posttoday

ทำความรู้จักเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย

12 เมษายน 2557

สหพันธรัฐมาเลเซีย เกิดจากการรวมตัวของรัฐน้อยใหญ่นับสิบรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็มีความแตกต่าง

สหพันธรัฐมาเลเซีย เกิดจากการรวมตัวของรัฐน้อยใหญ่นับสิบรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็มีความแตกต่างทางชนชาติและวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงชาวมาเลเซีย คงไม่ได้หมายถึงแค่ชาวมลายู ที่มีหน้าตาคล้ายกับคนไทยในภาคใต้ หรือคนหน้าตาแบบจีนที่เราเห็นอยู่ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าในกัวลาลัมเปอร์ อันที่จริงแล้วชาวมาเลเซียนั้น ประกอบด้วยหลายชนชาติ แต่ชนชาติใหญ่ๆ ก็คือ ชาวมลายู ชาวมาเลย์เชื้อสายจีน และชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย

สังคมในประเทศมาเลเซียนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งสังคมชนชั้น ทั้งนี้ ก็มาจากนโยบาย “ภูมิบุตร” ซึ่งนโยบายนี้เอื้อและสนับสนุนให้กับชนชาวพื้นเมืองที่เป็นชาวมลายู มีสถานะทางสังคมที่ทัดเทียมกับเชื้อสายอื่นๆ ในประเทศนี้ เช่น เปิดโอกาสให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เป็นกรณีพิเศษ เปิดโอกาสให้เข้ารับราชการได้มากกว่าปกติ และเปิดโอกาสให้สามารถทำสัญญากับบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ

ทำความรู้จักเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย

 

นโยบายภูมิบุตรเคยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและกระจายความเจริญไปอย่างทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม ผลของนโยบายนี้กลับทำให้คนเชื้อสายมาเลย์ส่วนใหญ่อ่อนแอเพราะต้องพึ่งพารัฐ ขณะที่คนเชื้อสายจีนถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ต้องปรับตัว ประกอบกับความสามารถในการปรับตัว ก็ได้ทำให้ธุรกิจของพวกเขามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

เพราะชาวจีนนั้น ขึ้นชื่อว่ามีความขยันขันแข็งอยู่ในสายเลือด ดังนั้น ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็มักจะทำมาค้าขายเป็นหลัก ซึ่งก็รวมทั้งชาวจีนเชื้อสายมาเลย์ที่อาศัยอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ก็เช่นกัน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดกิจการค้าขาย ทั้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันนี้บรรดาลูกจ้างและพนักงานขายของในร้าน ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากแรงงานข้ามชาติ

ทำความรู้จักเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย

 

บรรพบุรุษของชาวจีนมาเลย์ เข้ามาตั้งรกรากและทำมาหากินในประเทศนี้หลายสิบปีแล้ว ซึ่งพวกเขาไม่ถูกนับรวมเป็นชนชั้นภูมิบุตร มีจำนวนรวมกันไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ หากแต่ว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

นอกเหนือจากชาวมลายูและชาวมาเลย์เชื้อสายจีนแล้ว ชาวมาเลเชื้อสายอินเดียก็ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชนสำคัญ ที่มีเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่เด่นชัด โดยในกัวลาลัมเปอร์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่ Little India ในย่าน Brickfield ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีรถไฟ ในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครองที่นี่ โดยมีการนำเอาชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศศรีลังกาเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างสถานีรถไฟ ภายหลังต่อมาก็ได้ลงหลักปักฐาน จนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียมาถึงปัจจุบัน

ทำความรู้จักเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย

 

ชื่อ Brickfield มาจากการที่ย่านนี้เคยเป็นแหล่งผลิตอิฐบล็อกที่สำคัญของมาเลเซีย เมื่อครั้งที่อังกฤษต้องการสร้างบ้านเรือนให้แข็งแรงและทนทานต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งเมืองนี้ยังเคยเป็นพื้นที่หลักในการก่อสร้างสถานีรถไฟ ในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง ซึ่งแรงงานชาวอินเดียส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬที่ถูกเกณฑ์มาตั้งแต่ยุคนั้น ถึงแม้จะมีสัดส่วนไม่ถึง 10% แต่ก็ถือเป็นชนชาติหลักที่มีจำนวนรองจากชาวมลายูและชาวจีน แต่ก็ยังถือเป็นชนชาติรองในสังคมมาเลเซีย

นโยบายภูมิบุตรของรัฐบาลมาเลเซีย อาจต้องถึงจุดปรับปรุงในเร็ววันนี้ เพราะถึงแม้ว่าจะกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มภูมิบุตร แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับชนชาติอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งคนเชื้อสายจีนและอินเดียรุ่นใหม่ๆ ก็เกิดและเติบโตในประเทศนี้ ซึ่งพวกเขาก็ย่อมถือว่าเป็นลูกหลานของแผ่นดินนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกนโยบายนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนโยบายภูมิบุตรเป็นเสมือนโครงการประชานิยม ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เสพติดกับประโยชน์และสิทธิพิเศษมาเป็นเวลานานหลายสิบปี อีกทั้งการจะทำให้ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2020 รัฐบาลยังจำเป็นจะต้องสนับสนุนและเกื้อหนุนนโยบายนี้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด อย่าลืมติดตามชมเนื้อหาและภาพสวยๆ ได้ในรายการโลก 360 องศา ทุกวันเสาร์ 3 ทุ่มครึ่ง ทาง ททบ.5