัดจ้าน ทุกอย่างและทุกชิ้นล้วนแต่อิงธรรมชาติ
(ตั้งอยู่ ต.นางแล อ.เมือง โทร. 053-705-291)